5 พฤติกรรมเสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี ปวดท้องข้างขวาแบบนี้ต้องเช็กอาการ

  นิ่วในถุงน้ำดีเกิดจากอะไรได้บ้าง ใช่พฤติกรรมกินหมูติดมัน กินหมูกระทะบ่อย ๆ แล้วทำให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีหรือเปล่า เช็กหน่อยดีกว่าว่า ปัจจัยเสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี เรามีบ้างไหม

          นิ่วในถุงน้ำดี ที่เหมือนจะเกิดขึ้นกับใครก็ได้ และสาเหตุของนิ่วในถุงน้ำดีก็เป็นพฤติกรรมใกล้ตัวซะด้วย อย่างคนชอบกินหมูติดมัน หรือติดกินหมูกระทะบ่อย ๆ พฤติกรรมเหล่านี้พาเราเสี่ยงโรคนิ่วในถุงน้ำดีจริงหรือเปล่า เรามารู้จักโรคนิ่วในถุงน้ำดี พร้อมเช็กพฤติกรรมเสี่ยงโรคนี้กันค่ะ


นิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดี คืออะไร

          นิ่วในถุงน้ำดี ภาษาอังกฤษเรียกว่า Gallstones หรือ Cholelithiasis โดยนิ่วในถุงน้ำดีเป็นสารเคมีจากถุงน้ำดีที่เกิดการตกผลึก กระทั่งจับตัวเป็นก้อนนิ่วขึ้นมา ซึ่งก้อนนิ่วในถุงน้ำดีอาจมีขนาดเท่าเม็ดทรายหรืออาจมีขนาดใหญ่เท่าลูกปิงปองก็ได้ และอาจมีเพียงก้อนเดียวหรือเป็นร้อย ๆ ก้อนก็ได้เช่นกัน

นิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดี เกิดจากอะไร

          ถุงน้ำดีมีหน้าที่เก็บสะสมน้ำดีที่ตับสร้างไว้ ทั้งนี้ก็เพื่อใช้น้ำดีย่อยอาหารประเภทไขมัน โดยในน้ำดีจะประกอบไปด้วยสารคอเลสเตอรอล กรดน้ำดี สารฟอสโฟไลปิด และสารอื่น ๆ ทว่าหากสารเคมีดังกล่าวในถุงน้ำดีมีสัดส่วนที่ไม่สมดุลกัน หรือมีการคั่งของน้ำดีในท่อในถุงน้ำดีมากกว่าปกติ น้ำดีก็จะตกเป็นผลึก จับตัวเป็นก้อนที่เรียกว่าก้อนนิ่วขึ้นมาได้

          ทั้งนี้นิ่วในถุงน้ำดีสามารถแยกออกได้เป็น 2 ชนิดหลัก ๆ คือ นิ่วชนิดที่เกิดจากคอเลสเตอรอล (Cholesterol stone) โดยมีปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำดีมากผิดปกติ ซึ่งไม่เกี่ยวกับการมีระดับคอเลสเตอรอลในเลือดสูงแต่อย่างใด และนิ่วชนิดนี้จะมีลักษณะแข็ง มีสีออกเหลืองหรือเขียว

          อีกชนิดคือนิ่วที่เกิดจากสารให้สี (Pigment stone) ที่ชื่อว่าสารบิลิรูบิน (Bilirubin) เป็นสารสีเหลืองที่เกิดจากการสลายตัวของเม็ดเลือดแดงมากผิดปกติ ลักษณะของก้อนนิ่วจะเป็นก้อนเล็ก ๆ แข็งน้อยกว่านิ่วชนิดแรก และก้อนนิ่วจะมีสีดำคล้ำ

          นอกจากนี้ยังอาจพบนิ่วในถุงน้ำดีที่มีส่วนผสมของสารหลายชนิดรวมกัน ทั้งสารบิลิรูบินและคอเลสเตอรอลในน้ำดี กลายเป็นนิ่วชนิดผสม หรือที่เรียกว่า Mixed gallstone

นิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดี อาการเป็นอย่างไร

         อาการของคนมีนิ่วในถุงน้ำดี สามารถสังเกตได้จากสัญญาณผิดปกติของร่างกายตามนี้เลยค่ะ

         - ท้องอืด ท้องเฟ้อ เหมือนมีลมในท้อง โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก

         - แน่นท้องหลังรับประทานอาหาร โดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารที่มีไขมันมาก

