กินเค็มแค่ไหน? โรคไตจะไม่ถามหา แนะวิธีการเลิกกินเค็ม!!

กินเค็มแค่ไหน? โรคไตจะไม่ถามหา แนะวิธีการเลิกกินเค็ม!!

ชอบกินเค็ม อ่านแล้วรู้เเล้วเลิกซะถ้ายังรักสุขภาพตัวเอง เพราะปริมาณที่ร่างกายควรได้รับนั้น ถ้าเกินที่กำหนดไตพังแน่ นอน ถ้าอยากเลิกกินเค็มวันนี้มีวิธีเลิกกินเค็มมาฝากค่ะ


องค์การอนามัยโลก แนะนำว่า ในคนธรรมดาที่เป็นผู้ใหญ่ ควรกินโซเดียมไม่เกินวันละ 2,000 มิลลิกรัม หรือหมายถึง เกลือที่เราใช้ปรุงอาหารไม่เกิน 1 ช้อนชา

ผู้สูงอายุและคนไข้ความดันโลหิตสูง ควรกินโซเดียมน้อยกว่าคนธรรมดา คือไม่เกินวันละ 1,500 มิลลิกรัม ก็คือ เกลือประมาณสามในสี่ส่วนช้อนชา (3/4 ช้อนชา) เป็นต้น

เกลือ 1 ช้อนชา = โซเดียม 2,000 มิลลิกรัม

ผงชูรส 1 ช้อนชา = โซเดียม 610 มิลลิกรัม

น้ำปลา 1 ช้อนชา = โซเดียม 500 มิลลิกรัม

ปลาร้า 1 ช้อนชา = โซเดียม 500 มิลลิกรัม

กะปิ 1 ช้อนชา = โซเดียม 400 – 500 มิลลิกรัม

ซุปก้อน 1 ก้อน = โซเดียม 1,760 มิลลิกรัม

คนธรรมดากินเกลือได้ไม่เกินวันละ 1 ช้อนชา (2,000 มิลลิกรัม) ส่วนผู้สูงอายุ คนไข้เบาหวาน ความดันสูง ควรลดเกลือเหลือเพียง สามส่วนสี่ช้อนชา (ไม่เกินวันละ 1,500 มิลลิกรัม) *ช้อนชา หมายถึง ช้อนที่มีขนาดเล็กกว่าช้อนกินข้าว ใช้คนชาหรือกาแฟ หรือช้อนยาน้ำของเด็ก

อันตรายจากนิสัยติดกินเค็ม


คนไทยที่ชอบบริโภคอาหารเค็มจนเป็นนิสัย แนะนำให้เพลาๆ ลงบ้างนะคะ เพราะมีอันตรายกับสุขภาพร่างกายของเราไม่น้อยเลย และเป็นสาเหตุโรคร้ายแรง ถ้ายังไม่เลิกกินเค็ม คุณอาจมีอาการดังต่อไปนี้ได้ค่ะ

บวมน้ำ

การคั่งของเกลือและน้ำ เกิดจากร่างกายได้รับโซเดียมในปริมาณที่สูงเกินไป ถ้าสุขภาพร่างกายแข็งแรง ร่างกายก็จะกำจัดเกลือและน้ำส่วนเกินออกได้ แต่ในผู้ป่วยโรคไตมักมีปัญหา

เพราะไม่สามารถกำจัดเกลือและน้ำส่วนเกินออกได้ ทำให้แขนและขาบวม เหนื่อยง่าย แน่นหน้าอก สำหรับผู้ป่วยโรคหัวใจ อาจทำให้หัวใจวายง่ายขึ้นค่ะ

ความดันโลหิตสูง

พบมากในผู้สูงอายุผู้ป่วยโรคไต และผู้ป่วยโรคเบาหวาน ที่จะส่งผลเสียต่อหลอดเลือดในอวัยวะต่างๆ เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบตัน อัมพฤกษ์ อัมพาต

เป็นสาเหตุโรคไต

จากภาวะบวมน้ำ ไตต้องทำงานหนักขึ้น เพื่อเพิ่มการกรองโซเดียมและน้ำส่วนเกินในร่างกาย เป็นสาเหตุให้เกิดความดันในหน่วยไตสูงขึ้น เกิดการรั่วของโปรตีนในปัสสาวะมากขึ้น และทำให้ไตเสื่อมสภาพเร็วขึ้น ติดกินเค็ม สาเหตุโรคไต

วิธีแก้นิสัย ติดกินเค็ม

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของ คนกินเค็ม ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินที่คนเราจะทำได้ค่ะ วิธีที่เราจะทำก็คือต้องลดปริมาณความเค็มลงวันละนิด เพื่อปรับการรับรู้ของลิ้น และยังมีวิธีอื่นๆ ที่จะช่วยให้เราตระหนักและพยายามลดความเค็มลงได้ดังต่อไปนี้ค่ะ

ลดอาหารแปรรูป

อาหารที่ผ่านกระบวนการแปรรูปเช่น อาหารหมักดอง อาหารกระป๋อง เนื้อตากแห้ง จะมีส่วนผสมของเครื่องปรุงรสที่มีโซเดียมสูงมาก ควรลดเพื่อรักษาระดับโซเดียมไม่ให้เกินที่ร่างกายต้องการค่ะ

ฝึกอ่านฉลากโภชนาการ

ก่อนที่เราจะหยิบสินค้าลงตะกร้าจ่ายเงิน ลองพลิกดู ฉลากโภชนาการ สักนิด ว่าอาหารที่เราจะซื้อนี้มีปริมาณสารอาหารที่เป็นประโยชน์และไม่เป็นประโยชน์กับร่างกายของเรา ในปริมาณมากแค่ไหน จะได้ควบคุมการทานอาหารของตัวเองไปในตัวด้วยค่ะ

ดื่มน้ำเปล่า

ดื่มน้ำเปล่า แทนการดื่มเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูงเช่น น้ำอัดลม น้ำผลไม้บรรจุกล่อง เพราะเครื่องดื่มเหล่านี้มีการเติมสารกันบูด (โซเดียมเบนโซเอต) ทำให้เครื่องดื่มมีปริมาณโซเดียมสูง รสหวานก็ทำไตพังได้ค่ะ

ชิมก่อนปรุง

ก่อนจะกระหน่ำตักเครื่องปรุงใส่ในอาหาร ต้องลองชิมก่อนนะคะ บางครั้งอาหารก็มีรสชาติที่พอดีอยู่แล้ว แต่บางคนติดนิสัยตักเครื่องปรุง ยิ่งทำให้ปริมาณโซเดียมสูงปรี๊ดขึ้นไปอีก เพราะฉะนั้น ยั้งมือไว้ก่อนแล้วชิมอาหารก่อนปรุงนะคะ

อาหารทุกชนิดมีคุณค่า แต่เราต้องรู้จักเลือกทานอย่างพอดี เพื่อให้ร่างกายได้รับสารอาหารที่เพียงพอ จริงๆ แล้วไม่ใช่แค่อาหารเค็มหรอกค่ะที่ต้องระวัง ทั้งหวานและมันก็ด้วย เพราะทุกอย่างส่งผลต่อร่างกายหมดเลยนะคะ นั่นก็เพื่อสุขภาพที่ดีของคุณค่ะ

ขอขอบคุณ : finance.rabbit สสส., Jellywalker