โรคหูดับ โรคที่คนติดเชื้อได้ง่าย ๆ จากการกินเนื้อสัตว์สุก ๆ ดิบ ๆ และเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus suis ก็อันตรายกว่าที่คิด ทำหูหนวก เป็นอัมพาต หรืออาจถึงตาย !
ในทุก ๆ
ปีเราจะเห็นข่าวว่ามีคนเสียชีวิตจากโรคไข้หูดับ หรือโรค Streptococcus suis
ซึ่งโรคไข้หูดับก็เป็นโรคจากการติดเชื้อแบคทีเรีย
มีความรุนแรงตั้งแต่เป็นไข้ ท้องร่วง คอแข็ง ปวดศีรษะรุนแรง
หลอดเลือดอักเสบ เสียชีวิต หรือหากรอดชีวิตมาได้ อาจกลายเป็นคนพิการ หูหนวก
หรือเป็นอัมพาตครึ่งซีก
ซึ่งจุดเริ่มต้นของอาการเหล่านี้ก็มาจากพฤติกรรมกินอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ
โดยเฉพาะเนื้อหมูที่ไม่สุก 100%
เอาเป็นว่าเรามาศึกษาให้ชัดกันอีกทีดีกว่าว่า โรคหูดับ หรือไข้หูดับ คือโรคอะไร เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดไหน และเนื้อหมูมีความอันตรายถึงตายได้ยังไงกัน
เอาเป็นว่าเรามาศึกษาให้ชัดกันอีกทีดีกว่าว่า โรคหูดับ หรือไข้หูดับ คือโรคอะไร เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดไหน และเนื้อหมูมีความอันตรายถึงตายได้ยังไงกัน
โรคหูดับ คืออะไร
โรคไข้หูดับหรือชื่ออย่างเป็นทางการว่าโรคสเตรปโตค็อกคัส ซูอิส เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Streptococcus suis ซึ่งเป็นแบคทีเรียชนิดที่พบในสุกรเกือบทุกตัว โดยเชื้อตัวนี้จะฝังตัวอยู่ในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น เช่น ในโพรงจมูก และในต่อมทอนซิลของหมู หรืออาจพบเชื้อ Streptococcus suis ในช่องคลอดของแม่สุกรได้ ซึ่งจะเป็นแหล่งรังโรคที่สามารถแพร่เชื้อไปยังลูกสุกร หรือสุกรตัวอื่น ๆ ได้
กล่าวคือโรคไข้หูดับมีแหล่งกำเนิดโรคมาจากหมูที่เป็นอาหารของมนุษย์อย่างเรา ๆ นั่นเองค่ะ แต่เชื้อแบคทีเรียชนิดนี้ก็ไม่ได้จบลงที่หมูเท่านั้น ทว่ายังสามารถติดต่อมาสู่คนได้ด้วยนะ
โรคหูดับ ติดต่อจากสัตว์สู่คนได้อย่างไร
เชื้อแบคทีเรีย Streptococcus suis สามารถติดต่อจากสุกรมาสู่คนได้ 2 ทาง ดังนี้
1. ผ่านทางบาดแผล รอยถลอก เยื่อบุตา
การสัมผัสกับหมูที่ติดเชื้อ ทั้งเนื้อหมู เครื่องในหมู เลือดของหมูที่เป็นโรค เป็นหนทางสู่การติดเชื้อจากสุกรสู่คนได้ เช่น มือเป็นแผลหรือมีรอยขีดข่วนแล้วไปหั่นหมูดิบที่มีเชื้อสเตรปโตค็อกคัส ซูอิส ปนเปื้อนอยู่
2. การบริโภคเนื้อหมูไม่สุก
การบริโภคเนื้อหมูสุก ๆ ดิบ ๆ จากอาหารประเภทลาบ หลู้หมูดิบ หมูกระทะ ปิ้งย่าง สเต๊ก หรือหมูจุ่มที่เนื้อหมูสุกไม่ 100% ก็เป็นอีกหนึ่งช่องทางการติดต่อของเชื้อ streptococcus suis จากสุกรสู่คนได้
โรคหูดับ ใครเสี่ยงบ้าง
- เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร
- ผู้ที่ทำงานในโรงฆ่าสัตว์ (ทุกหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการดุแลสุกร การล้างทำความสะอาดคอกหมู)
- ผู้ชำแหละเนื้อสุกร
- สัตวบาล
- สัตวแพทย์
- คนที่ชอบรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ
โรคหูดับ อาการเป็นอย่างไร
ผู้ป่วยที่ได้รับเชื้อ Streptococcus suis เข้าสู่ร่างกายภายใน 3-5 วัน จะมีอาการไข้ขึ้นสูง ปวดศีรษะอย่างรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน คอแข็ง ท้องเสีย ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และในกรณีที่เชื้อเข้าสู่กระแสเลือดและลุกลามไปสู่เยื่อหุ้มสมอง เจ้าเชื้อแบคทีเรียชนิดนี้จะทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบ ข้ออักเสบ ม่านตาอักเสบตามมา
