นพ.ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า อาการบ้านหมุน เป็นปัญหาสุขภาพที่สร้างความรำคาญและกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันอย่างมาก ทำให้ผู้ป่วยที่มีอาการเวียนศีรษะระหว่างทำงานหรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรอาจเกิดอันตรายได้
อาการที่พบได้บ่อยคือ เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน หน้ามืดคล้ายจะเป็นลม
ทรงตัวลำบาก บ้านหมุนคล้ายกับสิ่งแวดล้อมรอบตัวหมุน
หรือรู้สึกว่าตัวเองหมุนทั้งที่ไม่มีการเคลื่อนไหว อาจมีอาการทางหูร่วมด้วย
เช่น หูอื้อ มีเสียงในหู เป็นต้น
สาเหตุของอาการบ้านหมุน มักเกิดจากสาเหตุของหูชั้นใน
หรือระบบประสาทก็ได้ โดยทั่วไปถ้ามีอาการเวียนศีรษะรุนแรง
ผู้ป่วยมักจะไม่สามารถเคลื่อนไหวศีรษะได้
หรืออาการเลวลงเมื่อมีการขยับหรือเปลี่ยนตำแหน่งของศีรษะ
ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน หูอื้อ หรือมีเสียงดังในหู เช่น
น้ำในหูไม่เท่ากันหรือหินปูนในหูหลุด
คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าอาการบ้านหมุนเกิดจากน้ำในหูไม่เท่ากัน
แต่จากการศึกษาพบว่ามีเพียงร้อยละ 50 ที่เกิดจากความผิดปกติของหูชั้นใน
เช่น โรคน้ำในหูไม่เท่ากัน พบร้อยละ 10 โดยผู้ป่วยจะมีอาการบ้านหมุน หูอื้อ
ร่วมกับการได้ยินของหูข้างนั้นลดลง
ส่วนอาการเวียนศีรษะจากสาเหตุของโรคทางระบบประสาท เช่น โรคหลอดเลือดสมอง
มักมีอาการเวียนศีรษะทันทีทันใด โดยที่มีความรุนแรงไม่มาก
ร่วมกับมีอาการทางระบบประสาทร่วมด้วย เช่น ตาเหล่หรือเห็นภาพซ้อน พูดไม่ชัด
ปากเบี้ยว แขนขาชาหรืออ่อนแรง เดินลำบาก หรือทรงตัวไม่ได้
ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจอย่างละเอียดทันที
ส่วนสาเหตุอื่นๆ ของการเวียนศีรษะอาจเกิดจากอาการเมารถ เมาเรือ
หรือปวดศีรษะไมเกรนได้
ดังนั้น
การวินิจฉัยโรคที่ถูกต้องจึงมีความสำคัญกับผู้ป่วย
เพราะถ้าได้รับการรักษาในระยะแรกจะได้ผลดี หากสงสัยว่าตนเองมีความผิดปกติ
รู้สึกเวียนศีรษะ บ้านหมุนโดยที่ไม่เคยเป็นมาก่อน หรือมีประวัติโรคหู
ควรไปพบแพทย์ เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยหาสาเหตุและรับการรักษาที่ถูกต้อง
รองอธิบดีกรมการแพทย์กล่าวเพิ่มเติมว่า
สำหรับรายที่มีอาการเวียนศีรษะ และอาเจียนมากๆ
จะทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว ส่งผลทำให้ความดันในเลือดต่ำและอาจเกิดภาวะช็อก
ทำให้เกิดอันตรายได้
ทั้งนี้เมื่อมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนขณะทำกิจกรรมต่างๆ ควรหยุดนั่งพัก
เพื่อป้องกันการหกล้ม กรณีที่มีอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุนมากๆ
ควรนอนพักสักครู่จนอาการดีขึ้น หรือนั่งพัก หลับตา และรีบไปพบแพทย์
นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการเลวลง เช่น การหันศีรษะไวๆ
การเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว การก้ม-เงยคอนานๆ ความเครียด วิตกกังวล
อดนอน เป็นต้น ควรงดดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
รวมถึงรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ พักผ่อนให้เพียงพอและออกกำลังกายสม่ำเสมอ จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคได้.
"เมื่อมีอาการเวียนศีรษะบ้านหมุนขณะทำกิจกรรมต่างๆ
ควรหยุดนั่งพัก เพื่อป้องกันการหกล้ม
กรณีที่มีอาการเวียนศีรษะหรือบ้านหมุนมากๆ ควรนอนพักสักครู่จนอาการดีขึ้น
หรือนั่งพัก หลับตา และรีบไปพบแพทย์
นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้อาการเลวลง เช่น การหันศีรษะไวๆ
การเปลี่ยนอิริยาบถอย่างรวดเร็ว การก้ม-เงยคอนานๆ ความเครียด วิตกกังวล
อดนอน"