Home »
Uncategories »
น้ำมันหมู กับ น้ำมันพืช อันไหนกินแล้วอ้วน และมีประโยชน์ต่างกันยังไงมาดูเลย!
น้ำมันหมู กับ น้ำมันพืช อันไหนกินแล้วอ้วน และมีประโยชน์ต่างกันยังไงมาดูเลย!
น้ำมันหมู กับ น้ำมันพืช อันไหนกินแล้วอ้วน และมีประโยชน์ต่างกันยังไงมาดูเลย!
เมื่อหลายปีก่อนผู้คนจำนวนไม่น้อยเชื่อว่าน้ำมันพืชดีกว่าน้ำมันหมู
แต่พอยุคปัจจุบันน้ำมันหมูกลับมาได้รับความนิยมมากกว่าคนคิดว่าเป็นน้ำมันเพื่อสุขภาพ
วันนี้แอดมินจะพามาดูข้อสรุปจริง ๆ ว่าน้ำมันหมู กับ
น้ำมันพืชอันไหนดีกว่ากัน
น้ำมันหมู VS น้ำมันพืช
คนไทยเรากินน้ำมันหมูมายาวนาน
จนกระทั่งยุคหนึ่งก็เกิดกระแสว่าน้ำมันหมูอันตราย มีคอเลสเตอรอลมาก
เป็นสาเหตุของโรคเรื้อรังต่าง ๆ มากมาย
ในยุคนั้นเราจึงใช้น้ำมันพืชประกอบอาหารกันมากกว่าน้ำมันหมู
ทว่าเมื่อไม่นานมานี้ กลับมีกระแสต่อต้านน้ำมันพืช
และยกเอาน้ำมันหมูมาชูในฐานะน้ำมันเพื่อสุขภาพ นัยว่า
น้ำมันหมูดีกว่าน้ำมันพืช แต่ข้อมูลนี้จะเท็จจริงแค่ไหน
เราที่กินน้ำมันกันทุกมื้ออาหาร ควรเช็กโดยด่วน
ถ้าถามว่าน้ำมันหมูกับน้ำมันพืช น้ำมันอะไรดีกว่ากัน
อาจจะฟันธงไม่ได้เลยทีเดียว เพราะข้อมูลยังมีความขัดแย้งกันอยู่มาก
โดยในส่วนของคนที่บอกว่าน้ำมันหมูดี
ก็จะชูข้อดีในเรื่องกระบวนการผลิตน้ำมันหมู
ที่ไม่ต้องผ่านกรรมวิธีการที่ซับซ้อน และการได้มาซึ่งน้ำมันหมู
ก็ไม่ผ่านสารเคมีใด ๆ มาจากธรรมชาติ
จึงมีความปลอดภัยต่อร่างกายมนุษย์อย่างเรา ๆ มากกว่า
ต่างจากน้ำมันพืชที่กว่าจะสกัดเป็นน้ำมันออกมาได้
ต้องเติมนั่นผ่านนี่หลายกระบวนการ จึงอาจมีสารเคมีปะปนมา
และไม่ดีต่อสุขภาพของเรา นอกจากนี้ข้อดีของน้ำมันหมูอีกข้อก็คือ
เมื่อใช้น้ำมันหมูทำอาหาร อาหารที่ได้ก็จะหอม อร่อย
น่ารับประทานกว่าอาหารที่ใช้น้ำมันพืชด้วย
กลับกันกับกลุ่มที่คิดว่าน้ำมันพืชดีกว่า
ที่ยืนยันด้วยข้อเท็จจริงที่ว่า น้ำมันที่ได้จากพืชไม่มีคอเลสเตอรอล
เป็นไขมันไม่อิ่มตัว
จึงไม่ทำให้เสี่ยงต่อโรคเรื้อรังที่เกิดจากไขมันชนิดเลว (LDL)
ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่าน้ำมันพืชมีความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์เรามากกว่าน้ำมันหมูซึ่งเป็นไขมันอิ่มตัว
ทว่าในแง่ของโภชนาการ
สิ่งที่ทำให้น้ำมันหมูซึ่งเป็นไขมันที่ได้จากสัตว์แตกต่างจากน้ำมันพืชซึ่งเป็นไขมันที่ได้จากพืช
ก็คือ น้ำมันพืชไม่มีคอเลสเตอรอล
