เริ่มปรับเปลี่ยนเวลานอนตั้งแต่วันนี้ถ้าไม่อยากป่วย
สวัสดีค่ะ วันนี้เราจะมาพูดถึงกิจกรรมที่หลายๆ
คนต้องชื่นชอบกันอย่างแน่นอน ซึ่งก็คือ การนอนหลับ นั่นเองค่ะ
คุณประโยชน์ที่เราจะได้รับจากการนอนหลับพักผ่อนนั้นมีหลายประการ
แต่ผลลัพธ์ที่ชัดเจนก็คือ ในขณะที่คุณนอนหลับ
ระบบในร่างกายจะช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอจากการทำกิจกรรมหรือใช้ชีวิตมาตลอดวัน
อีกทั้งยังช่วยเติมเต็มพลังงานให้พร้อมสำหรับการใช้ชีวิตในวันต่อไปอีกด้วย
แต่หากพูดกันตามตรงแล้ว
ยังมีคุณผู้อ่านอีกหลายคนที่ใช้เวลาในการพักผ่อนได้อย่างไม่เต็มที่ด้วยภาระหน้าที่การงาน
เรียน ที่ต้องสะสางให้เสร็จสิ้น ซึ่งเป็นการกระทำที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง
เพราะมนุษย์เราในแต่ละวัยก็มีช่วงเวลาในการนอนที่แตกต่างกันไป
The National Sleep Foundation
จึงได้ค้นคว้าข้อมูลและให้คำแนะนำเกี่ยวกับจำนวนชั่วโมงที่เหมาะสมสำหรับการนอนในแต่ละช่วงอายุของมนุษย์
ซึ่งจะสอดคล้องกับพลังงานที่คุณต้องการใช้ในแต่ละวันทำให้สมองปลอดโปร่ง
และสภาพจิตใจที่มีสมาธิ
หากคุณนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายได้หลายปัจจัย
เช่นความเครียด เมื่อร่างกายหรือสมองของคุณเกิดความเครียด
จะเกิดการกระตุ้นสร้างฮอร์โมนคอร์ติซอล หรือฮอร์โมนความเครียดในปริมาณมาก
และฮอร์โมนชนิดนี้จะส่งผลต่อการนอนหลับ อาการเจ็บไข้ได้ป่วย
และความไม่สะดวกสบาย และถ้าหากคุณเป็นผู้ที่ชื่นชอบการเล่นสมาร์ทโฟน
หรืออุปกรณ์การสื่อสารอื่นๆ
ก่อนเข้านอนก็จะต้องได้รับแสงสีฟ้าที่ปล่อยออกมาจากอุปกรณ์สื่อสาร
ทำให้ร่างไม่สามารถผลิตฮอร์โมนเมลาโตนิน หรือฮอร์โมนที่ช่วยในการนอนหลับได้
เพราะฮอร์โมนชนิดนี้จะสามารถสร้างได้ในความมืดเท่านั้น
ปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงแต่รบกวนเวลาพักผ่อนอย่างเดียวเท่านั้น
คุณจะรู้สึกอ่อนเพลีย และเหนื่อยง่าย ขาดทักษะในการคิดวิเคราะห์ ตัดสินใจ
ขาดสมาธิ และเบื่ออาหาร เมื่อคุณนอนหลับน้อยกว่า 5 ชั่วโมง
จะส่งผลต่อสุขภาพหัวใจ นอนน้อยกว่า 7 ชั่วโมงทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้น
และเบาหวาน
เห็นมั้ยล่ะว่าอาการอดหลับอดนอนของเรานั้นส่งผลกระทบต่อร่างกายมหาศาลเลยทีเดียว
ลองมาดูกันดีกว่าว่าในแต่ละช่วงอายุนั้นควรใช้เวลาในการนอนหลับกี่ชั่วโมง
คู่มือสำหรับการนอนหลับ
Charles Czeisler ศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัย Harvard
ร่วมกับทีมผู้เชี่ยวชาญได้เริ่มเก็บข้อมูลและทำการวิจัย
ซึ่งรวมไปถึงงานวิจัยในช่วงปี 2004 – 2014
เพื่อที่จะค้นคว้าช่วงเวลาในการนอนหลับที่เหมาะสมของผู้คนในแต่ละวัย
และผลกระทบของการพักผ่อนไม่เพียงพอต่อสุขภาพ โดยสามารถสรุปได้ดังนี้
1. เด็กแรกเกิด (0-3 เดือน): 14-17 ชั่วโมง
2. ทารก (4-11 เดือน): 12-15 ชั่วโมง
3. เด็ก (1-2 ปี): 11-14 ชั่วโมง
4. เด็กก่อนวัยเรียน (3-5 ปี): 10-13 ชั่วโมง
5. เด็กวัยเรียน (6-13 ปี): 9-11 ชั่วโมง
6. วัยรุ่น (14-17 ปี): 8-10 ชั่วโมง
7. วัยหนุ่มสาว (18-25 ปี): 7-9 ชั่วโมง
8. ผู้ใหญ่ (26-64 ปี): 7-9 ชั่วโมง
9. ผู้สูงอายุ (มากกว่า 65 ปี): 7-8 ชั่วโมง
คงถึงเวลาแล้ว ที่เพื่อนๆ
จะต้องเริ่มปรับเปลี่ยนตารางการใช้ชีวิตและหันมาใส่ใจสุขภาพและการนอนของตนเองกันมากขึ้น
อย่าลืมนะคะว่าพื้นฐานของการทำกิจกรรมและการใช้ชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพก็มาจากการนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอควบคู่ไปกับการกินอาหารที่มีประโยชน์นั่นเอง
Sources: www.healthyfoodhouse.com www.myhealthylifeguide.net