เทคนิคการปลูก และดูแลหม้อข้าวหม้อแกงลิง

หม้อข้าวหม้อแกงลิง นับเป็นพืชกินแมลงที่มีลักษณะโดดเด่น และนิยมปลูกเป็นไม้ประดับมากที่สุดในเมืองไทย และได้รับความสนใจในตลาดไม้ประดับทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากปลูกเลี้ยงง่าย ไม่เน้นปุ๋ยและยา ทำให้พืชชนิดนี้มีศักยภาพเป็นพืชเศรษฐกิจ เนื่องจากสามารถปลูกเลี้ยง คัดเลือกพันธุ์ เพาะพันธุ์เอง ได้ง่ายเป็นจำนวนมาก โดยไม่ต้องรบกวนจากธรรมชาติแม้แต่น้อย

ทีมงานเดินทางลงใต้มีโอกาสแวะเยี่ยมตลาดต้นไม้ศูนย์การเรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแนวพระราชดำริฯ และศูนย์สาธิตและส่งเสริมงานศิลปาชีพภาคใต้ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เป้าหมายของทีมงานอยู่ที่ร้านพืชกินแมลงของ คุณจำนัญ ทองแป้น นักเลี้ยงหม้อข้าวหม้อแกงลิงมากประสบการณ์

จุดเริ่มต้น ปลูกเลี้ยงหม้อข้าวหม้อแกงลิง จุดเริ่มต้นของการปลูกเลี้ยงพืชกินแมลง เมื่อก่อนเคยเป็นกุ๊กทำพิซซ่าในร้านอาหารฝรั่ง และเป็นคนชอบปลูกต้นไม้ และพืชกินแมลงมาตั้งแต่สมัยเด็ก ชอบบรรยากาศร่มรื่นของธรรมชาติ จึงใช้เวลาว่างจากการทำงานมาปลูกเลี้ยงต้นไม้ ก่อนจะมาพบเจอกับหม้อข้าวหม้อแกงลิง เฟินกระเช้าสีดา เฟินสาย สายพันธุ์แปลกใหม่ในงานเกษตรแฟร์ของ จ.สุราษฏร์ธานี เขาจึงรู้สึกมีแรงผลักดัน หลงใหล ชื่นชอบ อยากปลูกเลี้ยง จนยึดเป็นอาชีพอย่างจริงจัง

ปัจจุบันเขามีหน้าร้านอยู่ที่ตลาดต้นไม้ สุราษฎร์ธานี “พักหลังผมไม่ค่อยได้เพาะแล้วลดจำนวนลง เพราะต้องออกมาขายอยู่หน้าร้าน ไม่มีเวลาดูแลไม้ที่สวน หากจะจ้างแรงงานก็ไม่ไหว จึงเปลี่ยนมาสั่งซื้อไม้ด้วยบางส่วน โดยรับมาจากพ่อค้า-แม่ค้าในพื้นที่ จ.สุราษฎร์ธานี”

ลักษณะของหม้อข้าวหม้อแกงลิง หม้อข้าวหม้อแกงลิงเป็นพืชกินแมลงที่นิยมปลูกเลี้ยงกันมากที่สุดในเมืองไทย เสน่ห์ของไม้ชนิดนี้อยู่ที่ลักษณะ “หม้อ” คือ ส่วนของใบ ไม่ใช่ดอก เกิดบริเวณปลายใบ มีทั้งทรงกลม และทรงกระบอก มีสีสันและลวดลาย สวยงาม สะดุดตา

เจ้าของร้านบอกหัวใจสำคัญ คือ น้ำ และแสงแดด หลายท่านคงเคยเป็นแบบนี้ แม้จะเลือกปลูกชนิดที่เลี้ยงง่ายแล้ว แต่ก็ยังไม่ผลิหม้อให้เห็น ให้ลองสังเกตว่าต้นได้รับแสงแดด และมีความชื้นในอากาศเพียงพอหรือไม่ รวมถึงการรดน้ำ และปริมาณอาหารที่พืชได้รับ

