ปวดแบบไหนกินพาราเซตามอลไม่หาย แถมอาจเพิ่มอันตรายให้อีก !

ยาพาราเซตามอล จัดว่าเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ใช้บรรเทาอาการปวดและอาการป่วยขั้นพื้นฐาน แต่ยาพาราเซตามอลก็ไม่ได้ช่วยรักษาได้ทุกอาการปวดหรอกนะ

          ถ้าพูดถึงยาแก้ปวด เราคงจะนึกถึงยาพาราเซตามอล (Paracetamol) เพราะเป็นยาแก้ปวดที่หาซื้อง่าย และมีติดอยู่ในทุกครัวเรือน โรงเรียน ที่ทำงาน หรือบางคนก็ถึงขั้นพกยาพาราเซตามอลติดกระเป๋าไว้เลยทีเดียว ทว่าอยากให้เข้าใจตรงกันไว้ ณ ที่นี้ค่ะว่า ยาพาราเซตามอลมีสรรพคุณลดอาการปวดจำกัด สามารถแก้ปวดได้เพียงอาการปวดขั้นอ่อนถึงขั้นปานกลางเท่านั้น นั่นหมายความว่า ยาพาราเซตามอลไม่ใช่ยาแก้ปวดครอบจักรวาลนั่นเอง

          โดยสรรพคุณของยาพาราเซตามอลนั้น ก็อย่างที่บอกไปค่ะว่ามีฤทธิ์บรรเทาอาการปวด ลดไข้ ในระดับที่ไม่รุนแรง กล่าวคือ หากมีอาการปวดหัวตุบ ๆ ที่ไม่ใช่ไมเกรน มีอาการปวดฟัน ปวดตา ปวดกล้ามเนื้อ ปวดข้อ ปวดประจำเดือน หรือมีไข้อ่อน ๆ ความเจ็บป่วยระดับเบาแบบนี้ยาพาราเซตามอลสามารถบรรเทาอาการให้ได้ เพราะฤทธิ์ของพาราเซตามอลจะเข้าไปยับยั้งสารเคมีบางตัวในสมองที่เกี่ยวข้องกับอาการปวด เช่น สารโพรสตาแกลนดิน (Prostaglandin) พร้อมทั้งจะช่วยลดอุณหภูมิในร่างกายหรือลดไข้ลงได้ แต่ทั้งนี้ก็ต้องใช้ยาให้ถูกวิธีด้วย​ ซึ่งเดี๋ยวเราจะบอกวิธีกินยาพาราเซตามอลที่ถูกต้องในช่วงต่อไป ทว่าตอนนี้เรามาเช็กกันดีกว่าว่าอาการปวดแบบไหน ที่ยาพาราเซตามอลรักษาไม่หาย


พาราเซตามอล

ปวดแบบไหนกินพาราเซตามอลแล้วไม่หาย

1. อาการปวดขั้นรุนแรง


          อาการปวดขั้นรุนแรงหมายถึงอาการปวดขั้นรุนแรงที่เกิดจากอวัยวะภายใน โดยทางการแพทย์จะมีมาตรวัดระดับความปวดอยู่ที่ 0-10 ระดับ 0 คือไม่มีอาการปวดเลย ส่วนระดับ 10 คือมีอาการปวดมากเท่าที่จะจินตนาการได้ ปวดแบบทุรนทุรายจนแทบทรงตัวไม่ไหว ซึ่งหากประเมินแล้วอาการปวดอยู่ที่ระดับ 7 ขึ้นไป เช่น ปวดแผลผ่าตัด ปวดนิ่วในไต อาการปวดของผู้ป่วยโรคมะเร็งบางชนิด หรืออาการปวดกล้ามเนื้อหัวใจจากภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หรือแม้กระทั่งปวดไมเกรนหนัก ๆ แบบนี้พาราเซตามอลก็เอาไม่อยู่ ต้องใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มมอร์ฟีน หรือทรามาดอล ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ระงับปวดขั้นรุนแรงได้ ทว่าก็เป็นยาที่มีผลข้างเคียงมาก จึงควรใช้ยากลุ่มนี้ภายใต้การดูแลของแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น

2. อาการปวดที่มีลักษณะแปลก ๆ

          กลุ่มอาการปวดที่มีลักษณะแปลกไปจากอาการปวดตื้อ ๆ อาการปวดแล้วกดเจ็บ หรืออาการปวดจากเนื้อเยื่ออักเสบ เช่น

          - อาการปวดแสบปวดร้อน

          - อาการปวดร่วมกับเสียวแปลบเป็นพัก ๆ

          - อาการปวดเหมือนมีเข็มเล็ก ๆ ทิ่มแทง

          - อาการปวดเหมือนไฟช็อต

          - อาการปวดร้าวไปยังบริเวณอื่น ๆ

          - อาการปวดร่วมกับอาการชา

          อาการปวดที่ไม่ธรรมดาเหล่านี้บ่งบอกได้ถึงความผิดปกติของระบบเส้นประสาท ซึ่งยาพาราเซตามอลก็ไม่สามารถบรรเทาอาการได้เช่นเดียวกัน แต่ควรต้องพบแพทย์เพื่อหาวิธีรักษาที่ต้นเหตุ

พาราเซตามอล

3. อาการปวดศีรษะที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

          กลุ่มอาการนี้่ส่วนมากมักจะเกิดจากการใช้ยาติดต่อกันมากเกินขนาด โดยมีการใช้ยาพาราเซตามอลมากกว่า 15 วันต่อเดือน ประมาณ 2-3 เดือนติดต่อกัน อันเป็นสาเหตุให้เกิดโรคปวดศีรษะเหตุใช้ยาเกิน โดยสังเกตง่าย ๆ จากอาการปวดไมเกรนมากกว่าเดือนละ 3-4 ครั้ง หรือปวดศีรษะจากความเครียดที่มีลักษณะอาการปวดเหมือนศีรษะถูกบีบรัดมากกว่า 15 วันต่อเดือน เคสนี้กินยาพาราเซตามอลไปก็ไม่ช่วยให้หายปวดค่ะ แถมยังอาจจะเพิ่มอาการปวดซ้ำอีกด้วย ดังนั้นควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการปวดที่แท้จริง และรับยาแก้ปวดที่เหมาะสมแทนยาพาราเซตามอลจะดีกว่า

4. อาการปวดท้องจากโรคกระเพาะ ท้องเสีย

          นอกจากนี้ยังต้องระวังอาการปวดที่ก่อให้เกิดความสับสนว่ายาพาราเซตามอลสามารถช่วยบรรเทาอาการได้ เช่น อาการปวดท้องที่เกิดจากลำไส้บีบตัว อาการปวดท้องเนื่องจากท้องเสีย อาการปวดท้องจากโรคกระเพาะ รวมไปถึงอาการปวดแน่นหน้าอก หรือปวดบริเวณกระเพาะอาหาร ซึ่งอาจเป็นอาการของโรคกรดไหลย้อน ซึ่งอาการปวดเหล่านี้ยาพาราเซตามอลไม่สามารถบรรเทาอาการให้ได้ เพราะเป็นกลุ่มอาการปวดที่เกิดจากความผิดปกติของระบบประสาทและระบบลำไส้ที่แปรปรวนไป หรือเกิดจากการมีแก๊สในกระเพาะอาหารมาก ซึ่งยาที่จะช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดได้ก็คือยาลดกรดนั่นเอง

          เอาล่ะค่ะ ได้ทราบกันไปแล้วว่าอาการปวดแบบไหนที่พาราเซตามอลไม่สามารถรักษาอาการได้ คราวนี้มาดูวิธีกินยาพาราเซตามอลอย่างปลอดภัยกันเลยดีกว่า

พาราเซตามอล

วิธีกินยาพาราเซตามอลอย่างปลอดภัย แก้ปวดได้หายห่วง


          1. กินยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวดขั้นเบาถึงปานกลาง อธิบายง่าย ๆ คือมีอาการปวดแต่ยังทำกิจวัตรประจำวันได้ไหว เคสนี้สามารถกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม 1-2 เม็ด (ผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักน้อยกว่า 50 กิโลกรัมควรรับประทานพาราเซตามอลครั้งละ 1 เม็ดเท่านั้น) ถ้ายังไม่หายสามารถกินยาซ้ำได้อีกภายใน 6 ชั่วโมงต่อมา

          2. ในกรณีที่กินยาพาราเซตามอลเพื่อลดไข้ ให้กินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม 1-2 เม็ด ซ้ำทุก 4-6 ชั่วโมงในกรณีที่อาการยังไม่ดีขึ้น ทว่าหากภายใน 3 วันอาการไข้ยังไม่หาย ควรต้องพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

          3. หากใช้ยาบางชนิดอยู่แล้วควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนกินยาพาราเซตามอล เพราะยาบางชนิดอาจทำให้พิษต่อตับของยาพาราเซตามอลเพิ่มขึ้น เช่น ยารักษาวัณโรค หรือยารักษาโรคลมชัก เป็นต้น

          4. ห้ามกินยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัม เกิน 8 เม็ดต่อวัน และไม่ควรกินยาพาราเซตามอลติดต่อกันเกิน 5 วัน

          5. ห้ามใช้ยาพาราเซตามอลในผู้ป่วยโรคตับ และผู้ป่วยโรคพิษสุราเรื้อรัง

          6. ควรตรวจสอบชื่อสามัญทางยาของยาที่จะกินอย่างถี่ถ้วน เพื่อป้องกันการได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาด เนื่องจากยาพาราเซตามอลถูกจำหน่ายในหลายยี่ห้อและหลายรูปแบบ จึงอาจทำให้ประชาชนเข้าใจผิดได้ว่าเป็นยาคนละตัวกัน ทั้ง ๆ ที่ไม่ว่าจะยี่ห้อไหน ยาเม็ดสีอะไร แต่สุดท้ายก็คือยาพาราเซตามอลขนาด 500 มิลลิกรัมนั่นเอง

          นอกจากนี้ก็ควรระวังการใช้ยาแก้ปวดในกลุ่มอื่น เช่น แอสไพริน หรือไอบูโพรเฟน รวมไปถึงยาสูตรผสม เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ยาแก้ไข้หวัด ยาแก้ปวดเมื่อย ซึ่งมีตัวยาพาราเซตามอลผสมอยู่ และอาจทำให้เราได้รับยาพาราเซตามอลเกินขนาดได้

          อย่างไรก็ตาม ต้องขอย้ำว่าอย่ากินยาพาราเซตามอลพร่ำเพรื่อจะดีที่สุดค่ะ เพราะแม้เราจะกินยาพาราเซตามอลไม่เกินขนาด แต่การกินยาพาราเซตามอลบ่อย ๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็อาจมีผลร้ายต่อตับ ทำให้เสี่ยงต่ออาการตับอักเสบได้เหมือนกัน ที่สำคัญอาการปวดหัว ตัวร้อน เป็นไข้เล็กน้อย จริง ๆ แล้วภูมิต้านทานในร่างกายเราเองสามารถจัดการได้โดยไม่ต้องพึ่งยาขนานใด เพียงพักผ่อนให้มาก ๆ ดื่มน้ำสะอาดเยอะ ๆ และกินอาหารปรุงสุกใหม่ครบ 5 หมู่เท่านั้นเอง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
มหิดล แชนแนล
FDA Thai