ชวนทำความรู้จักโรคฝีดาษลิง พร้อมเช็กอาการที่พอสังเกตได้ แบบไหนเสี่ยงเป็น !
สถานการณ์โควิด 19 ยังไม่นิ่งดี จู่ ๆ ก็มีโรคฝีดาษลิงระบาดขึ้นมาอีก แถมดูท่าว่าจะยังไม่จบง่าย เพราะเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2565 ทาง WHO หรือองค์การอนามัยโลกก็ได้ประกาศให้ ฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) เนื่องจากพบการแพร่ระบาดไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว และเพื่อไม่ให้เป็นการประมาทหรือวิตกจนเกินไป เราอยากชวนทุกคนมาทำความเข้าใจโรคฝีดาษลิงให้มากขึ้น

โรคฝีดาษลิง ภาษาอังกฤษเรียกว่า Monkeypox
คือ โรคติดต่อจากสัตว์สู่สัตว์ และสามารถติดต่อจากสัตว์สู่คนได้
โดยลิงไม่ใช่แหล่งรังโรค แต่พาหะคือ สัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก กระต่าย
เป็นต้น และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม
โรคนี้ไม่ใช่โรคใหม่ เพราะมีมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1950 หรือ พ.ศ. 2493
ที่ค้นพบไวรัสชนิดนี้ครั้งแรกในลิง จึงถูกตั้งชื่อว่า "ฝีดาษลิง"
ทั้งนี้
มีรายงานพบฝีดาษลิงในมนุษย์ครั้งแรกที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก เมื่อปี
พ.ศ. 2513 ก่อนจะพบการระบาดใน 11 ประเทศแถบแอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตก
กระทั่งมาพบโรคนี้นอกพื้นที่แอฟริกาครั้งแรกในปี พ.ศ. 2547
ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา จากการนำเข้าสัตว์ที่ติดเชื้อ
ขณะที่ในปี พ.ศ. 2565
กลับพบการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงกระจายอยู่ในประเทศอื่น ๆ นอกเขตแอฟริกา
ทั้งในสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร แคนาดา เบลเยียม ฝรั่งเศส สเปน โปรตุเกส
เป็นต้น ที่น่าสงสัยก็คือ ไม่พบความเชื่อมโยงของการระบาดที่เกิดขึ้น
กล่าวคือ
ผู้ป่วยเกือบทุกรายไม่มีประวัติเดินทางไปยังพื้นที่ซึ่งมีการระบาดของฝีดาษลิง
ทำให้องค์การอนามัยโลกต้องประชุมฉุกเฉินเพื่อหารือถึงการระบาดครั้งนี้

ฝีดาษลิง เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่มพอกซ์วิริเด (Poxviridae) จัดอยู่ในจีนัสไวรัสออร์โธพอกซ์ (Orthopoxvirus) ซึ่งเป็นเชื้อในตระกูลเดียวกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคไข้ทรพิษหรือโรคฝีดาษในอดีต โดยมีไวรัส 2 สายพันธุ์หลัก คือ สายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก มีอาการไม่รุนแรง อัตราการเสียชีวิต 1% และสายพันธุ์แอฟริกากลาง ที่มีความรุนแรงมาก อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 10% อย่างไรก็ตาม ไวรัสชนิดนี้กลายพันธุ์ได้น้อย เพราะเป็นไวรัส DNA ต่างจากโควิดที่เป็น RNA
-
สัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ
-
การแพร่เชื้อจากคนสู่คนผ่านสารคัดหลั่งจากทางเดินหายใจ เช่น การสูดละอองฝอยจากการไอ จาม ในระยะใกล้ ๆ รวมไปถึงการกอด จูบ และการมีเพศสัมพันธ์
-
การสัมผัสข้าวของเครื่องใช้ที่มีการปนเปื้อนเชื้อ หรือปนเปื้อนสารคัดหลั่งอยู่ เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ของใช้ส่วนตัวของผู้ป่วย
-
การติดต่อจากแม่สู่ลูกในครรภ์
-
ถูกสัตว์มีเชื้อกัดข่วน
-
การกินเนื้อสัตว์ติดเชื้อที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ

- มีไข้
- เจ็บคอ
- ปวดศีรษะ
- ปวดกล้ามเนื้อ
- ปวดหลัง
- ต่อมน้ำเหลืองโต
- หนาวสั่น
- อ่อนเพลีย
- ภายใน 1-3 วัน หลังมีไข้ จะมีผื่นขึ้นบริเวณใบหน้า และกระจายไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ฝ่ามือ ฝ่าเท้า แขน ขา แต่ก็อาจพบในบริเวณช่องปาก อวัยวะเพศได้ด้วย
- ลักษณะผื่นจะพัฒนาไปตามระยะคือ มีผื่นนูนแดง ตุ่มน้ำใส ตุ่มหนอง สีขาวเหลือง มีรอยบุ๋มตรงกลาง จนกระทั่งในระยะสุดท้ายตุ่มหนองจะเป็นสะเก็ดหลุดออกมา
ทั้งนี้ ผศ. ดร.นพ.ปวิน นำธวัช อาจารย์ประจำภาควิชาระบาดวิทยาคลินิกและชีวสถิติ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้มีการให้ข้อมูลถึงลักษณะอาการ และการดำเนินโรคของโรคฝีดาษลิง ผ่านทวิตเตอร์@Pawin Numthavaj โดยอ้างอิงจากรายงานของทีมนักวิจัยระหว่างประเทศที่มีการรายงานไว้ในงานวิจัยรวม 528 เคส จากการรายงานใน 16 ประเทศ ซึ่งพบว่า อาการหลัก ๆ ของโรคฝีดาษลิง มีดังนี้
- มีผื่น 95% (ที่บริเวณในร่มผ้า 73% แขนขา 55% หน้า 25%) โดยส่วนใหญ่มีน้อยกว่า 5 จุด (39%) มีผื่นเกิน 20 จุดแค่ 11% ผื่นส่วนใหญ่เป็นแบบตุ่มหนอง (Vesiculopustular) รองลงมาคือเป็นแบบหลุม (Ulcer)
- มีไข้ 62%
- มีต่อมน้ำเหลืองโต 56%
- มีอาการเจ็บคอ 21%
สำหรับโรคฝีดาษลิง ผู้ป่วยมักจะมีอาการป่วยอยู่ราว ๆ 2-4
สัปดาห์ และส่วนใหญ่จะหายได้เอง โรคนี้มีความรุนแรงน้อยกว่าฝีดาษคน 3-10
เท่า แต่ทั้งนี้ก็มีเคสที่อาการรุนแรงจนทรุดและเสี่ยงเสียชีวิตได้เหมือนกัน
โดยเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรง เช่น การติดเชื้อในปอด
การขาดน้ำและภาวะสมองอักเสบ ซึ่งมักจะเกิดในเด็กได้มากกว่าผู้ใหญ่ค่ะ
รวมทั้งคนที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง
ขณะที่อัตราการเสียชีวิตด้วยโรคฝีดาษลิง
จากสถิติของทางแถบแอฟริกา พบว่าอัตราเสียชีวิตในเด็กมีอยู่ราว ๆ 3-10%
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลกระบุว่าโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตประมาณ 3.6%
โดยข้อมูล ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2565 พบว่ามีรายงานผู้ป่วยทั่วโลกมากกว่า
1.6 หมื่นราย จาก 75 ประเทศ และมีผู้เสียชีวิตแล้ว 5 ราย

- ผู้ที่ต้องทำงานกับสัตว์ เช่น ลิง วัว กระรอก หนู หรือสัตว์ที่สามารถติดเชื้อก่อโรคฝีดาษได้
- ผู้ที่ต้องทำงานโดยสัมผัสเชื้อพวกนี้โดยตรง เช่น ในห้องแล็บ ห้องเพาะเชื้อ ห้องทดลองต่าง ๆ
- ผู้ที่จำเป็นจะต้องไปทำงานในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคอยู่
- เด็ก เพราะเสี่ยงติดเชื้อแล้วมีอาการรุนแรง
- คนที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2523
ยิ่งเสี่ยงมากกว่าอายุอื่น เพราะอะไร
อย่างที่บอกว่าโรคฝีดาษไม่ใช่โรคใหม่ แต่พบมากว่า 200 ปี
แล้ว และในช่วงที่มีการระบาดในอดีต เด็กทุกคนจะต้องได้รับการปลูกฝี
หรือก็คือการฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ ที่จะช่วยป้องกันโรคฝีดาษได้
ทว่าเมื่อเวลาผ่านไป การระบาดเริ่มมีแววควบคุมได้และหยุดการแพร่กระจายเชื้อ
จึงเริ่มทยอยลดการปลูกฝีในประเทศไทย โดยเริ่มชะลอตั้งแต่ปี พ.ศ. 2517
หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2523 ทาง WHO
ได้ประกาศว่าสามารถระงับการระบาดของโรคฝีดาษได้แล้ว
ทั่วโลกจึงยกเลิกการปลูกฝีตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา
ซึ่งเท่ากับว่าคนที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2523 แทบจะไม่ได้รับการปลูกฝีกันเลย
จึงไม่มีภูมิคุ้มกันของโรคฝีดาษ แต่อาจจะมีบางคนที่แม้จะเกิดหลังปี พ.ศ.
2523 แล้วเคยปลูกฝีป้องกันโรคฝีดาษอยู่เหมือนกัน

เราสามารถฉีดวัคซีนไข้ทรพิษ
หรือการปลูกฝี ซึ่งจะช่วยป้องกันโรคฝีดาษลิงได้ประมาณ 85%
และวัคซีนตัวนี้ยังสามารถป้องกันโรคไข้ทรพิษได้ด้วยค่ะ
แต่ทั่วโลกแทบไม่มีการฉีดวัคซีนชนิดนี้แล้ว
อย่างไรก็ดี
วัคซีนก็ยังมีการผลิตขึ้นเพื่อป้องกันการใช้เป็นอาวุธชีวภาพ
และป้องกันโรคฝีดาษลิง ซึ่งสหรัฐอเมริกามีวัคซีนสำหรับป้องกันโรคฝีดาษคน 2
ตัว และได้รับการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา จากสหรัฐอเมริกา
(FDA) แล้ว คือ
- วัคซีน Imvamune (Imvanex หรือ Jynneos) ของบริษัท Bavarian Nordic
- วัคซีน ACAM2000 ของบริษัท Acambis
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับเลือด สารคัดหลั่ง หรือตุ่มหนองของสัตว์ที่ติดเชื้อหรือสัตว์ป่า โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะ เช่น หนู กระรอก ลิง เป็นต้น
- หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกไม่เพียงพอ
- หลีกเลี่ยงการรับประทานเนื้อสัตว์ป่า เนื้อสัตว์ชนิดแปลก ๆ
- หมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ เมื่อสัมผัสกับสัตว์หรือคนที่ติดเชื้อ หรือเมื่อเดินทางเข้าไปในป่า
- ไม่นำสัตว์ป่ามาเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์จากต่างประเทศโดยไม่มีการคัดกรองโรค
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ป่าที่มาจากพื้นที่เสี่ยง หรือสัตว์ป่าป่วย
- หลีกเลี่ยงการเลี้ยงหรือนำเข้าสัตว์ป่าจากต่างประเทศที่ไม่ทราบประเทศต้นทาง
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสผู้ที่มีประวัติมาจากพื้นที่เสี่ยงและมีอาการป่วย
- กรณีเดินทางกลับจากประเทศที่เป็นเขตติดโรค ต้องทำการคัดกรองและเฝ้าระวังอาการจนครบ 21 วัน
- หากมีอาการเจ็บป่วยให้รีบไปพบแพทย์ทันที และทำการแยกกักตัว เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่กระจายเชื้อ
ในส่วนของประเทศไทยนั้นได้จัดให้โรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษ (Smallpox) เป็นโรคติดต่ออันตราย เพราะเคยมีการระบาดครั้งใหญ่มาเมื่อหลายร้อยปีก่อน แต่สำหรับโรคฝีดาษลิงยังไม่เคยพบการระบาดในประเทศไทย และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน (เดือนกรกฎาคม 2565) แม้จะพบผู้ติดเชื้อรายแรกในจังหวัดภูเก็ต ก็ยังไม่ต้องหวั่นวิตกจนเกินไป ซึ่งทางกระทรวงสาธารณสุขก็ได้เฝ้าระวังและเตรียมความพร้อมในการรับมือโรคฝีดาษวานรอย่างเต็มที่