เครื่องฟอกอากาศ คืออะไร มีประโยชน์ยังไง มีวิธีการเลือกซื้ออย่างไร มาดูหลักการทำงานของเครื่องฟอกอากาศ ข้อดี และข้อเสีย ก่อนตัดสินใจซื้อกันค่ะ
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าทุกวันนี้อากาศรอบ
ๆ ตัวเรามีมลภาวะมากเหลือเกิน ซึ่งก็ไม่ใช่แค่ตามท้องถนนเท่านั้น
แต่ในบ้านของเราก็ยังเต็มไปด้วยมลภาวะทางอากาศที่ทำให้เกิดภูมิแพ้
ไม่ว่าจะเป็นฝุ่นละออง แบคทีเรีย ไวรัส และสิ่งปนเปื้อนที่มากับอากาศ
หากวันนี้กำลังจะหาตัวช่วยในการกำจัดสิ่งเหล่านี้ เช่น เครื่องฟอกอากาศ มาใช้ในบ้าน
วันนี้กระปุกดอทคอมก็มีข้อมูลของเครื่องฟอกอากาศมาฝากไว้ให้พิจารณาก่อนตัดสินใจซื้อ
จะได้รู้ว่าจริง ๆ แล้วเครื่องฟอกอากาศจำเป็นกับเราจริงหรือเปล่า ?
เครื่องฟอกอากาศ คืออะไร ?
เครื่องฟอกอากาศ
(Air Purifier หรือ Air Cleaner) คือ
เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ช่วยกำจัดสิ่งแปลกปลอมในอากาศ เช่น ฝุ่น แบคทีเรีย ไวรัส
ต้นเหตุที่ทำให้เกิดภูมิแพ้
รวมถึงกลิ่นไม่พึงประสงค์อย่าง กลิ่นควันบุหรี่ กลิ่นอับ
กลิ่นเหม็นในบ้านให้หายไป
ซึ่งเครื่องฟอกอากาศทำงานโดยการดูดอากาศเข้าตัวเครื่องผ่านตัวกรองเพื่อดักจับสิ่งเหล่านี้เอาไว้
แล้วปล่อยอากาศบริสุทธิ์ออกมาแทน
ระบบการทำงานเครื่องฟอกอากาศ
แม้ในตอนนี้เครื่องฟอกอากาศจะมีการเพิ่มฟังก์ชันเข้าไปมากมาย
แต่สามารถแบ่งระบบการทำงานของเครื่องฟอกอากาศออกได้ 5 ระบบหลัก ๆ
ตามการทำงาน ดังนี้
1. Air filters
Air
Filter หรือแผ่นกรองอากาศ ระบบดักจับฝุ่นละออง แบคทีเรีย ไวรัส
หรือสารต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ มีทั้งประเภทที่ทำจากกระดาษ เส้นใย
ตาข่าย แต่แบบที่นิยมใช้กันมากที่สุดในปัจจุบันคือแผ่นกรองอากาศแบบ HEPA
หรือ High Efficiency Particulate Air
ประเภทแผ่นกรองที่ผลิตจากเส้นใยไฟเบอร์กลาส
ที่ออกแบบมาเพื่อใช้ดักจับอนุภาคที่มีขนาดเล็กอย่างน้อย 0.3 ไมครอน
และมีประสิทธิภาพในการดักจับได้ไม่น้อยกว่า 99.97%
อายุเฉลี่ยการใช้งานอยู่ที่ 3-5 ปี
2. Electrostatic Precipitator
Electrostatic
Precipitator ระบบกรองอากาศที่ทำงานโดยใช้หลักไฟฟ้าสถิต
ด้วยการปล่อยประจุไฟฟ้าลบออกมาจับฝุ่นนละอองหรืออนุภาคขนาดเล็กที่เป็นประจุบวกให้เป็นกลุ่มก้อน
เพื่อทำให้มีน้ำหนักมากขึ้นแล้วตกลงสู่พื้น ไม่ลอยฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ
3. Gas-phase air filters
Gas-phase
air filters ระบบที่มีไว้สำหรับกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ
ทำงานโดยการใช้สารเคมี เช่น ถ่านกัมมันต์ หรือที่เรียกกันว่า แอคทิเวเต็ด
คาร์บอน (Activated Carbon) มาช่วยดูดซับกลิ่นไม่พึงประสงค์ต่าง ๆ
และก๊าซพิษออกไป