ในขณะที่น้ำมันหมูจะมีคอเลสเตอรอลติดมาด้วย แต่อย่างไรก็ดี ผศ. ดร.วันทนีย์
เกรียงสินยศ อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ชี้แจงว่า
จากการทดลองพบว่า น้ำมันหมูมีคอเลสเตอรอล 9 มิลลิกรัมต่อ 1 ช้อนโต๊ะ
ซึ่งหากในแต่ละวันเราใช้น้ำมันหมูประกอบอาหารในปริมาณไม่มาก
ร่างกายก็อาจจะได้รับคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในระดับที่ไม่มีผลต่อระดับคอเลสเตอรอลในเลือดเลย
ส่วนประเด็นที่มีการแชร์ข้อมูลว่า น้ำมันพืชที่ผ่านกระบวนการต่าง ๆ
ในส่วนการผลิต อาจมีการเติมสารเคมี และทำให้เกิดไขมันทรานส์ติดมา
เมื่อกินเข้าไปแล้ว น้ำมันพืชจะเกาะติดลำไส้ ไม่สามารถกำจัดออกได้
และเป็นสาเหตุของโรคไขมันอุดตันนั้น ก็เป็นข้อมูลลอย ๆ
ที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน ดังนั้นจึงเชื่อได้ว่าข้อมูลนี้มีความบิดเบือนสูงมาก
โดยในส่วนของกระบวนการผลิตน้ำมันพืช นพ.พิรัตน์ โลกาพัฒนา
นายแพทย์อายุรศาสตร์ หรือหมอแมว เจ้าของเฟซบุ๊กความรู้สนุกๆแบบหมอแมว
ก็ได้อธิบายว่า น้ำมันพืชบรรจุขวดที่เราเห็นและใช้กันอยู่ทุกวัน
เป็นน้ำมันพืชผ่านกรรมวิธี (Processed oil)
ซึ่งผลิตด้วยการนำพืชไปผ่านเครื่องจักรเพื่อสกัดออกมาเป็นน้ำมัน
ไม่ได้เกี่ยวกับการเติมไฮโดรเจนลงในน้ำมันแล้วทำให้เกิดไขมันทรานส์ปะปนมากับน้ำมันพืชแต่อย่างใด
บอกไว้ตรงนี้ว่าเป็นคนละเรื่องกันเลยค่ะ
ดังนั้นการจะสรุปว่าน้ำมันหมูหรือน้ำมันพืชดีกว่ากัน ก็ตอบยากค่ะ
เพราะจริง ๆ แล้วน้ำมันประกอบอาหารในโลกนี้มีอยู่ด้วยกันหลายชนิด
แต่ละชนิดก็เหมาะที่จะใช้ประกอบอาหารในรูปแบบต่าง ๆ กันไป
ซึ่งก็หมายความว่า การที่เราจะบริโภคน้ำมันให้ดีต่อสุขภาพ
ก็ขึ้นอยู่กับการเลือกใช้น้ำมันประกอบอาหารอย่างเหมาะสมด้วยนั่นเอง
เอาเป็นว่าเพื่อให้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งมากขึ้น
เรามาทำความรู้จักกลุ่มน้ำมันประกอบอาหารที่มีให้เลือกใช้ในปัจจุบันกันดีกว่า
โดย ศ. ดร.วิสิฐ จะวะสิต อาจารย์ประจำสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล
อธิบายไว้ว่า น้ำมันและไขมันธรรมชาติ จะประกอบไปด้วยสูตรไขมัน 3
ประเภทรวมกันอยู่ในสัดส่วนที่แตกต่างกัน ซึ่งจะจำแนกได้ดังนี้
1. ประเภทไขมันอิ่มตัว
ไขมันประเภทนี้เมื่อเข้าตู้เย็นแล้วจะเป็นไข
และด้วยความที่เป็นไขมันอิ่มตัวสูง
หากรับประทานไขมันเหล่านี้มากเกินไปก็จะส่งผลให้คอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL)
เพิ่มขึ้นได้ ทว่าข้อดีของไขมันอิ่มตัวก็คือ ไขมันชนิดนี้จะมีความคงตัวสูง
ทนต่อความร้อนได้ ไม่ทำให้เกิดกลิ่นหืน (กระบวนการก่ออนุมูลอิสระ)
อีกทั้งเมื่อนำไปทอดอาหารซึ่งต้องใช้ความร้อนสูง
โอกาสจะเกิดควันในระหว่างประกอบอาหารก็น้อยมาก
ดังนั้นน้ำมันที่มีสัดส่วนไขมันอิ่มตัวมาก อย่างน้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม
น้ำมันมะพร้าว จึงเหมาะสำหรับทำอาหารประเภททอด
ซึ่งจะได้ความกรอบของอาหารโดยไม่เสียคุณภาพ และความหอมของอาหารด้วย
2. ประเภทไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว
ไขมันประเภทนี้จะเป็นไขมันที่มีจุดไม่อิ่มตัว 1 ตำแหน่ง
มีความคงทนต่อความร้อนในระดับหนึ่ง แต่ไม่มากเท่าไขมันอิ่มตัว
และเป็นกรดไขมันให้พลังงานแต่ไม่เพิ่มคอเลสเตอรอลในร่างกาย
และยังช่วยนำสารอาหารต่าง ๆ ได้ดี พูดง่าย ๆ ว่าเป็นไขมันประเภทกลาง ๆ
ใช้ผัดได้ ทอดได้ ซึ่งไขมันประเภทนี้จะพบมากในน้ำมันรำข้าว และน้ำมันมะกอก
3. ประเภทไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน
เป็นกรดไขมันที่มีความไม่อิ่มตัวหลายตำแหน่ง
จึงเป็นกรดไขมันที่มีผลช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายได้
ทว่ากรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนไม่ทนต่อความร้อน
หากนำไปประกอบอาหารที่ต้องใช้ความร้อนสูง อย่างเช่น การทอด
จะทำให้เกิดกลิ่นหืนง่าย ก่อให้เกิดอนุมูลอิสระตัวการก่อมะเร็งได้
โดยไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนจะพบได้มากในน้ำมันถั่วเหลือง
และน้ำมันดอกทานตะวัน
จะเห็นได้ว่าน้ำมันแต่ละชนิดมีประโยชน์ ข้อดี และข้อเสียแตกต่างกันไป
ซึ่งจุดนี้หลายคนอาจยังข้องใจว่า
สรุปแล้วน้ำมันหมูมีประโยชน์หรือโทษตรงส่วนไหนบ้าง
เอาเป็นว่าเคลียร์ให้กระจ่างกันตรงนี้ไปเลย
น้ำมันหมู มีประโยชน์อย่างไร
เพราะคนไทยใช้น้ำมันหมูประกอบอาหารมาอย่างยาวนาน
ดังนั้นก็อาจช่วยยืนยันได้ว่า น้ำมันหมูก็มีดีเช่นกัน
ซึ่งประโยชน์ของน้ำมันหมูก็มีดังนี้ค่ะ
– ใช้ทำอาหารประเภททอด อาหารที่ใช้ความร้อนสูงได้ดี มีความปลอดภัย ไม่ก่อให้เกิดกลิ่นหืน ไม่เสี่ยงต่อโรคมะเร็ง
– ใช้ทอดอาหารได้กรอบ หอม น่ารับประทาน และคงความกรอบให้อาหารได้นาน
– เป็นน้ำมันประกอบอาหารที่เราสามารถทำเองได้ ไม่ยุ่งยาก แถมยังได้กากหมูแถม
– สูตรทำน้ำมันหมู เคล็ดลับเด็ดเพื่อกับข้าวหอมอร่อยได้กากหมูแถม
น้ำมันหมู กินแล้วอ้วนไหม อันตรายต่อสุขภาพหรือเปล่า
อย่างที่บอกไปข้างต้นว่าน้ำมันหมูมีคอเลสเตอรอล 9 มิลลิกรัมต่อ 1
ช้อนโต๊ะ ดังนั้นหากเรากินน้ำมันหมูมากในแต่ละวัน
ร่างกายก็จะได้รับพลังงานสูง และอาจส่งผลให้ระดับคอเลสเตอรอลเพิ่มขึ้นด้วย
ทว่าหากรับประทานน้ำมันหมูในสัดส่วนที่ไม่มากจนเกินไป คือไม่ทุกมื้อ ทุกวัน
และมีการใช้พลังงานอย่างเหมาะสม ร่างกายก็จะสามารถเผาผลาญไขมันเหล่านี้ได้
ดังนั้นหากไม่อยากอ้วนก็ต้องควบคุมอาหารและหมั่นออกกำลังกายนะคะ
ส่วนประเด็นว่าน้ำมันหมูอันตรายต่อสุขภาพไหม
ก็ต้องตอบว่าหากเรากินมากก็อันตรายแน่นอนค่ะ
เพราะอย่าลืมว่าน้ำมันหมูมีคอเลสเตอรอลสูงพอสมควร
กินมากก็จะเพิ่มคอเลสเตอรอลในเลือดมาก
ส่งผลให้เสี่ยงต่อโรคไขมันอุดตันเส้นเลือด และโรคเรื้อรังอื่น ๆ อีกมากมาย
โดยเฉพาะหากใช้น้ำมันทอดซ้ำหลาย ๆ ครั้ง น้ำมันที่ผ่านความร้อนสูงหลาย ๆ
ครั้งจะมีคุณสมบัติเสื่อมลง กลิ่น สี และรสเปลี่ยนไป
เพราะในระหว่างที่ทอดจะเกิดสารโพลาร์ที่เกิดจากการแตกตัวของน้ำมันขึ้น
ซึ่งจะส่งผลให้เกิดอนุมูลอิสระขึ้นได้ เกิดภาวะไขมันสะสมในตับ
และเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือดได้
ทานน้ำมันแค่ไหนไม่เกิดโรค
ไขมันเป็นอาหารอีกหนึ่งหมู่สำคัญต่อร่างกาย
เพราะเป็นแหล่งพลังงานบริสุทธิ์ และเป็นสารอาหารที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย
ทว่าร่างกายไม่จำเป็นต้องได้รับไขมันจำนวนมากในแต่ละวัน
เพราะอาจส่งผลเสียแทนที่จะส่งผลดี
ดังนั้นหลักในการกินน้ำมันให้ปลอดภัยต่อสุขภาพ จึงควรทำตามนี้
– จำกัดปริมาณการรับประทานน้ำมันไม่ให้เกินวันละ 6 ช้อนชา
โดยปกติเราควรได้รับไขมันในปริมาณไม่เกินร้อยละ 30 ของพลังงานทั้งหมด
และไม่น้อยกว่าร้อยละ 15 ของพลังงานทั้งหมด
เพราะหากได้รับไขมันมากเกินไปหรือต่ำเกินกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการ
ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้ ดังนั้นกะง่าย ๆ
ว่าเราควรบริโภคน้ำมันไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา
โดยเลือกรับประทานอาหารประเภทอบ นึ่ง ต้ม หรือย่างให้มากกว่าอาหารประเภททอด
– หมุนเวียนกินน้ำมันหลากหลายชนิด
อย่างที่เห็นว่าน้ำมันแต่ละชนิดมีสัดส่วนไขมันทั้ง 3
ประเภทในระดับที่แตกต่างกัน
