ตรวจพบ! สารตะกั่วปนเปื้อนในช็อกโกแลต ปริมาณมากเท่าใด อันตรายจริงหรือไม่?

ตรวจพบ! สารตะกั่วปนเปื้อนในช็อกโกแลต ปริมาณมากเท่าใด อันตรายจริงหรือไม่?

ตรวจพบช็อกโกแลตหลายแบรนด์ดัง มีสารตะกั่วและแคดเมียมปนเปื้อนอยู่ วันนี้แอดมินจะพามาดูกันว่าโลหะหนักที่ปนเปื้อนมาในช็อกโกแลตมีปริมาณมากน้อยเท่าใด และเป็นอันตรายต่อร่างกายจริงหรือ

เคยได้ยินข่าวหน่วยงานด้านอาหารหลายแห่งทั้งไทยและต่างประเทศ ตรวจสอบพบช็อกโกแลตยี่ห้อดังหลายยี่ห้อมีสารตะกั่วและแคดเมียมปนเปื้อนอยู่ ซึ่งประเด็นนี้จริง ๆ ก็มีมานานแล้วนะคะ แต่เมื่อกระแสช็อกโกแลตปนเปื้อนสารตะกั่วกลับมาอีกครั้ง [อ่านข่าว : สุ่มตรวจช็อกโกแลต พบสารปนเปื้อนตะกั่ว แต่ยังไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน] ก็ทำให้หลายคนตกใจว่า ช็อกโกแลตที่วางจำหน่ายโดยทั่วไปเหล่านี้ยังจะทานได้อยู่ไหม เอาเป็นว่าเรามีข้อมูลมาให้เช็กค่ะ สรุปแล้วช็อกโกแลตอันตรายจริงหรือไม่ มาหาคำตอบกันเลย

ต้องบอกก่อนว่า การที่มีโลหะหนักอย่างสารตะกั่วหรือแคดเมียมปะปนอยู่ในอาหาร เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยากมากค่ะ เนื่องจากโลหะหนักเหล่านี้มักจะแฝงมากับสิ่งแวดล้อม ไม่ได้เป็นการปนเปื้อนในส่วนของกระบวนการบรรจุหีบห่อ ยกตัวอย่างเช่น กรณีที่พบสารตะกั่วและแคดเมียมปนเปื้อนในช็อกโกแลต ก็คาดว่าอาจมีสาเหตุมาจากดิน น้ำ หรือปุ๋ย ที่ใช้ปลูกต้นโกโก้ (ส่วนประกอบหลักในช็อกโกแลต) ซึ่งพบว่ามีการปนเปื้อนของโลหะหนักดังกล่าว เช่นเดียวกันกับการพบสารโลหะหนักในอาหารประเภทอื่น ๆ เช่น อาหารทะเล เนื้อสัตว์ น้ำแร่ธรรมชาติ อาหารบรรจุกระป๋อง หรือเครื่องดื่มและอาหารเหลว ที่มีการปนเปื้อนของโลหะหนักจากสิ่งแวดล้อมของแหล่งวัตถุดิบเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้จึงมีการกำหนดมาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ซึ่งกำหนดความหมายของสารปนเปื้อนไว้ว่า สารปนเปื้อน คือสารที่ปนเปื้อนกับอาหารซึ่งเกิดจากกระบวนการผลิต กรรมวิธีการผลิต โรงงานหรือสถานที่ผลิต การดูแลรักษา การบรรจุ การขนส่งหรือการเก็บรักษา หรือเกิดเนื่องจากการปนเปื้อนจากสิ่งแวดล้อม โดยกำหนดให้มาตรฐานสารปนเปื้อนประเภทโลหะหนักชนิดตะกั่วต้องไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม เว้นแต่อาหารที่มีสารตะกั่วปนเปื้อนตามธรรมชาติในปริมาณสูง ให้มีได้ตามที่ได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา

(อ่านมาตรฐานสารปนเปื้อนอื่น ๆ ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 98 พ.ศ. 2529 ได้ที่ การกำหนดมาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อน)

จากประกาศฉบับนี้ จะเห็นได้ว่า ปริมาณสารตะกั่วที่ปนเปื้อนอยู่ในช็อกโกแลตที่ถูกสุ่มตรวจยังอยู่ในเกณฑ์ที่ไม่เกินมาตรฐานตามข้อบังคับของคณะกรรมการอาหารและยา อีกทั้งยังต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานของคณะกรรมการอาหารและยาประเทศสหรัฐอเมริกา (FDA) ด้วยเช่นกัน แต่หากนำเอามาตรฐานนี้ไปเทียบกับกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนียแล้วละก็ แน่นอนว่าปริมาณสารตะกั่วในช็อกโกแลตเหล่านี้เกินมาตรฐานที่เขากำหนดไว้แน่นอน เนื่องจากกฎหมายด้านอาหารของรัฐแคลิฟอร์เนียจะเข้มงวดมากกว่าพื้นที่อื่น ๆ

ดังนั้นก็สรุปได้ว่า การพบสารโลหะหนักในช็อกโกแลตที่ปรากฏให้เห็นเป็นข่าว เป็นเรื่องที่ไม่น่ากังวลเท่าไร เพราะยังไงปริมาณสารปนเปื้อนที่พบก็ยังต่ำกว่าเกณฑ์ที่คณะกรรมการอาหารและยาบ้านเรา และคณะกรรมการอาหารและยากลางกำหนดอยู่นั่นเอง ทว่าหากจะให้ปลอดภัยต่อสุขภาพจริง ๆ ก็อย่ากินช็อกโกแลตในปริมาณมาก เช่น กินช็อกโกแลตทุกวัน กินโกโก้ทุกวัน เป็นต้น ซึ่งนอกจากจะเสี่ยงสารปนเปื้อนในช็อกโกแลตแล้ว ยังเสี่ยงต่อโรคอ้วน ฟันผุ และเป็นการสิ้นเปลืองเงินโดยใช่เหตุด้วยนะคะ

เอาเป็นว่าก็พยายามกินอาหารให้หลากหลาย เน้นกินผัก ผลไม้ และอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย รวมทั้งหมั่นออกกำลังกายอยู่เป็นประจำ เพื่อลดความเสี่ยงโรคภัยต่าง ๆ ก็แล้วกันค่ะ

ขอขอบคุณ : สถาบันอาหาร, สำนักอาหาร สำนักกรรมการอาหารและยา