การบริหารจัดการ หม้อข้าวหม้อแกงลิง
วัสดุปลูก นิยมใช้กาบมะพร้าวสับ เป็นวัสดุที่หาได้ง่าย ราคาถูก มีลักษณะโปร่ง ระบายน้ำได้ดี ช่วยให้ต้นเจริญเติบโต และมีระบบรากแข็งแรง ควรเปลี่ยนอย่างน้อยทุก 1 ปี “การปลูกไม่ควรใช้ดิน เพราะนานๆ ไปดินจะกดทับกันแน่น จะทำให้รากแฉะ และเน่าง่าย”

แสงแดด หม้อข้าวหม้อแกงลิงชอบแสงแดดจัด สามารถปลูกกลางแจ้งได้อย่างสบาย อาจใช้จานรองหล่อน้ำไว้ก้นกระถาง เพื่อให้รากได้รับความชุ่มชื้นสม่ำเสมอ พรางแสงประมาณ 50% ต้นที่ได้รับแสงแดดเพียงพอจะแข็งแรง ผลิหม้อได้ดี และมีสีสันสวยงาม “บางคนนำไปเลี้ยงผิดวิธี เลี้ยงในร่ม แต่หม้อข้าวหม้อแกงลิงชอบแดด 50-80% หากจะให้แดด 100% พื้นที่ หรือบริเวณรอบๆ ต้องเป็นพื้นดินสนามหญ้า เพราะจะมีความชุ่มชื้น ถ้าเป็นบริเวณพื้นที่ปูนซีเมนต์ หรือหิน ไม่ได้เลย เพราะจะร้อนมากในช่วงเวลากลางวัน

“ไม่จำเป็นต้องแขวนก็ได้ ที่ผมเลี้ยงส่วนใหญ่จะตั้งบนโต๊ะแล้วหล่อน้ำไว้ เป็นพื้นสนามหญ้ากว้างๆ ให้ได้รับแสงแดดเต็มที่ ต้นสวย สมบูรณ์ ใบหนา หม้อแข็งแรง”

การขยายพันธุ์ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง การขยายพันธุ์ทำได้หลายวิธี เช่น การปักชำ เพาะเมล็ด และตอนกิ่ง ส่วนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเป็นวิธีที่ผู้ผลิตบางรายเลือกใช้เพื่อให้ได้ลูกไม้ปริมาณมาก
–การตอนกิ่ง ทำเหมือนต้นไม้ทั่วไปเลย คือ ควั่นกิ่ง แล้วลอกเปลือกออกพร้อมกับขูดเยื่อเจริญออก ใช้ขุยมะพร้าวหุ้มกิ่งตอนมัดด้วยเชือกให้แน่น ถ้าให้ได้ผลดีใช้สแฟกนั่มมอส จากนั้นนำไปวางในที่ร่มรำไร หรือภายใต้ซาแรน วิธีนี้สามารถตอนกิ่งหม้อข้าวหม้อแกงลิงได้ทุกสายพันธุ์ อัตราการรอดสูง

–การปักชำ เป็นวิธีขยายพันธุ์ที่ให้ผลเร็วที่สุด แต่บางชนิดอาจชำไม่สำเร็จ วัสดุปักชำจะใช้ขุยมะพร้าวล้วนๆ หรือสแฟกนั่มมอส นำกิ่งปักลงในวัสดุที่เตรียมไว้ และรดน้ำ นำกระถางที่ปักชำใส่ในถุงพลาสติก มัดปากถุงให้แน่นเพื่อรักษาความชื้น อัตราการรอด 50/50

–การเพาะเมล็ด แม้เป็นวิธีขยายพันธุ์ที่ให้ต้นจำนวนมาก แต่ใช้เวลาเพาะเมล็ดนานถึง 2 ปี หากไม่คิดทำเพื่อการค้า แนะนำให้เลือกซื้อหาพันธุ์ที่สวยงาม ถูกใจ ไปปลูกเลี้ยงดีกว่า เนื่องจากการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดมีขั้นตอนซับซ้อน ตั้งแต่การคัดเลือกแม่พันธุ์-พ่อพันธุ์ การผสมเกสร การเก็บเกสรเพศผู้ การเก็บเมล็ด การเพาะเมล็ด และการย้ายปลูกต้นกล้า

การให้น้ำและปุ๋ยต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง การรดน้ำควรรดน้ำให้ชุ่มโชกถึงราก สังเกตจากน้ำไหลผ่านก้นกระถางลงมา หากปล่อยให้วัสดุปลูกแห้งจนรากกระทบกระเทือน อาจทำให้ต้นตายได้ ส่วนการให้ปุ๋ยใช้ปุ๋ยเม็ดละลายช้าเพียงเล็กน้อยในช่วงเริ่มปลูก

ให้ต้นแข็งแรงตั้งตัวได้ หลังจากนั้นจึงงดปุ๋ย แล้วต้นจะผลิหม้อออกมาเยอะ อย่างไรก็ตามกาบมะพร้าวไม่มีธาตุอาหาร จึงควรให้ปุ๋ยบ้างตามความเหมาะสม

เทคนิคการเลี้ยงต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง นอกจากความสมบูรณ์ สวยงามของภาพรวมแล้ว อีกหนึ่งสิ่งที่เป็นจุดเรียกคะแนนในเวทีประกวด คือ “หม้อ” อันเป็นเอกลักษณ์พิเศษของหม้อข้าวหม้อแกงลิง

คุณจำนัญเผยเคล็ด(ไม่)ลับ ของเขาว่าการที่หม้อข้าวหม้อแกงลิงจะผลิหม้อที่สมบูรณ์ สวยงาม ได้ ต้องอาศัยปัจจัยสำคัญ คือ น้ำ และแสง ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นแล้ว แต่เทคนิคพิเศษที่นักประกวดอย่างเขาใช้มาตลอด จนมีชื่อของจำนัญอยู่ทุกสนาม นั่นคือ การเลี้ยงหม้อข้าวหม้อแกงลิงให้สวย “เชพบ๊ะ” เข้าตากรรมการ โดยใส่ปุ๋ยเม็ดละลายช้ามากกว่าปกติ 1 เท่า ในช่วงเปลี่ยนดินหรือกระถาง เพื่อให้ต้นได้รับธาตุอาหารเพียงพอ และเป็นการสร้างฟอร์มให้มีใบขนาดใหญ่ แต่ไม่มีหม้อ

เมื่อต้นสมบูรณ์ได้ฟอร์มตามต้องการแล้ว จึงงดปุ๋ยโดยเด็ดขาด เพราะโดยธรรมชาติของหม้อข้าวหม้อแกงลิงจะเจริญได้ดีในดินที่ขาดความอุดมสมบูรณ์ เมื่อขาดปุ๋ยต้นจะเร่งสร้างใบใหม่ เพื่อมีหม้อสำหรับเป็นกับดักล่อเหยื่อ จะทำให้ได้หม้อที่มีขนาดใหญ่ และหม้อติดทุกใบ วิธีนี้คล้ายคลึงกับการอดน้ำ-อดปุ๋ยในไม้ดอก เพื่อบังคับให้ดอกดกเป็นพิเศษนั่นเอง

สถานที่ที่พบ ต้นหม้อข้าวหม้อแกงลิง หากจำแนกตามถิ่นที่พบสามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่มใหญ่ๆ คือ
-กลุ่มโลว์แลนด์ (Lowland Pitcher Plant) พบตั้งแต่พื้นราบไปจนถึงพื้นที่สูงไม่เกิน 1,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล เช่น N. mirabilis และ N. ampullaria เป็นต้น

-กลุ่มไฮแลนด์ (Highland Pitcher Plant) พบในพื้นที่สูงตั้งแต่ 1,000-3,000 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีสภาพเป็นภูเขาสูง อากาศเย็น ฝนตกชุก และมีความชุ่มชื้นสูง มีรูปทรงและสีสันงดงามกว่ากลุ่มโลว์แลนด์ เช่น N. spectabilis เป็นต้น

“ผู้ปลูกเลี้ยงใหม่สามารถเลี้ยงได้ทุกตัว โดยเฉพาะลูกผสม ยิ่งมีความหลากหลายทางพันธุกรรมสูง ทนทาน ปลูกเลี้ยงง่าย ส่วนใหญ่เป็นไม้กลุ่มโลว์แลนด์ แต่ถ้าเป็นไม้กลุ่มไฮแลนด์จะเลี้ยงได้ยากกว่า สามารถพบในธรรมชาติมากกว่า” คุณจำนัญกล่าว

สายพันธุ์หม้อข้าวหม้อแกงลิง ปัจจุบันร้านแห่งนี้มีหม้อข้าวหม้อแกงลิงมากกว่า 20 สายพันธุ์ พันธุ์ยอดฮิต คือ พันธุ์หม้อสีแดงต่างๆ เช่น N. ampullaria ทางการค้ามักเรียกสั้นๆว่า “แอม” โดยเฉพาะพันธุ์สีแดง ลักษณะเด่น คือ ใบหนา และมีขนนุ่มปกคลุมผิวใบ หม้อค่อนข้างกลม หรือเป็นกระเปาะ มีจุดประสีน้ำตาลแดง เมื่อต้นมีขนาดใหญ่มักมีหม้อผุดขึ้นที่โคนต้น และบริเวณไหล ปัจจุบันเป็นชนิดที่ได้รับความนิยมในหมู่นักสะสม

ไทเกอร์ สุราษฏร์ธานี ผิวด้านนอกหม้อมีลายประสีแดง ภายในหม้อมีลายประชัดเจน ปากหม้อสีแดงเหลืองอมเขียว หรือมีลายริ้ว นอกจากนี้ยังมีพืชกินแมลงชนิดอื่นๆ เช่น หยาดน้ำค้าง เป็นต้น และเฟินต่างๆ เช่น เฟินสาย และเฟินชายผ้าสีดา เป็นต้น

ด้านตลาดและช่องทางจำหน่ายหม้อข้าวหม้อแกงลิง
กลุ่มลูกค้าส่วนใหญ่เป็นกลุ่มพนักงานบริษัท ครูอาจารย์ นักศึกษา และบุคคลทั่วไปที่สัญจรผ่านไป-มา ส่วนช่องทางจำหน่ายมีหน้าร้านอยู่ตลาดต้นไม้ศูนย์การเรียนรู้ฯ ภาคใต้ ริมถนนเลี่ยงเมือง

เจ้าของร้านเล่าสถานการณ์ปัจจุบันว่าตลาดพืชสกุลนี้ยังถือว่าขายดี เพราะมีลูกเล่น สีสันสวยงาม สะดุดตา และลักษณะเด่นเฉพาะของแต่ละสายพันธุ์ หรือถิ่นกำเนิด บางชนิดปากหม้อเป็นแฉก บางชนิดหม้อยืดออกเป็นรูปกรวย ก้นแหลม เป็นต้น

ประโยชน์จากหม้อข้าวหม้อแกงลิง
ดังนั้นการนำมาใช้ประโยชน์จึงสามารถทำได้หลายรูปแบบ เช่น ปลูกเป็นไม้กระถาง ไม้แขวน ปลูกประดับชั้น หรือตู้โชว์ ปลูกให้เกาะอยู่กับกิ่งไม้ หรือจะจัดสวนในขวดแบบระบบปิดก็สวยเก๋ไก๋ไม่แพ้กัน