และเนื่องจากเยื่อหุ้มสมองอยู่ใกล้กับปลายประสาทหูชั้นในทั้งสองข้าง เชื้อจึงสามารถลุกลามและทำให้เกิดหนองบริเวณปลายประสาทรับเสียงและประสาททรงตัว ทำให้หูตึง หูดับ จนกระทั่งมีอาการหูหนวก ร่วมกับอาการเวียนศีรษะและเดินเซตามมาได้ รวมทั้งเกิดอาการ Toxic Shock Syndrome ซึ่งอาการทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นภายใน 14 วัน หลังจากเริ่มมีอาการไข้
ทว่าหากผู้ป่วยเข้ารับการรักษาช้า อาจตกอยู่ในภาวะติดเชื้อในกระแสเลือดจนถึงแก่ชีวิตได้ และแม้จะรักษาจนมีชีวิตรอดกลับมา ก็อาจตกอยู่ในสภาวะคนพิการ เช่น กลายเป็นคนหูหนวกทั้งสองข้าง และเป็นอัมพาตครึ่งซีก
ทั้งนี้ กลุ่มเสี่ยงมีอาการป่วยรุนแรงถ้าติดเชื้อ ได้แก่ ผู้ติดสุราเรื้อรัง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน ไต มะเร็ง หัวใจ ผู้ที่เคยตัดม้ามออก เป็นต้น เนื่องจากร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่ำ
โรคหูดับ รักษาได้อย่างไร
โรคไข้หูดับสามารถรักษาให้หายได้ด้วยการให้ยาปฏิชีวนะกับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ ซึ่งระยะเวลาในการรักษาอาจยาวนานกว่า 2 สัปดาห์ และแม้แพทย์จะจัดการฆ่าเชื้อ Streptococcus suis ตัวร้ายได้ แต่การที่เชื้อเข้าไปทำลายเยื่อหุ้มสมองบางส่วน ก็อาจส่งผลให้ผู้ป่วยมีความพิการเหลืออยู่
อย่างไรก็ตาม การรักษาที่ทันท่วงที (รักษาตั้งแต่เชื้อเข้าสู่ร่างกายในระยะต้น ๆ) จะช่วยลดอัตราการเสียชีวิต และความพิการจากการติดเชื้อ Streptococcus suis ได้นะคะ
ไข้หูดับ ป้องกันได้
การไม่เปิดโอกาสให้เชื้อ Streptococcus suis เข้ามาสู่ร่างกายได้เป็นวิธีป้องกันโรคไข้หูดับที่ดีที่สุด ซึ่งวิธีป้องกันก็มีดังนี้ค่ะ
1. ควรบริโภคอาหารที่สุก ทำสดใหม่ โดยเฉพาะเนื้อหมูควรผ่านการปรุงสุกที่ความร้อนอย่างน้อย 70 องศาเซลเซียส ในเวลา 10 นาทีเป็นอย่างต่ำ ก่อนนำมารับประทาน
2. หากกินอาหารปิ้งย่าง หมูกระทะ ต้องปรุงให้สุกก่อนเสมอ และแยกอุปกรณ์ที่ใช้หยิบเนื้อหมูสุกและดิบออกจากกัน
3. ควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากตลาดสดหรือห้างสรรพสินค้าที่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐานจากโรงฆ่าสัตว์ ไม่ซื้อเนื้อหมูที่มีกลิ่นคาว สีคล้ำ
4. ดูแลสุขอนามัยของตัวเองให้ดี หลีกเลี่ยงการสัมผัสหมู เนื้อสัตว์ เลือดสัตว์ ด้วยมือเปล่า และควรล้างมือ ฟอกสบู่ทุกครั้งหลังสัมผัสเนื้อหมูสด ๆ
5. ไม่ควรนำหมูที่ป่วยหรือตายอย่างไม่ทราบสาเหตุมาบริโภค
6. หากมีอาการป่วย เช่น มีไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน ท้องร่วง หลังจากกินเนื้อหมูสุก ๆ ดิบ ๆ ภายใน 3 วัน ให้รีบไปพบแพทย์ด่วน
ในส่วนของฟาร์มสุกร ก็ต้องหมั่นทำความสะอาดและฆ่าเชื้อในโรงเรือนอย่างสม่ำเสมอ พร้อมทั้งให้ยาปฏิชีวนะในกลุ่ม Beta-lactam กับแม่สุกรใกล้คลอด และสุกรที่มีความเสี่ยงจะติดเชื้อโรค ที่สำคัญ ในส่วนของผู้ปฏิบัติงานทุกหน้าที่ในฟาร์มสุกรและโรงฆ่าสัตว์นั้น ควรต้องปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล โดยสวมรองเท้าบูท และสวมถุงมือระหว่างปฏิบัติงาน ซึ่งจะช่วยป้องกันการแพร่เชื้อจากสุกรมาสู่คนได้นะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานป้องกัน ควบคุมโรคที่ 9 พิษณุโลก
กรมปศุสัตว์