         - ปวดท้องข้างขวา (ใต้ชายโครงขวา) เป็นครั้งคราว

         - ปวดท้องข้างขวาอย่างรุนแรง และมักจะปวดร้าวไปถึงสะบักด้านขวาร่วมด้วย

         - มีไข้สูงเฉียบพลัน (ในกรณีที่มีการอักเสบของถุงน้ำดีอย่างเฉียบพลัน)

         - คลื่นไส้ อาเจียน

         - ตัวเหลือง ตาเหลือง ปัสสาวะมีสีเข้ม

         - อุจจาระมีสีซีดลงเนื่องจากลำไส้ขาดน้ำดี

         อย่างไรก็ตาม คนที่มีนิ่วในถุงน้ำดีอาจไม่มีอาการแสดงข้างต้น เพราะอาจมีก้อนนิ้วที่เล็ก หรือฝังตัวอยู่ลึกในก้นถุงน้ำดีก็เป็นได้ แต่หากก้อนนิ่วออกมาอุดกั้นบริเวณท่อน้ำดี อาการแสดงจะค่อนข้างชัด เช่น มีอาการปวดท้องเฉียบพลันและรุนแรง ปวดท้องในลักษณะปวดบิดเกร็ง โดยแต่ละครั้งจะมีอาการปวดนานประมาณ 15-30 นาที หรือนานกว่า 2-6 ชั่วโมงเลยก็ได้ แต่อาการปวดท้องเนื่องจากนิ่วในถุงน้ำดีจะเป็น ๆ หาย ๆ มักไม่ใช่อาการปวดท้องทุกวัน จะตรวจพบว่ามีนิ่วก็ต่อเมื่ออัลตราซาวด์

นิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดี พฤติกรรมไหนเสี่ยงเป็นบ้าง

         ลองมาเช็กกันค่ะว่าโรคนิ่วในถุงน้ำดี มีพฤติกรรมไหนที่เพิ่มความเสี่ยงได้ แล้วใช่พฤติกรรมที่เราทำอยู่บ่อย ๆ หรือเปล่า

         1. คนที่ชอบรับประทานอาหารที่มีไขมัน อาหารคอเลสเตอรอลสูง

         2. พฤติกรรมรับประทานอาหารประเภทไฟเบอร์ไม่เพียงพอ กินผัก ผลไม้น้อย

         3. ผู้หญิงบางรายที่กินยาคุมกำเนิดเป็นประจำ จะเสี่ยงต่อการมีนิ่วในถุงน้ำดี เนื่องจากฮอร์โมนเพศหญิงที่ได้รับเพิ่มจากยา อาจกระตุ้นการเพิ่มของปริมาณคอเลสเตอรอลในน้ำดี ส่งผลให้เกิดการตกตะกอนกลายเป็นก้อนนิ่วได้ง่าย

         4. การรับประทานยาลดไขมันบางชนิด

         5. คนที่เร่งลดน้ำหนัก (น้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว) เพราะจะทำให้ตับหลั่งคอเลสเตอรอลออกมามากขึ้น ส่วนถุงน้ำดีก็จะบีบตัวน้อยลง ดังนั้นจึงมีน้ำดีค้างอยู่ในถุงน้ำดีนานขึ้น จึงมีโอกาสตกตะกอนจับตัวกันมากขึ้นตามไปด้วย

         โดยพฤติกรรมเหล่านี้อาจไปเพิ่มปริมาณของคอเลสเตอรอล หรือบิลิรูบินในน้ำดีให้มีสัดส่วนสูงกว่าปกติ และปัจจัยบางส่วนก็ทำให้ถุงน้ำดีบีบขับน้ำดีได้น้อยลง ทำให้น้ำดีคั่งค้าง และจับเป็นผลึกนิ่ว

          หากพบว่าตัวเองมีพฤติกรรมเสี่ยงโรคนิ่วในถุงน้ำดีหรือมีอาการที่บ่งชี้ว่าคล้าย ๆ อย่านิ่งนอนใจนะคะ ไปให้แพทย์เช็กร่างกายอย่างละเอียดดีกว่า

นิ่วในถุงน้ำดี กลุ่มเสี่ยงคือใคร
         นอกจากพฤติกรรมที่เพิ่มความเสี่ยงให้เกิดนิ่วในถุงน้ำดีแล้ว ยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ดังต่อไปนี้ ที่อาจเสี่ยงต่อการมีนิ่วในถุงน้ำดีเพิ่มขึ้นได้ เช่น

         - ผู้มีน้ำหนักตัวมาก (อ้วน)

         - ผู้มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป

         - เพศหญิง มีโอกาสเป็นมากกว่าเพศชาย เนื่องมาจากฮอร์โมนเอสโตรเจนและการตั้งครรภ์ มีผลต่อการเพิ่มปริมาณคอเลสเตอรอลและลดการเคลื่อนตัวของถุงน้ำดี ทำให้เป็นนิ่วได้ง่ายขึ้น

         - ผู้ป่วยโรคเลือดบางชนิดที่มีการแตกตัวของเม็ดเลือดแดงเร็วกว่าปกติ เช่น โรคธาลัสซีเมีย

         - ผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพราะถุงน้ำดีจะมีการบีบตัวน้อยลงในผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง

         - กรรมพันธุ์ โดยเฉพาะผู้ที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นโรคนิ่วในถุงน้ำดีมาก่อน

นิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงดำดี ผ่าตัดทุกเคสไหม
         การรักษานิ่วในถุงน้ำดี วิธีผ่าตัดเอาถุงน้ำดีออกจะเป็นวิธีรักษาช่วยให้หายขาด เพราะจะไม่เกิดนิ่วในถุงน้ำดีอีกต่อไป พร้อมทั้งยังช่วยป้องกันภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงต่าง ๆ ได้อีกด้วย ซึ่งในปัจจุบันนี้การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีมีให้เลือกอยู่ 2 วิธีด้วยกัน คือ การผ่าตัดแบบเปิดหน้าท้อง และการผ่าตัดโดยใช้กล้อง

นิ่วในถุงน้ำดี อันตรายไหม

         หากมีนิ่วในถุงน้ำดีชนิดไม่มีอาการ มักจะไม่เกิดภาวะแทรกซ้อนอะไรที่อันตราย แต่หากมีนิ่วในถุงน้ำดีแบบแสดงอาการ มีอาการปวดท้อง ถ้าไม่ผ่านิ่วในถุงน้ำดีออก อาจก่อให้เกิดโรคถุงน้ำดีอักเสบ หรือท่อน้ำดีอักเสบ หรือบางรายอาจเสี่ยงต่อโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน

          นอกจากนี้การปล่อยนิ่วในถุงน้ำดีไว้ อาจเพิ่มความเสี่ยงโรคมะเร็งถุงน้ำดีได้ แม้ว่าผู้ที่เป็นนิ่วน้ำดีส่วนใหญ่จะไม่กลายเป็นมะเร็งถุงน้ำดีก็ตาม ทว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งถุงน้ำดี มักพบว่ามีนิ่วในถุงน้ำดีร่วมด้วยกว่า 75-90% เลยทีเดียว

นิ่วในถุงน้ำดี

นิ่วในถุงน้ำดี ป้องกันได้ไหม

         แม้ว่าเราจะไม่สามารถป้องกันนิ่วในถุงน้ำดีได้ 100% แต่ก็พอจะมีแนวทางลดความเสี่ยงการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีอยู่บ้าง ดังนี้

         - พยายามรักษาน้ำหนักตัวให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วน

         - หากอ้วน ให้เลือกวิธีลดน้ำหนักที่ถูกต้อง ค่อย ๆ ลดน้ำหนักอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่าหักโหมจนน้ำหนักลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้

         - ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

         - ลดการกินอาหารไขมันสูง อาหารคอเลสเตอรอลสูง อาหารทอด

         - หมั่นรับประทานผัก ผลไม้ อาหารกากใยสูงให้มาก

         ถ้าสงสัยว่าอาการผิดปกติที่ตัวเองเป็นอยู่อาจใช่โรคนิ่วในถุงน้ำดี แม้จะไม่มีอาการแสดงเลย ก็อยากให้ไปตรวจสุขภาพอย่างละเอียด เพื่อเช็กให้เคลียร์จะดีกว่านะคะ ส่วนใครที่มีพฤติกรรมเสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี ก็พยายามดูแลสุขภาพให้ดีขึ้นกว่าเดิม ใส่ใจเรื่องอาหารการกินให้มาก ๆ ก็น่าจะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดนิ่วในถุงน้ำดีได้
ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
โรงพยาบาลสมิติเวช
โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์