ดังนั้นเพื่อสุขภาพที่ดีและเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายรับไขมันประเภทเดียวซ้ำ
ๆ เราก็ควรสลับกินน้ำมันแต่ละชนิดอย่างสมดุล
โดยองค์การอนามัยโลกก็แนะนำให้รับประทานไขมันในสัดส่วน 1:1:1 กล่าวคือ
รับประทานไขมันอิ่มตัว 1 ส่วน ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว 1 ส่วน
และไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 1 ส่วน
เพราะไขมันทุกประเภทมีความสำคัญต่อร่างกายเท่า ๆ กัน
เลือกชนิดของน้ำมันอย่างไร ให้เหมาะกับการทำอาหาร
ย้ำกันอีกทีว่าน้ำมันแต่ละประเภท เหมาะสำหรับใช้ทำอาหารแตกต่างกันไป
ดังนั้นเพื่อความเหมาะสมและปลอดภัย
เรามาดูกันค่ะว่าควรเลือกใช้น้ำมันปรุงอาหารอย่างไรดี
– อาหารประเภททอด
อาหารประเภททอดที่ต้องใช้ความร้อนสูง ต้องใช้น้ำมันในปริมาณมาก
อย่างการทอดไก่ ทอดปลา ทอดกล้วยแขก โดนัท กุยช่าย
ควรเลือกใช้น้ำมันที่มีไขมันอิ่มตัวสูง เพราะมีความคงทนต่อความร้อนได้ดี
ไม่ทำให้เกิดควัน ไม่เกิดกลิ่นหืน และยังได้อาหารที่กรอบ หอม น่ารับประทาน
ซึ่งน้ำมันประเภทนี้ก็คือ น้ำมันหมู น้ำมันปาล์ม
– อาหารประเภทผัด
หากเป็นการประกอบอาหารที่ต้องใช้น้ำมันขลุกขลิก ใช้ในปริมาณน้อย
ความร้อนไม่สูงมาก สามารถใช้น้ำมันชนิดใดก็ได้ เช่น น้ำมันถั่วเหลือง
น้ำมันดอกทานตะวัน น้ำมันรำข้าว น้ำมันปาล์มโอเลอิน น้ำมันข้าวโพด
น้ำมันเมล็ดฝ้าย เป็นต้น
– อาหารประเภทสลัด
ไม่ว่าจะทำน้ำสลัดหรือใช้น้ำมันเป็นเครื่องปรุงรสเพียว ๆ
ควรเลือกใช้น้ำมันพืชชนิดที่ไม่แข็งตัวในอุณหภูมิต่ำ
และควรเป็นไขมันประเภทไม่อิ่มตัวสูง เช่น น้ำมันมะกอกธรรมชาติ
น้ำมันถั่วเหลือง และน้ำมันข้าวโพด
อย่างไรก็ดี
ต้องขอทำความเข้าใจกันอีกทีว่าไม่มีน้ำมันชนิดไหนดีที่สุดหรืออันตรายที่สุด
เพราะร่างกายเราต้องการไขมันแต่ละประเภทในปริมาณที่เท่า ๆ
กันในการสร้างพลังงานให้ร่างกาย ทว่าเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
เราเองก็ควรเลือกรับประทานน้ำมันให้ถูกชนิด ถูกวิธีปรุงอาหาร
ที่สำคัญควรจำกัดปริมาณการกินน้ำมันให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม
นอกจากนี้ก็ควรรับประทานอาหารที่หลากหลาย ให้ครบทั้ง 5 หมู่สำคัญ
และหมั่นออกกำลังกายเพื่อให้ร่างกายได้ใช้พลังงาน
เลี่ยงโอกาสเกิดไขมันสะสมในร่างกายด้วยนะคะ
ขอขอบคุณ : หมอชาวบ้าน, มหิดล แชนแนล และสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล