คันก้น บริเวณรูทวาร เกิดจากอะไรได้บ้าง ใช่พยาธิไหม

 

คันก้น คันรูทวาร จะใช่สัญญาณที่บอกว่าร่างกายเรามีพยาธิหรือเปล่า ใครคันก้นบ่อย ๆ ต้องเช็กหน่อยแล้วว่าเกิดจากอะไรกันแน่

อาการคันก้น คันรูทวารหนัก พบได้ในทุกเพศทุกวัย และเมื่อเกิดอาการคันขึ้นมาก็สร้างทั้งความรำคาญและยังเสียบุคลิกเวลาที่เราเกาด้วย โดยเฉพาะคนที่คันก้น คันรอบรูทวารบ่อย ๆ คงอยากรักษาอาการคันก้น คันรูทวาร ให้หายไว ๆ งั้นลองเช็กดูก่อนว่าคันรูทวารเกิดจากอะไรได้บ้าง ต้องกินยาถ่ายพยาธิไหม หรือควรรักษาด้วยวิธีไหนดี

คันรูทวารหนัก เกิดจากอะไร ทำไมถึงคันก้น
คันก้น

          สาเหตุของอาการคันรูทวาร มีอยู่หลายปัจจัยด้วยกัน ทั้งเรื่องของอาหารการกิน การรักษาความสะอาด ไปจนโรคที่เป็นอยู่ ได้แก่

     1. ขาดสุขลักษณะที่ดี เช่น ล้างก้นไม่สะอาดหลังถ่ายอุจจาระ เช็ดก้นไม่แห้งก่อนสวมกางเกงชั้นใน

     2. การใส่กางเกงที่คับ รัดรูป เสี่ยงต่อความอับชื้น

     3. ภาวะอ้วน น้ำหนักเกิน ที่อาจทำให้เกิดความอับชื้นที่ทวารหนักตลอดเวลา

     4. การใช้กระดาษชำระเช็ดรูทวารแรงเกินไปจนทำให้เนื้อเยื่อรอบ ๆ รูทวารหนักระคายเคือง

     5. กินอาหารรสจัด อาหารที่มีเครื่องเทศ อาหารที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ ซึ่งมีฤทธิ์ระคายเคือง และอาจกระตุ้นอาการคันทวารหนัก

     6. อาการแพ้หรือการระคายเคืองจากผลิตภัณฑ์ เช่น กระดาษชำระ สบู่ ผงซักฟอก น้ำยาซักผ้า แป้ง น้ำยาปรับผ้านุ่ม ยาเหน็บ รวมถึงการระคายเคืองที่เกิดจากกางเกงชั้นใน หรือผ้าอนามัย เป็นต้น

     7. การกินยาปฏิชีวนะ ยาเคมีบำบัด หรือยารักษาสิวบางตัว ที่มีฤทธิ์ทำลายแบคทีเรียเจ้าถิ่น ทำให้แบคทีเรียชนิดไม่ดีเติบโตและคุกคามผิวหนังของเราได้

     8. ความเครียดที่อาจทำให้ภูมิตก และส่งผลให้เชื้อโรคหรือแบคทีเรียอาละวาดได้

     9. สารปนเปื้อนในอุจจาระ ที่มักจะมาพร้อมอาการท้องเสียหรือการถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติ

     10. เหงื่อออกมาก ทำให้ทวารอับชื้นตลอดเวลา

     11. มีอาการภูมิแพ้ ทำให้มีผื่นขึ้น

     12. โรคผิวหนังจากการติดเชื้อรา ยีสต์ หรือไวรัสที่ก่อโรค เช่น หูดหงอนไก่ เริม เซ็บเดิร์ม หรือโรคสะเก็ดเงิน    

     13. การมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักแล้วติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

     14. ท้องผูกเรื้อรัง หรือกลั้นอุจจาระไม่อยู่ ทำให้มีอุจจาระไหลซึมออกมารอบปากทวารหนัก

     15. โรคริดสีดวงทวารหนัก

     16. การติดเชื้อจากพยาธิเข็มหมุดหรือพยาธิเส้นด้าย

     17. ฝีคัณฑสูตร

     18. โรคเรื้อรังบางชนิด เช่น เบาหวาน ดีซ่าน ไทรอยด์ โรคไต

     19. อาการข้างเคียงของโรคมะเร็งผิวหนัง มะเร็งต่อมน้ำเหลือง หรือมะเร็งเม็ดเลือดขาว

เราจะสังเกตอาการคันก้นได้อย่างไร

          อาการคันก้นเกิดจากหลายสาเหตุ อาการคันรูทวารก็จะแตกต่างอยู่บ้างเหมือนกัน เช่น หากเกิดจากการระคายเคืองจะมีอาการคันยุบยิบ ๆ รอบรูทวารหนัก บางรายคันมากจนต้องลงมือเกาก้น ส่วนอาการคันรูทวารจากพยาธิเข็มหมุดมักจะคันรูทวารโดยเฉพาะตอนกลางคืน รวมไปถึงอาจมีอาการปวดท้อง เบื่ออาหาร คันช่องคลอด หรือตกขาวมากขึ้น เมื่อพยาธิชอนไชผ่านทางเยื่อบุลำไส้

          ส่วนคนที่มีอาการคันริดสีดวงทวาร หรือคันรูทวารจากฝีคัณฑสูตร จะมีอาการบวมบริเวณทวารหนักหรือแก้มก้น และมักจะคันร่วมกับเจ็บรอบ ๆ รูทวารหนักตลอดเวลา นอกจากนี้อาจพบเลือดและน้ำเหลืองไหลออกมาจากทวารหนัก หรือพบว่ามีหนองหรือเลือดปนมากับอุจจาระ และบางรายอาจมีไข้สูง ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน

คันก้น คันรูทวารหนัก รักษาอย่างไร
คันก้น

          เนื่องจากมีปัจจัยมากมายที่ทำให้เราคันก้น หรือคันรูทวารหนัก ดังนั้น วิธีรักษาอาการคันรูทวารก็ควรรักษาที่ต้นเหตุ อย่างถ้าเกิดจากความอับชื้น ไม่สะอาด ก็ต้องรักษาความสะอาดให้มากขึ้น หรืออาจปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ว่าสามารถกินยาแก้คัน หรือใช้ยาทาแก้คันได้ไหม ถ้าอาการคันเกิดเพราะการระคายเคืองจากการใช้ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ก็ลองเปลี่ยนยี่ห้อใหม่ดู

          ส่วนคนที่มีอาการคันรูทวารจากยาที่กินอยู่ก็ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรเรื่องการปรับเปลี่ยนยา แต่หากตรวจพบพยาธิเข็มหมุดหรือพยาธิเส้นด้าย ก็ควรรับประทานยาถ่ายพยาธิที่เภสัชกรหรือแพทย์เป็นคนสั่งจ่าย และสำหรับคนที่คันรูทวารจากโรคริดสีดวงทวารหนัก หรือโรคอื่นที่เป็นอยู่ ก็จำเป็นต้องรักษาโรคหลักที่เป็นอยู่ก่อน

          อย่างไรก็ตาม หากพบแผลที่รูทวารหรือมีอาการคันก้นมาก ๆ ร่วมกับแสบ หรือมีความผิดปกติอื่น ๆ ควรรีบไปตรวจรักษากับแพทย์โดยเร็วนะคะ

ไม่อยากคันรูทวาร ควรป้องกันอย่างไร

          ไม่อยากเกาก้นจนเสียบุคลิก มาป้องกันอาการคันทวารหนักตามนี้ดีกว่า

     * รักษาความสะอาดให้ดี

     * ซับทวารหนักให้แห้งก่อนสวมกางเกง

     * หลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้ารัดแน่นจนเกินไป

     * เลือกชุดชั้นในที่มีเนื้อผ้าระบายอากาศได้ดี เช่น ผ้าฝ้าย เพื่อป้องกันความอับชื้น   

     * ไม่เช็ดก้นด้วยทิชชูแห้งแรง ๆ แต่หากไม่มีสายชำระแนะนำให้ใช้ทิชชูเปียกทำความสะอาดทวารหนักแทน

     * ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัด อาหารที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์ หรืออาหารประเภทนม อาหารที่ย่อยยาก ที่อาจกระตุ้นอาการท้องเสียหรือทำให้ถ่ายอุจจาระบ่อยกว่าปกติ

     * เปลี่ยนผลิตภัณฑ์ที่ใช้ทำความสะอาดทวารหนัก หรือผลิตภัณฑ์น้ำยาซักผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม ที่ใช้ทำความสะอาดเสื้อผ้าที่สวมใส่

     * รักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในมาตรฐาน

     * รับประทานอาหารสุก ร้อน สะอาด เพื่อหลีกเลี่ยงพยาธิ

     * พยายามอย่าเครียด

          อย่างไรก็ตาม แม้จะคันรูทวารมากก็ไม่แนะนำให้เกานะคะ เพราะนอกจากจะเสียบุคลิกแล้ว การเกาก้นหรือรูทวารจะยิ่งทำให้คัน และอาจได้รับเชื้อโรคติดเล็บกลับมาด้วย ซึ่งเสี่ยงต่อการลุกลามของเชื้อโรค โดยเฉพาะหากไม่ล้างมือให้สะอาด แล้วไปหยิบจับอาหาร หรือสัมผัสร่างกายส่วนอื่น ๆ 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรงพยาบาลเวชธานี
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์
โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน