ปวดท้องส่วนบน ปวดท้องเหนือสะดือ บอกโรคอะไร อาการแบบไหนต้องไปหาหมอ

 

ปวดท้องส่วนบน หรือปวดท้องเหนือสะดือ บอกโรคอะไรได้บ้าง ยิ่งกดแล้วเจ็บหรือมีอาการป่วยอื่น ๆ ด้วย แบบนี้อันตรายไหม

 ปวดท้องส่วนบน ปวดท้องเหนือสะดือแบบที่ปวดจี๊ด ๆ หรือปวดตื้อ ๆ แน่น ๆ กดแล้วเจ็บ รวมไปถึงคนที่มีอาการปวด ๆ หาย ๆ หรือมีอาการอื่น ๆ เช่น คลื่นไส้ ถ่ายเหลว ท้องเสีย ท้องผูก ร่วมด้วย ทั้งหมดที่ว่ามานี้คงไม่ใช่ความสบายดีแน่ ๆ แต่จะบอกโรคอะไรไหม มาลองเช็กอาการปวดท้องข้างซ้าย ปวดท้องข้างขวาส่วนบน เสี่ยงป่วยอะไรบ้างกัน

 

ปวดท้องส่วนบน ปวดท้องเหนือสะดือ
บอกปัญหาอวัยวะส่วนไหน

ปวดท้องส่วนบน

           อาการปวดท้องส่วนบน ปวดเหนือสะดือ หรือปวดตื้อ ๆ ตรงกลางท้อง บ่งบอกถึงความผิดปกติของอวัยวะได้หลายส่วนด้วยกัน เนื่องจาก ณ บริเวณท้องส่วนบนประกอบไปด้วยกระดูกซี่โครง ปอด หัวใจ ตับ ถุงน้ำดี ทางเดินอาหารส่วนบน ดังนั้นหากมีอาการปวดท้องส่วนบน ปวดเหนือสะดือ อาจไม่ใช่แค่เรื่องของลำไส้ หรือระบบย่อยอาหารเท่านั้น แต่บางครั้งอาจเป็นสัญญาณของโรคปอดหรือโรคหัวใจได้ด้วย

ปวดท้องส่วนบนข้างซ้าย บอกโรคอะไร

ปวดท้องส่วนบน

สาเหตุที่เกิดจากโรค

          ตัวอย่างของโรคที่ทำให้ปวดท้องส่วนบนข้างซ้าย ได้แก่
  • กระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ (Costochondritis) : อาการปวดท้องส่วนบนข้างซ้าย ค่อน ๆ ไปทางหน้าอก อาจบ่งชี้ถึงความผิดปกติของกระดูกอ่อนซี่โครงที่อยู่แถว ๆ กระดูกหน้าอกได้ โดยอาการสังเกต คือ หายใจแล้วเจ็บซี่โครง เคลื่อนไหวแล้วเจ็บ, หายใจได้ไม่เต็มอิ่ม, คลื่นไส้ อาเจียน หรืออาจมีไข้ได้หากอาการอักเสบเป็นมาก อาการนี้มักเกิดจากการยกของหนัก ออกกำลังกายที่ใช้กล้ามเนื้อหน้าอกมากเกินไป หรือหน้าอกถูกแรงกระแทก

  • เยื่อหุ้มหัวใจอักเสบ (Pericarditis) : หากมีอาการเจ็บแปล๊บ ๆ ที่ท้องส่วนบนค่อนไปทางซ้าย หรือรู้สึกจุกแน่น ๆ ร้าวไปที่คอ แขน หัวไหล่ สะบักซ้าย และอาการจะรุนแรงขึ้นเมื่อไอ หรืออยู่ในท่านอน แต่หากโน้มตัวมาข้างหน้าอาการจะดีขึ้น อาจเสี่ยงโรคเยื่อหุ้มหัวใจอักเสบอยู่ก็เป็นได้

  • กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด : อาการเด่น ๆ ของโรคนี้ คือ จุกลิ้นปี่ เจ็บแถว ๆ ชายโครงลักษณะแบบจุก เสียด แน่น ลามไปถึงยอดอก หลัง ไหล่ แขนซ้าย หรือกราม และอาการจะเกิดอย่างเฉียบพลัน โดยเจ็บสุด ๆ ใน 1 นาที และอาการเจ็บจะเป็นอย่างน้อย 5-10 นาที แต่ไม่เกิน 30 นาที ร่วมกับใจสั่น เหงื่อออกมาก

  • ไส้เลื่อนกระบังลม (Hiatal hernia) : เกิดจากการที่ผนังกระบังลมหย่อนยานหรือมีช่องเปิดในกระบังลมแต่กำเนิด ทำให้กระเพาะอาหารส่วนบนเคลื่อนขึ้นไปยังบริเวณช่วงอก โดยโรคนี้อาจไม่ได้แสดงอาการเฉพาะมากนัก แต่จะเป็นสาเหตุให้เกิดอาการอื่น ๆ เช่น กรดไหลย้อน, แสบร้อนกลางอก, มีปัญหาการกลืน, หายใจไม่เต็มอิ่ม, มีอาการขย้อนอาหารหรือของเหลว, อาเจียนเป็นเลือด, ถ่ายเป็นเลือดหรืออุจจาระมีสีดำ

  • ม้ามโต : ปวดท้องส่วนบนข้างซ้าย อาจส่อถึงภาวะผิดปกติที่เกิดกับม้าม เช่น ภาวะม้ามโตที่จะมีอาการอ่อนเพลีย อิ่มง่าย กินไม่ค่อยได้ มีภาวะซีด โลหิตจาง เลือดออกง่าย มีอาการอักเสบในร่างกายบ่อย ๆ 

  • กระเพาะอาหารอักเสบ (Gastritis) : มักจะมีอาการปวดท้องด้านซ้ายส่วนบน ปวดเสียด ๆ ตื้อ ๆ จุกแน่นบริเวณลิ้นปี่ เป็น ๆ หาย ๆ ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีกรดแก๊สในกระเพาะเยอะ สามารถเกิดขึ้นได้ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร หรือตอนท้องว่าง และมักมีอาการเรื้อรัง 

>> เช็กอาการโรคกระเพาะอาหาร กระเพาะอาหารอักเสบ

  • ตับอ่อนอักเสบ : มักจะมีอาการปวดท้องส่วนบนข้างซ้าย และอาจลามไปปวดหลังได้ด้วย ซึ่งหากมีอาการอักเสบมากอาจมีไข้ หัวใจเต้นแรง คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย หรือมีอาการบวมในบริเวณที่ปวด โดยอาจมีอาการเฉียบพลันหรือเรื้อรังก็ได้ 

  • ลำไส้แปรปรวน (IBS) : อาการเด่น ๆ ของโรคนี้คือปวดท้องอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ร่วมกับมีการถ่ายอุจจาระผิดปกติ เช่น ปวดท้องทั้งก่อนและหลังถ่ายเสร็จ ท้องเสียสลับท้องผูก โดยต้องมีอาการเหล่านี้อย่างน้อย 6 เดือน หรือเป็นต่อเนื่องมาไม่น้อยกว่า 3 เดือน 

>> ลำไส้แปรปรวน อาการเป็นแบบไหน รักษาหายไหมถ้าป่วย ?

  • ลำไส้อักเสบ (IBD) : จะมีอาการปวดท้องส่วนบนด้านซ้าย หรือลามไปปวดท้องตรงกลาง ร่วมกับอาการท้องเสียบ่อย ปวดบิด ถ่ายเป็นเลือด อ่อนเพลีย น้ำหนักลดโดยไม่ทราบสาเหตุ หรือบางคนปวดถ่ายแต่ถ่ายไม่ออก

>> เช็กอาการลำไส้อักเสบ ถ่ายบ่อย ปวดบิด มีสิทธิ์เป็นโรคนี้ 

  • ไตอักเสบ : ไตเรามีอยู่ด้วยกัน 2 ข้าง หากมีความผิดปกติที่ไตข้างซ้าย ก็อาจมีอาการปวดท้องส่วนบนข้างซ้ายได้ โดยอาการสังเกตได้จะมีทั้งปัสสาวะบ่อย เจ็บขัดตอนปัสสาวะ ปวดหลังโดยอาจลามไปปวดขาหนีบ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน 

>> โรคไต ป่วยแล้วยุ่ง มาเช็กสัญญาณโรคไตก่อนดีกว่า

  • นิ่วในไต : มีอาการปวดท้องและหลัง โดยปวดแบบเสียด ๆ หรือปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ อาจปวดนานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ ปัสสาวะปนเลือด ปวดแสบ ปวดขัดขณะปัสสาวะ คลื่นไส้ อาเจียน

>>  นิ่วในไต อาการไหนบอกชัด รู้จักปัจจัยเสี่ยงป่วย 

ปวดท้องส่วนบนข้างขวา บอกโรคอะไร

สาเหตุที่เกิดจากโรค

           ตัวอย่างของโรคที่ทำให้ปวดท้องส่วนบนข้างขวา อาทิ
  • โรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร (Gastrointestinal issues) : ไม่ว่าจะเป็นอาหารไม่ย่อย โรคกระเพาะอาหาร หรือแผลในกระเพาะอาหาร ก็อาจมีอาการปวดท้องส่วนบนข้างขวาได้ ร่วมกับอาการแสบท้อง ท้องอืด ท้องเฟ้อ เป็นต้น

  • โรคตับ : หากมีอาการปวดท้องข้างขวาบ่อย ๆ ร่วมกับอาการอื่น ๆ เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ตาเหลือง ท้องอืด ท้องเฟ้อ อาหารไม่ย่อย เท้าบวม อาจบ่งชี้ถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับตับเรา 

>> โรคตับ 15 อาการชี้ชัด บ่งบอกว่าตับไม่สบายอยู่

  • นิ่วในถุงน้ำดี : หากปวดท้องข้างขวา แถว ๆ ใต้ชายโครงขวา หรือปวดร้าวไปถึงสะบักขวา ร่วมกับอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เหมือนมีลมในท้องตลอดเวลา หรือมักจะรู้สึกปวดแน่นท้องหลังรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ก็อาจต้องสงสัยถึงโรคนี้ไว้ด้วย

>> 5 พฤติกรรมเสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี ปวดท้องข้างขวาแบบนี้ต้องเช็กอาการ

  • ถุงน้ำดีอักเสบ (Cholecystitis) : ถ้าถุงน้ำดีอักเสบขึ้นมา นอกจากอาการปวดท้องข้างขวา แนวใต้ชายโครงขวา บางคนอาจคลื่นไส้ อาเจียน และอาจมีไข้สูงเฉียบพลันร่วมด้วย 

  • โรคเกี่ยวกับตับอ่อน : อาการปวดท้องส่วนบนข้างขวา อาจส่อถึงความเจ็บป่วยของตับอ่อนได้เช่นกัน ไม่ว่าจะโรคตับอ่อนอักเสบเฉียบพลัน ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง โดยมักจะมีอาการเจ็บลิ้นปี่ เจ็บใต้ชายโครงขวา หรือปวดร้าวทะลุหลัง และหากปล่อยไว้อาจมีอาการไข้ ตัวเหลือง ตาเหลือง ดีซ่านได้

  • ความผิดปกติของลำไส้เล็ก : โดยเฉพาะคนที่แพ้อาหาร แพ้สารบางอย่าง เช่น กลูเตน เมื่อกินเข้าไปแล้วลำไส้เล็กไม่สามารถดูดซึมได้ ก็อาจมีอาการปวดท้องส่วนบนข้างขวาใกล้ ๆ ชายซี่โครง บางรายอาจมีอาการจุกเสียดท้อง หรือมีอาการท้องเสียเรื้อรังได้ด้วย

  • ไตอักเสบ : หากมีความผิดปกติที่ไตข้างขวา ก็อาจมีอาการปวดท้องส่วนบนข้างขวาได้เช่นกัน โดยอาการสังเกตได้จะมีทั้งปัสสาวะบ่อย เจ็บขัดตอนปัสสาวะ ปวดหลังโดยอาจลามไปปวดขาหนีบ มีไข้ คลื่นไส้ อาเจียน 

  • นิ่วในไต : ถ้าเป็นที่ไตข้างขวาจะมีอาการปวดท้องและหลังข้างขวา โดยปวดแบบเสียด ๆ หรือปวดบิดเกร็งเป็นพัก ๆ อาจปวดนานเป็นชั่วโมง ๆ หรือเป็นวัน ๆ ปัสสาวะปนเลือด ปวดแสบ ปวดขัดขณะปัสสาวะ คลื่นไส้ อาเจียน

           >> นิ่วในไต อาการไหนบอกชัด รู้จักปัจจัยเสี่ยงป่วย

ปวดท้องส่วนบนตรงกลาง เหนือสะดือ บอกโรคอะไร

ปวดท้องส่วนบน

           ปวดท้องเหนือสะดือ ช่วงตรงกลาง บอกโรคอะไรได้บ้าง ลองมาเช็กกันค่ะ

สาเหตุที่เกิดจากโรค

  • กรดไหลย้อน : ถ้ามีอาการแสบร้อนกลางอก เรอเปรี้ยว จุกแน่นแถว ๆ หน้าอกคล้ายอาหารไม่ย่อย และยิ่งนอนราบยิ่งอาการกำเริบ โดยเฉพาะหลังกินอาหารมื้อใหญ่ ให้ห่วงเรื่องกรดไหลย้อนไว้ก่อนเลย 

>> กรดไหลย้อน เกิดจากอะไร ต่างจากโรคกระเพาะอาหาร อย่างไร ?

  • โรคกระเพาะอาหาร : ถ้าปวดท้องตรงกลาง มีอาการแสบ ๆ ทั้งก่อนและหลังรับประทานอาหาร อาจต้องสงสัยโรคกระเพาะไว้ด้วย 

>> โอ๊ย…ปวดท้อง อาการโรคกระเพาะถามหาหรือเปล่า ?

  • แผลในกระเพาะอาหาร : หากมีแผลในกระเพาะอาหาร ก็จะมีอาการปวดแสบปวดร้อนในกระเพาะอาหาร ตำแหน่งระหว่างหน้าอกและสะดือ โดยส่วนใหญ่อาการมักจะกำเริบเมื่อท้องว่าง ระหว่างมื้ออาหาร หรือเวลาใดก็ได้ และอาจจะมีอาการปวดท้องมากโดยเฉพาะหลังรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด อาการปวดมักเป็น ๆ หาย ๆ ร่วมกับรู้สึกคลื่นไส้ อาเจียน ได้บ้างในบางราย

  • นิ่วในถุงน้ำดี : ถ้ามีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เหมือนมีลมในท้องตลอดเวลา หรือมักจะรู้สึกปวดแน่นท้องหลังรับประทานอาหาร โรคนิ่วในถุงน้ำดีก็น่าคิดถึงด้วยเหมือนกัน 

>> 5 พฤติกรรมเสี่ยงนิ่วในถุงน้ำดี ปวดท้องข้างขวาแบบนี้ต้องเช็กอาการ

  • ตับอ่อนอักเสบ : นอกจากจะมีอาการปวดท้องส่วนบนแล้ว ในบางคนอาจจะรู้สึกปวดท้องตรงกลางด้วย และอาจปวดรุนแรง หรือปวดลามไปยังแผ่นหลังได้ ร่วมกับอาการคลื่นไส้ อาเจียน

  • ลำไส้เล็กอักเสบ : ตำแหน่งตรงกลางท้อง ปวดท้องเหนือสะดือแบบเป็น ๆ หาย ๆ ท้องเดิน ปวดบิด ท้องเสีย หรือมีลมในท้อง อาจเป็นสัญญาณที่บอกว่าลำไส้เล็กอักเสบอยู่ก็เป็นได้ 

>> เช็กอาการลำไส้อักเสบ ถ่ายบ่อย ปวดท้องบิด มีสิทธิ์เป็นโรคนี้ ?

  • ไส้ติ่ง : อาการเริ่มแรกของโรคไส้ติ่งอักเสบก็คืออาการปวดท้องตรงกลางรอบ ๆ สะดือ โดยมีอาการปวดบิดเป็นพัก ๆ คล้ายอาการปวดถ่ายท้องเสีย แต่มักจะถ่ายไม่ออก หรือบางคนก็มีอาการปวดท้องเหนือสะดือร่วมกับถ่ายเหลว หรือท้องเสีย จากนั้นจะย้ายมาปวดที่บริเวณท้องน้อยด้านขวา

>> ไส้ติ่งอักเสบ อาการต้องสงสัยอย่างนี้ไม่ควรมองข้าม

ปวดท้องส่วนบนกับสาเหตุที่ไม่ได้เกิดจากโรค

ปวดท้องส่วนบน

           อาการปวดท้องส่วนบนอาจไม่ได้มีสาเหตุมาจากความเจ็บป่วยข้างในอวัยวะของเราก็ได้ แต่อาจเป็นปัจจัยภายนอกเหล่านี้
  • กินข้าวเร็วเกินไป กินไปพูดไป ทำให้อากาศเข้าท้องได้มากกว่าเดิม จนเกิดอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ

  • จัดหนักมื้ออาหารจนเกินไป ซึ่งอาจทำให้รู้สึกอึดอัดท้อง ท้องอืด อาหารไม่ย่อย หรือมีกรดเกินในกระเพาะมากกว่าปกติ

  • การรับประทานอาหารรสจัด ที่อาจกระตุ้นให้กระเพาะอาหารหลั่งกรดหรือน้ำย่อยมากกว่าปกติ

  • เครื่องดื่มแอลกอฮอล์อาจทำให้ท้องไส้ร้อนวูบวาบได้ หรือที่เรียกกันว่าอาการร้อนท้อง โดยเฉพาะคนที่มีร่องรอยแผลในกระเพาะอาหารอยู่ก่อนแล้ว เมื่อดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก็อาจยิ่งแสบร้อนท้อง ปวดท้องได้ด้วย

  • ตั้งครรภ์ อาจทำให้รู้สึกปวดท้องข้างขวา หรือปวดท้องข้างซ้ายได้ แต่จะปวดเบา ๆ และเป็นเพียงแค่ช่วงแรกก่อนการฝังตัวของตัวอ่อน

  • ผลจากอุบัติเหตุ เช่น การโดนของแข็งกระแทกท้องแรง ๆ หรืออุบัติเหตุที่ทำให้กระดูกซี่โครงหัก ซึ่งเป็นได้ทั้งข้างซ้ายและข้างขวา โดยจะมีอาการเจ็บซี่โครงตอนหายใจเข้า หรืออาจมีอาการเจ็บแปล๊บ ๆ จี๊ด ๆ เป็นพัก ๆ ระหว่างขยับตัว

  • การออกกำลังกายหนัก ๆ โดยเฉพาะที่ส่วนท้อง ซึ่งหากเกร็งมาก ๆ ก็อาจทำให้เจ็บกล้ามเนื้อช่วงท้อง หรืออักเสบได้

  • ผลข้างเคียงจากยา เช่น ยาในกลุ่ม bisphosphonate ที่ใช้ในการรักษาความหนาแน่นของกระดูกและป้องกันโรคกระดูกพรุน อาจทำให้หลอดอาหารส่วนล่างบวมหรือรู้สึกปวดได้ อีกทั้งยาแก้ปวดในกลุ่ม NSAIDs อย่างแอสไพรินก็อาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารจนรู้สึกปวดท้องได้เช่นกัน 

  • ความเครียด คนที่เครียดมาก ๆ หรือเครียดอย่างต่อเนื่อง จะทำให้ฮอร์โมนต่าง ๆ แปรปรวน และกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติให้หลั่งกรดหรือน้ำย่อยมากขึ้น ส่งผลให้มีอาการปวดเกร็งที่ท้องเนื่องจากกรดเกินในกระเพาะอาหาร หรือบางคนอาจมีอาการท้องเสีย อ่อนเพลีย หรือมีอาการคล้าย ๆ ลำไส้แปรปรวนได้

  • การสูบบุหรี่ สารนิโคตินจะทำให้เส้นเลือดหดตัว เลือดจึงไหลเวียนไปเลี้ยงเยื่อบุกระเพาะอาหารได้น้อยลง ซึ่งอาจทำให้เกิดแผลในกระเพาะอาหารได้

เช็กอาการปวดท้องส่วนบนร่วมกับอาการอื่น ๆ

ปวดท้องส่วนบน

ปวดท้องส่วนบน เหนือสะดือ ท้องเสีย ถ่ายเหลว

          นับเป็นอาการเบสิกของการปวดท้องส่วนบนก็ว่าได้ ที่มักจะมีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลวควบคู่กันไปด้วย โดยลักษณะนี้อาจบอกได้หลายโรค เช่น

  • อาหารไม่ย่อย เพราะกินมื้อใหญ่จัดเต็ม หรือกินอาหารที่มีไขมันสูง

  •  อาหารเป็นพิษ จากการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อโรคต่าง ๆ 

  • ลำไส้แปรปรวน

  • ลำไส้อักเสบเรื้อรัง

  • โรคกระเพาะอาหาร และภาวะลำไส้เล็กอักเสบ ที่มักจะมีอาการคลื่นไส้ อาเจียนร่วมด้วย

          นอกจากนี้ ยังอาจเกิดจากความเครียด ความวิตกกังวล ผลพวงจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หรือผลข้างเคียงจากการใช้ยาบางชนิด

ปวดท้องส่วนบน คลื่นไส้

  • กระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ 

  • โรคกระเพาะอาหาร

  • ตับอ่อนอักเสบ 

  • ภาวะลำไส้เล็กอักเสบ

  • ภาวะลำไส้อุดตัน

  • ลำไส้แปรปรวน

  • ไตอักเสบ

  • นิ่วในไต

ปวดท้องเหนือสะดือ ปวดหลัง

  • แผลในกระเพาะอาหาร

  • ตับอ่อนอักเสบ 

  • นิ่วในถุงน้ำดี 

  • นิ่วในไต

  • ไตอักเสบ 

ปวดท้องเหนือสะดือ กดแล้วเจ็บ

  • กล้ามเนื้ออักเสบ 

  • กระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ

  • อุบัติเหตุที่เกิดกับช่วงท้อง

  • ไส้ติ่ง

ปวดท้องช่วงบนเป็นพัก ๆ หรือปวดท้องเหนือสะดือ ปวด ๆ หาย ๆ

 

  • แผลในกระเพาะอาหาร 

  • ตับอ่อนอักเสบเรื้อรัง

  • ถุงน้ำดีอักเสบเรื้อรัง

  • ลำไส้เล็กอักเสบ

ปวดท้องหลังรับประทานอาหาร

  • อาหารไม่ย่อย

  • โรคกระเพาะอาหาร

  • กรดไหลย้อน

ปวดท้องส่วนบนแบบไหนต้องไปหาหมอ

         หากมีอาการต่อไปนี้ ควรรีบพาตัวเองไปตรวจโรค พบแพทย์โดยด่วน

  • ไข้สูง

  • อาการปวดเป็นถี่ขึ้น หรือรุนแรงขึ้น

  • ตัวเหลือง

  • ตัวบวม ท้องบวม ขาบวม หรือเท้าบวม 

  • หัวใจเต้นเร็ว 

  • หายใจลำบาก

  • ความดันโลหิตตก

  • ปัสสาวะมีเลือดปน

  • ถ่ายเป็นเลือดติดต่อกันหลายวัน

  • อาเจียนเป็นเลือด

  • มีภาวะซีด

  • มีภาวะมึนงง สับสน ไม่เหมือนตัวเอง

ปวดท้องเหนือสะดือ กินยาอะไร

ปวดท้องส่วนบน

           อย่างที่ได้บอกไปข้างต้นว่าอาการปวดท้องเหนือสะดือ ปวดท้องส่วนบนอาจบ่งชี้ถึงความผิดปกติของร่างกายได้หลายอย่าง ดังนั้นหากมีอาการขึ้นมา ทางที่ดีที่สุดควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยว่าเราป่วยเป็นอะไรกันแน่ เพื่อให้ได้รับยารักษาที่ตรงกับอาการมากที่สุด แต่หากมีอาการเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ท้องอืด ท้องเสีย อาหารไม่ย่อย และไม่มีอาการป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย อาจไปร้านขายยาที่มีเภสัชกรประจำ เพื่อให้เภสัชกรจ่ายยาตามอาการก็ได้ค่ะ โดยอาจจะได้รับยาในกลุ่มบรรเทาอาการเบื้องต้น เช่น ยาลดกรด ยาเคลือบกระเพาะอาหาร ยาฆ่าเชื้อ ยาคาร์บอน หรือเกลือแร่ OR ในกรณีที่มีอาการท้องเสีย ถ่ายเหลว
           อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงสัญญาณบอกโรคที่อาจเป็นไปได้ในเบื้องต้น ทว่าทุก ๆ อาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นกับร่างกาย ก็จำเป็นต้องวิเคราะห์และพิจารณาอีกหลายอย่าง ซึ่งคนที่จะวินิจฉัยได้อย่างถูกต้องเหมาะสมที่สุดก็คือแพทย์นั่นเองนะคะ ฉะนั้นหากเจ็บป่วย ไม่สบาย ลองหาเวลาไปตรวจร่างกายที่โรงพยาบาล หรือจะลองปรึกษาแพทย์ทางออนไลน์ที่ตอนนี้มีอยู่ด้วยกันหลายช่องทางดูก่อนก็ได้