ความหมายของ “พิธีรดน้ำศพ” สิ่งสุดท้ายที่ทำได้ก่อนลาจาก…

พิธีกรรมการอาบน้ำศพมีมาแต่ช้านาน หากพวกเราบางคนหาได้รู้ไม่ว่า ทำไมจึงต้องมีพิธีการรดน้ำศพ จริงๆ แล้วพิธีกรรมนี้เริ่มต้นมาจากไหน มีขึ้นเพื่อจุดประสงค์อะไร วันนี้เรามีบทความดีๆ เกี่ยวกับความหมายของพิธีรดน้ำศพมาให้อ่านเพื่อเป็นความรู้

การอาบนํ้าศพ เป็นธรรมเนียมอย่างหนึ่งในพิธีทำศพ ซึ่งจะทำกันก่อนนำศพใส่โลง เหตุที่ต้องมี การอาบนํ้าศพ เพราะต้องการให้ร่างกายของคนตายสะอาดบริสุทธิ์ เช่นเดียวกับ พวกพราหมณ์ ในอินเดีย ลงอาบนํ้าชำระบาปในแม่นํ้า

ในสมัยโบราณ การอาบนํ้าศพ จะทำการอาบกันจริงๆ คือต้มนํ้าด้วยหม้อดิน ซึ่งในหม้อ อาจใส่ใบไม้ต่างๆ ต้มลงไปด้วยเช่น ใบหนาด ใบส้มป่อย ใบมะขาม ใบหนาดนั้นถือกันว่า เป็นใบไม้ที่ผีกลัวและใช้ปัดรังควานได้ การอาบนํ้าศพ จะอาบด้วยนํ้าอุ่นก่อน แล้วจึงอาบด้วยนํ้าเย็น อีกครั้ง ฟอกด้วยส้มมะกรูด เมื่อล้างจนสะอาดหมดจดแล้ว จึงฟอกด้วยขมิ้นชันสด และผิวมะกรูดตำละเอียด ต่อจากนั้นจึงทำการแต่งตัวให้ศพ

แต่การอาบนํ้าในปัจจุบัน เรียกว่า พิธีรดนํ้าศพ คือใช้นํ้าพุทธมนต์ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่านํ้ามนต์ ผสมกับนํ้าฝนหรือนํ้าสะอาด บางทีใช้นํ้าอบไทยร่วมด้วยเพื่อให้เกิดความหอม เมื่อถึงเวลาอาบนํ้าศพ ซึ่งจะทำกันหลังจากที่คนป่วยตายไม่นานนัก เพราะศพยังสดอยู่ ญาติมิตรและผู้คนทั่วไปยังกล้าเข้าใกล้ สัปเหร่อหรือผู้ใหญ่จะจัดให้ศพนอนในที่อันสมควร จับมือข้างหนึ่งยื่นออกมายังหมอนใบเล็กที่รองรับ
ลูกหลานของผู้ตาย จะทำหน้าที่ใช้ขันใบเล็กๆ ตักนํ้ามนต์จากขันใบใหญ่ ส่งให้กับผู้ที่มา ทำการรดนํ้าศพ โดยการเทนํ้าลงมือของผู้ตาย กล่าวคำไว้อาลัย หรือกล่าวขอให้วิญญาณของผู้ตาย จงไปสู่สุคติ ไม่ต้องห่วงอาลัยมีกังวล

ปริศนาธรรมในการทำพิธีรดนํ้าศพ

การรดนํ้าศพเป็นปริศนาธรรม ให้เห็นว่า คนเราเมื่อตายไปแล้ว แม้นำของหอมหรือนํ้าอบ นํ้ามนต์ใดๆ มารด ก็ไม่อาจที่จะฟื้นคืนชีพมาได้ ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ไม่ควรประมาท ควรเร่งขวนขวาย สร้างกุศล และคุณงามความดีไว้ เพราะท่านยังมีโอกาสได้กระทำ ส่วนคนที่ตายไปแล้วนั้น หมดโอกาสแล้ว

การแต่งตัวให้ศพ การหวีผมให้ศพและปริศนาธรรม

เมื่อทำพิธีอาบนํ้าศพเรียบร้อยแล้ว ต้องจัดการแต่งตัว หวีผมศพให้เรียบร้อย เกี่ยวกับ การหวีผมให้ศพนั้น มีคติความเชื่อเป็นหลายนัย บ้างให้หวีสามหนเท่านั้น บ้างก็ว่าให้หวีกลับไป ข้างหน้าซีกหนึ่ง หวีไปข้างหลังซีกหนึ่ง หมายถึงการหวีสำหรับคนตายครึ่งหนึ่ง สำหรับคนเป็นครึ่งหนึ่ง
หลังจากหวีผมเสร็จ จะต้องหักหวีที่ใช้ทิ้งหรือโยนใส่ไปในโลงศพ ตอนหักหวีให้กล่าวคำเป็นภาษาบาลีว่า “อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา” เป็นปริศนาธรรม หมายถึงความไม่เที่ยงแห่งสังขาร แม้หวีดีๆ ก็ยังต้องหักเป็นท่อน ใช้การไม่ได้ในวันหนึ่ง ชีวิตของมนุษย์เราก็เช่นกัน

การนุ่งผ้าให้ศพ

เมื่ออาบนํ้า หวีผม ให้ศพเสร็จแล้ว ต่อไปก็เป็นการนุ่งผ้าแต่งตัวให้ศพ ซึ่งจะกระทำไม่เหมือนการแต่งตัว ของคนเป็น คือ

๑. ให้ใช้ผ้าขาวนุ่งในชั้นแรก เอาชายพกไว้ข้างหลังแล้วนำเสื้อขาวมาสวมให้ โดยเอารังดุมไว้ข้างหลัง ให้ต่างกับการใส่เสื้อของคนเป็น แล้วเย็บเนาเป็นตะเข็บลงมาหาเอวทั้ง ๒ ข้าง ให้ห่มผ้าเฉียง จากขวามาซ้าย

๒. เสร็จแล้วจึงนำเสื้อผ้าใหม่อีกชุดหนึ่ง มาสวมใส่ทับข้างนอกอย่างที่คนธรรมดาใส่กันทั่วไปตามปกติ

ปริศนาการนุ่งผ้าให้ศพ

การแต่งตัวนุ่งห่มให้ศพของคนโบราณนี้ เป็นปริศนาธรรมให้เห็นว่า คนเราเกิดด้วยทิฏฐิ ตายด้วยทิฏฐิ อวิชชาปิดหน้าปิดหลัง การนุ่งห่มอย่างแรกหรือชั้นแรกที่อยู่ข้างใน หมายถึงความตาย การนุ่งห่มชั้นนอก หมายถึงการเกิด อันคนเรามีเกิดแล้วมีดับวนเวียนอยู่ในสังสารวัฎ

ในปัจจุบัน ไม่ค่อยได้มีพิธีอาบนํ้าศพ แต่งตัวและนุ่งผ้าศพอย่างสมัยโบราณกันแล้ว คงมีแต่การรดนํ้าศพ ที่มือดังกล่าวมาแล้ว ส่วนเสื้อผ้านั้นนิยมสวมใส่ชุดใหม่ให้ศพ

การทำศพของคนโบราณ มีปริศนาธรรมอยู่ทุกขั้นตอน ตั้งแต่เริ่มรดนํ้าศพ ไปจนถึงตอนเผา ประเพณีที่ปฏิบัติเกี่ยวกับ การทำศพอีก ๒ อย่างที่ยึดถือกันมา คือ การตำหมากใส่ปากศพและ การนำเงินใส่ปากศพ

การตำหมากใส่ปากศพ

เมื่อทำพิธีอาบนํ้าแต่งตัวและรดนํ้าศพเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้ตำหมากใส่ปากศพ ๑ คำ หรือถ้าคนตาย ยังมีฟันอยู่ ก็ใช้หมากเจียนใส่พลูเป็นคำๆ ใส่ปากศพ เป็นปริศนาธรรมว่า แม้หมากพลูที่คนตาย เคยชอบนักหนา เมื่อตายไปแล้วก็ไม่สามารถเคี้ยวกินได้ ขนาดตำป้อนให้แล้ว ก็ยังไม่ยังไม่รู้จักเคี้ยว ไม่รู้จักคาย หรือแม้แต่ทรัพย์สมบัติทั้งหลาย ตายไปก็ไม่มีใครสามารถนำติดตัวไปได้ นอกจากบุญกุศล และคุณงามความดีที่สร้างไว้เท่านั้นที่จะติดตัวไป

การนำเงินใส่ปากศพ

การนำเงินใส่ปากศพ มีคติที่มาหลายอย่าง บ้างว่าเป็นปริศนาธรรมเช่นเดียวกับการตำหมากใส่ปากศพ คือ ตายแล้วไม่สามารถเอาทรัพย์สินอะไรติดตัวไปได้ แม้เงินที่อมไว้ในปากสัปเหร่อก็ล้วงเอาไปเสีย อีกนัยหนึ่งบอกว่าคนโบราณเอาเงินใส่ปากศพ เพื่อให้สัปเหร่อเป็นค่าจ้างเผา บางคติว่าเงิน ที่ใส่ปากศพนั้น สำหรับให้วิญญาณของคนตายใช้เป็นค่าเดินทางหรือค่าจ้างสำหรับคนพายเรือ ที่ทำหน้าที่พาดวงวิญญาณของผู้ตายข้ามแม่นํ้าไปสู่ดินแดนของคนตายหรือโลกของวิญญาณ

การปิดหน้าศพ

ในสมัยโบราณ การทำศพบางแห่ง จะมีการปิดหน้าศพด้วยขี้ผึ้งหน้าประมาณ ครึ่งนิ้ว กว้างพอปิดหน้าศพ ได้พอดี บางทีปิดเฉพาะดวงตา และปากเท่านั้น หรือใช้ผ้าปิดแทน ทั้งนี้เพื่อป้องกัน ภาพอุจาดตา และป้องกันไม่ให้แมลงมาวางไข่

การไปรดน้ำศพ

๑. แต่งกายไว้ทุกข์ตามความนิยมของสังคมท้องถิ่นนั้น ๆ

๒. การรดน้ำศพถือสืบกันมาว่า ไปขอขมาโทษ เพื่อจะได้ไม่มีเวรภัยต่อกัน

๓. นิยมรดเฉพาะท่านผู้มีอายุสูงกว่า หรือรุ่นราวคราวเดียวกันเท่านั้น

๔. ผู้มีอายุมากกว่าผู้ตาม ก็ไปร่วมงานให้กำลังใจเจ้าภาพ แต่ไม่นิยมรดน้ำศพ

วิธีปฏิบัติการรดน้ำศพคฤหัสถ์

๑. ถ้าอาวุโสมากกว่าตน ก่อนรดน้ำศพ นิยมนั่งคุกเข่าน้อมตัวลง ยกมือไหว้ พร้อมกับนึกขอขมาโทษต่อศพนั้นว่า “หากได้ล่วงเกินท่าน ทั้งทางกาย วาจา ใจ ก็ดี ขอท่านโปรดอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”

๒. เมื่อยกมือไหว้ขอขมาแล้ว ถือภาชนะสำหรับรดน้ำด้วยมือทั้งสอง เทน้ำลงที่ฝ่ามือขวาของศพ
พร้อมกับนึกในใจว่า “ร่างกายที่ตามแล้วนี้ ย่อมเป็นอโหสิกรรมไม่มีโทษ เหมือนน้ำที่รดแล้วฉะนั้น”

๓. เมื่อรดน้ำศพเสร็จแล้ว นิยมน้อมตัวลงไหว้พร้อมกับอธิฐานว่า “ขอจงไปสู่สุคติเถิด”

วิธีปฏิบัติการรดน้ำศพพระสงฆ์

๑. นั่งคุกเข่าตามเพศกราบเบญจางคประดิษฐ์ ๓ ครั้ง พร้อมกับนึกขอขมาโทษว่า “หากได้ล่วงเกินท่าน ทั้งทางกาย วาจา ใจ ก็ดี ขอท่านโปรดอโหสิกรรมให้แก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”

๒. เมื่อขอขมาโทษเสร็จแล้ว พึงถือภาชนะด้วยทั้งสองเทน้ำรดลงที่ฝ่ามือขวาของศพ พร้อมกับนึกในใจว่า “ร่างกายที่ตามแล้วนี้ ย่อมเป็นอโหสิกรรมไม่มีโทษ เหมือนน้ำที่รดแล้วฉะนั้น”

๓. เมื่อรดเสร็จแล้ว กราบเบญจางคประดิษฐ์อีก ๓ ครั้ง พร้อมกับนึกอธิฐานว่า “ขอจงไปสู่สุคติเถิด”

ขอบคุณข้อมูล : http://www.kalyanamitra.org