4. Ozone generator
Ozone
generator ระบบที่ใช้แสงยูวีหรือการปล่อยกระแสไฟฟ้าในการสร้างโอโซน
เพื่อฆ่าเชื้อโรค สารเคมี รวมถึงกำจัดกลิ่นที่ปะปนมาในอากาศให้สลายไป
และทำให้อากาศกลับมาสะอาดอีกครั้ง
5. UV Light
UV
Light เป็นระบบที่นำรังสีอัลตราไวโอเลตมาใช้ในการกำจัดเชื้อโรคต่าง ๆ อาทิ
แบคทีเรีย ไวรัส เชื้อรา หรือสารอื่น ๆ ในอากาศที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
การเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศ
1. ขนาดห้อง
เลือกขนาดของเครื่องฟอกอากาศให้เหมาะสมกับห้องหรือพื้นที่ที่จะติดตั้ง
เพราะเครื่องฟอกอากาศแต่ละรุ่นมีประสิทธิภาพในการทำงานครอบคลุมพื้นที่ที่แตกต่างกัน
เช่น ถ้าเราซื้อเครื่องฟอกอากาศขนาดเล็ก แต่เอาไปวางไว้ในห้องขนาดใหญ่
ก็จะทำให้เครื่องฟอกอากาศทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
แต่ถ้าหากนำเครื่องฟอกอากาศขนาดใหญ่ไปวางไว้ในห้องเล็ก ๆ ก็จะทำให้เปลืองไฟ
ที่สำคัญห้องที่ติดตั้งเครื่องฟอกอากาศควรเป็นห้องปิด
เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ฝุ่นเข้ามาอย่างต่อเนื่อง
ทำให้เครื่องทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
2. ระบบการทำงาน
สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างที่ต้องดูก่อนซื้อเครื่องฟอกอากาศคือ
ระบบการทำงาน
ว่ามีคุณสมบัติตอบโจทย์และตรงกับความต้องการในการใช้งานของเราหรือไม่
โดยให้เน้นไปที่ชนิดของฟิลเตอร์หรือแผ่นกรองเป็นหลัก
ควรเลือกใช้เครื่องฟอกอากาศที่มี เฮปป้า ฟิลเตอร์ (HEPA filter)
ซึ่งช่วยกรองฝุ่นขนาดเล็กได้ดีและดักจับฝุ่นละอองได้มาก
รวมไปถึงความจำเป็นในการใช้ฟังก์ชันเสริมต่าง ๆ
ที่มากกว่าแค่การกรองอากาศหรือกำจัดกลิ่น เช่น
เซ็นเซอร์ตรวจวัดคุณภาพอากาศ, ตัวระบุการเปลี่ยนแผ่นกรอง,
ตัวควบคุมความเร็ว และรีโมตสั่งการ
ก็ถือเป็นคุณสมบัติที่เราควรนำมาพิจารณาด้วยเหมือนกัน
เพราะเป็นส่วนที่มีผลทำให้แต่ละเครื่องแต่ละแบรนด์มีราคาแตกต่างกัน
3. ค่า Airflow
ค่า
Airflow หรือตัววัดความเร็วลม
จากปริมาณของอากาศที่ถูกดูดเข้าไปและเวลาในการปล่อยอากาศออกมาจากเครื่องฟอกอากาศ
หากเครื่องฟอกอากาศมีค่า Airflow สูงก็หมายความว่า
เครื่องฟอกอากาศรุ่นนั้นมีประสิทธิภาพในการฟอกอากาศได้เร็วนั่นเอง
4. ค่า CADR
ค่า
CADR (Clean Air Delivery Rate) หรืออัตราการสร้างอากาศบริสุทธิ์ต่อนาที
ซึ่งเป็นค่าสากลที่ใช้ในการวัดประสิทธิภาพการทำงานของเครื่องฟอกอากาศ
ยิ่งมีค่า CADR สูงมากเท่าไร
ก็แสดงให้เห็นว่าเครื่องฟอกอากาศมีประสิทธิภาพในการทำงานดีขึ้นเท่านั้น
5. ระดับเสียง
ระดับเสียงการทำงานของเครื่องฟอกอากาศก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ไม่ควรมองข้าม
