ไขข้อข้องใจ “ดื่มชาเย็น” เป็นประจำเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดในสมองตีบจริงหรือไม่?

ไขข้อข้องใจ “ดื่มชาเย็น” เป็นประจำเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดในสมองตีบจริงหรือไม่?

ไขข้อข้องใจ “ดื่มชาเย็น” เป็นประจำเสี่ยงต่อโรคเหล่านี้หรือไม่ เส้นเลือดตีบตันถึงขั้นเป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต ดื่มแล้วจะอ้วนหรือไม่ วันนี้มีคำตอบ

ทำเอาคนติดชาเย็นสะดุ้งเลย เมื่อมีการแชร์ข้อความเตือนต่อ ๆ กันว่า ถ้าดื่มชาเย็นหรือกินน้ำแข็งเป็นประจำ จะทำให้เส้นเลือดหนืด เลือดข้น จนเส้นเลือดในสมองตีบซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอัมพฤกษ์-อัมพาต ฟังดูน่ากลัวแต่เรื่องนี้ชัวร์หรือมั่ว ?

ดื่มชาเย็นทุกวัน อันตรายถึงขั้นเส้นเลือดสมองตีบจริงหรือ ?

เกี่ยวกับประเด็นนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ชี้แจงว่า จริง ๆ แล้วการดื่มน้ำเย็น แม้กระทั่งชาเย็น ก็ไม่ได้ทำให้เลือดหนืด เลือดข้น เส้นเลือดในสมองตีบอย่างที่แชร์กันเลยนะคะ เพราะเมื่อน้ำเย็น น้ำแข็ง ชาเย็น เข้าสู่ร่างกาย อาหารเหล่านี้ก็จะถูกปรับอุณหภูมิอย่างรวดเร็ว ให้มีอุณหภูมิพอ ๆ กับอุณหภูมิปกติของร่างกาย คือประมาณ 37-38 องศาเซลเซียสอยู่แล้ว ดังนั้น การดื่มน้ำเย็น ๆ จึงไม่เกี่ยวข้องกับอาการเลือดข้น หรือเส้นเลือดในสมองตีบจนทำให้เป็นอัมพฤกษ์ อัมพาต แต่อย่างใด

ดื่มชาเย็นอ้วนไหม จะเป็นอันตรายอะไรหรือเปล่า ?

ถึงแม้ชาเย็นจะไม่ได้เป็นตัวการก่อโรคอัมพฤกษ์ อัมพาต แต่คนชอบดื่มชาเย็นก็อย่าเพิ่งดีใจ สั่งมาดื่มวันละ 2-3 แก้วเชียว เพราะถ้าดื่มมาก ๆ ก็เตรียมรับมือกับความอ้วนได้เลย หรือถ้าคิดจะดื่มชาเขียวเย็น โกโก้เย็น กาแฟเย็น นมเย็น ชามะนาว น้ำแดงมะนาวโซดา ฯลฯ แทนชาเย็น ผลลัพธ์ก็ไม่ต่างกัน เพราะเครื่องดื่มแก้วโปรดเหล่านี้ใส่น้ำตาลลงไปไม่น้อยเลย แถมบางแก้วยังใส่นมข้นหวานอีกต่างหาก รู้ไหมแต่ละแก้วนี่ให้พลังงานสูงปรี๊ด

– เครื่องดื่มแก้วโปรดเมนูฮิต รู้หรือยังว่ามีน้ำตาลซ่อนอยู่มากขนาดนี้

ถ้าดื่มเป็นประจำแล้วไม่ออกกำลังกาย นอกจากจะเสี่ยงโรคอ้วนแล้ว ความอ้วนยังเป็นปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่โรคต่าง ๆ อย่างเช่น ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคเบาหวานได้อีกนะคะ

– 8 โรคร้ายที่คนอ้วนเสี่ยงตาย อันตรายจากน้ำหนักเกิน !

นอกจากนี้ เวลาดื่มเครื่องดื่มเย็น ๆ ก็ต้องใส่น้ำแข็ง ซึ่งบางครั้งน้ำแข็งไม่สะอาด กินเข้าไปก็ทำให้ท้องเสียหรืออาหารเป็นพิษได้อีก ดังนั้น คนชอบดื่มเครื่องดื่มเย็น ๆ ต้องระมัดระวังในการเลือกดื่มให้ดีเลย

ขอขอบคุณ : สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา