รู้จักบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม โรคจิตเวชที่ทำให้คนชอบแหกกฎ นึกถึงแต่ตัวเอง

 

บุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม ไม่เพียงแค่แสดงออกด้วยการดื้อด้าน ไม่ยอมทำตามกฎกติกา แต่อาจพัฒนาไปเป็นความรุนแรงต่อผู้อื่นได้ด้วยเหมือนกัน

โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม

           บุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม หนึ่งในโรคทางจิตเวช ที่มักพบได้ตั้งแต่วัยเด็กและวัยรุ่น แม้ผู้ใหญ่จะมองว่าเป็นแค่เด็กดื้อคนหนึ่ง ทว่าลึก ๆ แล้วเขาอาจป่วยอยู่ก็ได้ ดังนั้นก่อนที่จุดเล็ก ๆ จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ที่บานปลาย เราจะพามารู้จักโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมว่าอาการเป็นอย่างไร มีวิธีรักษาไหม หรือป้องกันก่อนป่วยได้หรือเปล่า

บุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม
โรคทางจิตเวชที่ต้องทำความเข้าใจ

โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม

           โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม หรือชื่อภาษาอังกฤษว่า Antisocial Personality Disorder (ASPD) จัดเป็นความผิดปกติของบุคลิกภาพรูปแบบหนึ่งที่แสดงออกในลักษณะก้าวร้าว ฝ่าฝืนกฎระเบียบ โดยคิดถึงแต่ตัวเองโดยไม่สนใจคนอื่น และมีแนวโน้มจะใช้ความรุนแรง ปัจจุบันพบได้บ่อยในสังคมใกล้ตัวของเรา และมักเป็นกันได้ตั้งแต่เด็ก ซึ่งหากรู้ไม่เท่าทัน ไม่ได้ปรับพฤติกรรมอย่างถูกต้อง ยิ่งโตก็ยิ่งมีอาการรุนแรงมากขึ้นเรื่อย ๆ

บุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม
เกิดจากอะไร

          สาเหตุของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ดังนี้

  • ความผิดปกติทางสมองและสารสื่อประสาท

  • มีประวัติคนในครอบครัวมีบุคลิกภาพผิดปกติ

  • การเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมตั้งแต่เด็ก เช่น พ่อแม่ปล่อยปละละเลย ไม่ดูแล หรือพ่อแม่ตามใจจนเกินไป ทำให้เด็กขาดระเบียบวินัย ควบคุมความต้องการไม่ได้ กลายเป็นเด็กเอาแต่ใจตนเอง

  • การถูกกระทำรุนแรง เช่น ถูกละเมิดทางเพศ ถูกทำร้ายร่างกาย

  • สภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น อยู่ในครอบครัวที่ใช้ความรุนแรงต่อกัน หรือคนใกล้ชิด เช่น พ่อแม่ ครู เพื่อน มีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ทำให้เด็กเลียนแบบพฤติกรรมเหล่านั้น

บุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม
อาการเป็นอย่างไร

โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม

          แม้เด็กและวัยรุ่นทั่วไปอาจมีความซุกซนหรือดื้อบ้างเป็นเรื่องปกติ แต่สำหรับคนที่เป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม จะต้องมีพฤติกรรมที่เข้าเกณฑ์ตามคู่มือการวินิจฉัยโรคทางจิตเวชของสมาคมจิตแพทย์อเมริกัน ฉบับที่ 5 (DSM-5) อย่างน้อย 3 ใน 7 อาการ ดังนี้

     1. มักฝ่าฝืนกฎระเบียบ ไม่ยอมทำตามกฎกติกาที่ไม่ถูกใจ ซึ่งอาจพัฒนาเป็นการทำผิดกฎหมายซ้ำแล้วซ้ำเล่า

     2. มีพฤติกรรมไม่ซื่อสัตย์ หลอกลวง พูดปด โกหกหน้าตาย เพื่อให้ได้มาซึ่งสิ่งที่ต้องการ นึกถึงความพอใจของตัวเองเป็นหลัก โดยไม่สนใจว่าคนอื่นจะรู้สึกอย่างไร 

     3. ไม่สามารถวางแผนล่วงหน้าได้ หุนหันพลันแล่น ขาดสติยั้งคิด ควบคุมตัวเองไม่ได้  

     4. โมโหง่าย หงุดหงิดง่าย มีพฤติกรรมก้าวร้าว รุนแรง ทั้งต่อตนเอง ผู้อื่น หรือแม้แต่สัตว์ต่าง ๆ รวมทั้งการทำลายข้าวของสาธารณะ

     5. บ้าระห่ำ ขาดความยับยั้งชั่งใจ มักชอบเสี่ยงอันตรายโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเองและผู้อื่น ไม่สนว่าการกระทำนั้นจะส่งผลต่อใครยังไงบ้าง

     6. ขาดความรับผิดชอบอย่างต่อเนื่อง ไม่ทำตามข้อตกลงที่ให้ไว้

     7. มีพฤติกรรมรังแกผู้อื่น ลักขโมย ไม่มีความสำนึกผิด ขาดความเห็นใจผู้อื่น และพยายามหาเหตุผลมาเข้าข้างตัวเอง

          โดยอาการเหล่านี้ต้องไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอาการจิตเภท (Schizophrenic) หรืออาการคลุ้มคลั่ง (Manic Episode) แต่เป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพและพฤติกรรมในชีวิตประจำวันของบุคคลนั้น ๆ

          อย่างไรก็ตาม ในการวินิจฉัยว่าเป็นโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมหรือไม่นั้น จะทำได้เมื่อมีอายุ 18 ปีขึ้นไป และเคยได้รับการวินิจฉัยว่ามีพฤติกรรมเกเรรุนแรง (Conduct Disorder) ก่อนอายุ 15 ปี

บุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม
อันตรายอย่างไร

โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม

           เนื่องจากโรคนี้จะทำให้ผู้ป่วยมีบุคลิกภาพที่ก้าวร้าว โมโหง่าย ขาดความยับยั้งชั่งใจ ที่สำคัญคือไม่มีความสำนึกผิด ไม่เห็นใจคนอื่น หากไม่รีบบำบัดรักษาอาจนำไปสู่การกระทำผิดต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสังคมได้ เช่น การหลอกลวง ต้มตุ๋น ใช้สารเสพติด ชอบใช้ความรุนแรง ทำร้ายร่างกาย หรือร้ายแรงถึงขั้นก่ออาชญากรรมได้เลย

บุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม
รักษาได้ไหม

          ทางการแพทย์มีวิธีการรักษาอยู่หลายแนวทาง เช่น การบำบัดพฤติกรรม (Cognitive Behavioural Therapy) ตามความเหมาะสมของผู้ป่วยแต่ละคน เช่น การบำบัดอาการติดสุรา ติดสารเสพติด รวมไปถึงการเรียนรู้วิธีควบคุมตนเอง หรือการบำบัดแบบกลุ่ม (Democratic Therapeutic Communities) และอาจมีการใช้ยาปรับสารเคมีในสมองร่วมด้วย โดยวิธีรักษาก็ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์เจ้าของไข้

          อย่างไรก็ตาม การรักษาโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมทำได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากส่วนใหญ่จะติดเป็นนิสัย หรือเป็นบุคลิกของเจ้าตัวไปแล้ว ที่สำคัญผู้ป่วยก็มักไม่รู้สึกว่าตัวเองผิดปกติ รวมไปถึงคนรอบข้างก็อาจคิดไม่ถึงโรคจิตเวชแบบนี้ จึงทำให้เข้าสู่กระบวนการรักษาล่าช้า หรือพามารักษาไม่ได้เลย

บุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม
ป้องกันได้ไหม

โรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม

           จิตแพทย์จะแนะนำวิธีการป้องกันโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคม โดยเริ่มต้นตั้งแต่การเลี้ยงดูในวัยเด็กอย่างเหมาะสม ผู้ปกครองควรส่งเสริมให้เด็กมีความมั่นคงทางอารมณ์ เรียนรู้ที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ฝึกความรับผิดชอบ ฝึกการควบคุมอารมณ์ และที่สำคัญคือผู้ปกครองก็ควรเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็ก ๆ พร้อมกับสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตอย่างมีคุณภาพของเด็ก ๆ ด้วย
           อย่างไรก็ตาม ถ้าสังเกตเห็นอาการของโรคบุคลิกภาพผิดปกติแบบต่อต้านสังคมได้ไวตั้งแต่เด็ก ก็จะพาเขาไปพบจิตแพทย์เพื่อหาแนวทางการดูแลที่ถูกต้องเหมาะสมได้ง่าย ดังนั้นใครมีบุตรหลานเล็ก ๆ หรืออยู่ในช่วงวัยรุ่น ก็อย่าลืมใส่ใจเด็ก ๆ กันมาก ๆ หากพบอาการผิดปกติก็ควรพูดคุยกับเขาอย่างมีเหตุผล พร้อมพาไปปรึกษาคุณหมอนะคะ