โดยเครื่องฟอกอากาศที่ดีควรมีระดับเสียงต่ำขณะเครื่องทำงาน
เพื่อป้องกันการรบกวนขณะกำลังพักผ่อน ระดับเสียงที่เหมาะสมไม่ควรเกิน 30-31
เดซิเบล
6. การประหยัดไฟ
เครื่องฟอกอากาศจะกินไฟหรือไม่นั้น
ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับแผ่นกรอง หากเป็นแผ่นกรองที่มีความหนาแน่นมาก
อากาศผ่านได้น้อย ก็จะทำให้เครื่องใช้ไฟมาก
ฉะนั้นควรเลือกแผ่นกรองที่มีอากาศไหลผ่านได้ดี
เพื่อลดการใช้ไฟฟ้าในการทำงาน
นอกจากนี้ยังสามารถเปรียบเทียบค่าไฟได้จากฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 จากหลาย ๆ
รุ่นมาประกอบในการตัดสินใจ
7. ราคา
ไม่ใช่แค่เพียงราคาของตัวเครื่องฟอกอากาศเท่านั้น
แต่เรายังต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายในการเปลี่ยนตัวกรองหรือไส้กรองของเครื่องฟอกอากาศอีกด้วย
เนื่องจากเครื่องฟอกอากาศทุกชนิดจะต้องมีการเปลี่ยนตัวกรองหรือไส้กรองอยู่เสมอ
เพื่อช่วยให้ระบบต่าง ๆ สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้นก่อนจะซื้อเครื่องฟอกอากาศจึงควรดูราคาของแผ่นกรองและการบำรุงรักษาส่วนอื่น
ๆ ควบคู่กันไปด้วย
สำหรับหลักการเลือกซื้อเครื่องฟอกอากาศเพื่อช่วยกำจัดฝุ่น
PM2.5 ให้สังเกตที่แผ่นกรอง โดยพบว่าแผ่นกรองแบบ High-Efficiency
Particulate Air Filter Arrestance (HEPA)
เป็นประเภทที่เหมาะสมและได้รับความนิยมมากที่สุด เนื่องจากมีประสิทธิภาพ
ราคาคุ้มค่า แถมอัตราการกรองอยู่ในระดับ H13 (หรือสูงกว่า)
ทว่าอย่างไรก็ตามต้องพิจารณาควบคู่ไปกับค่าปริมาณการสร้างอากาศบริสุทธิ์
(CARD) ค่าประสิทธิภาพการฟอกอากาศ (Airflow) และขนาดพื้นที่ภายในห้องด้วย
เพื่อช่วยให้เอื้อต่อการลดฝุ่นพิษได้เร็วสุด มากสุด ดีสุด
และมีประสิทธิภาพสูงสุดนั่นเอง
ข้อดี
- ช่วยลดการเกิดภูมิแพ้ที่เกิดจากฝุ่นละออง เกสร หรือขนสัตว์
- ช่วยยับยั้งการเจริญเติบโตและกำจัดแบคทีเรีย เชื้อโรค และเชื้อราได้
- ช่วยเปลี่ยนอากาศเสียให้เป็นอากาศบริสุทธิ์ และปราศจากกลิ่นไม่พึงประสงค์
ข้อเสีย
- ไม่ได้ทำให้ฝุ่นละอองหายไปจากบ้านทั้งหมด เพราะฉะนั้นจึงควรทำความสะอาดบ้านควบคู่กันไปด้วย
-
เครื่องฟอกอากาศไม่ได้ช่วยรักษาโรคภูมิแพ้ให้หายขาด
เพราะเครื่องฟอกอากาศทำได้แค่ดูดจับฝุ่นละอองหรือสารก่อภูมิแพ้ต่าง ๆ
ในอากาศเท่านั้น
- ไม่ใช่เครื่องฟอกอากาศทุกเครื่องที่สามารถกำจัดกลิ่นไม่พึงประสงค์ได้ ควรเลือกที่มีชั้นกรอง แอคทิเวเต็ด คาร์บอน ด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก epa, thespruce, quora, homeairguides, foodnetworksolution, lgblogger, สำนักข่าวไทย, แพทยสภา และ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสงคราม