ขี้หูอุดตันทำไงดี มีวิธีกำจัดขี้หูด้วยตัวเองไหม

 

  รู้สึกหูอื้อ เหมือนมีอะไรอุดหูอยู่ตลอด แถมยังมีอาการปวดหูด้วย นั่นอาจแสดงว่าคุณมีภาวะขี้หูอุดตันอยู่ก็เป็นได้

ขี้หูอุดตัน

          ภาวะขี้หูอุดตันเกิดได้กับทุกคน โดยเฉพาะคนที่ชอบแคะหู หรือเอาอะไรแหย่เข้าไปในหู พฤติกรรมนี้อาจทำให้เกิดภาวะขี้หูอุดตันได้ง่ายขึ้น ใครมีอาการหูอื้อบ่อย เหมือนมีอะไรอุดหู ลองเช็กอาการขี้หูอุดตันพร้อมอ่านวิธีกำจัดขี้หูตามนี้เลย

ขี้หูอุดตัน ทำไงดี

        ขี้หูเป็นสิ่งที่ร่างกายผลิตขึ้นเอง จากเยื่อบุผิวช่องหูชั้นนอกที่หลุด ไขมัน สารที่ผลิตจากต่อมเหงื่อ รวมไปถึงสิ่งสกปรกต่าง ๆ ที่ก่อตัวกันมาเป็นขี้หู ซึ่งโดยปกติแล้ว ร่างกายจะมีกลไกกำจัดขี้หูโดยธรรมชาติ โดยเฉพาะในตอนเคี้ยวอาหารหรือขยับปากขี้หูก็จะกะเทาะหลุดออกมาเองได้

        แต่ในคนที่มีภาวะขี้หูอุดตัน ร่างกายอาจไม่สามารถกำจัดขี้หูออกไปได้เอง เนื่องจากขี้หูที่เกิดการอุดตันอาจแข็งตัว หรือมีขี้หูเกาะกลุ่มเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการได้ยินเสียงลดลง หรืออาจถึงขั้นสูญเสียการได้ยินชั่วคราว

ขี้หูอุดตัน

ขี้หูอุดตัน เกิดจากอะไร

        อย่างที่บอกว่าปกติคนเราจะมีขี้หูและสามารถกำจัดขี้หูได้เอง แล้วทำไมยังเกิดภาวะขี้หูอุดตันขึ้นได้ ลองมาดูสาเหตุที่ทำให้ขี้หูอุดตันกันค่ะ

    - ร่างกายผลิตขี้หูมากเกินไป

    - รูปทรงหูแคบ หรือมีรูปทรงที่ไม่เอื้อต่อการกำจัดขี้หู

    - การใช้สำลีแคะหู หรือทำความสะอาดรูหูบ่อย ๆ อาจทำให้ขี้หูถูกดันเข้าไปในหูชั้นลึกขึ้นได้ ก่อให้เกิดอาการขี้หูอุดตันได้ง่ายกว่าเดิม

    - คนที่ใส่หูฟังหรือใส่ที่อุดหูเป็นเวลานาน อาจเกิดภาวะขี้หูอุดตันได้ง่าย

ขี้หูอุดตัน

ขี้หูอุดตัน อาการเป็นอย่างไร

        หากมีภาวะขี้หูอุดตัน อาจสังเกตอาการง่าย ๆ ดังนี้

    - หูอื้อบ่อย ๆ

    - ปวดหน่วง ๆ ที่หู

    - ได้ยินเสียงไม่ชัด

    - มีเสียงในหู

    - มีของเหลวไหลออกมาจากหู

    - มีกลิ่นเหม็นออกมาจากหู

        หากอาการหนักอาจมีอาการปวดหูอย่างรุนแรง ร่วมกับมีน้ำหนองไหลออกมาจากรูหู ซึ่งควรรีบไปพบแพทย์โดยด่วนนะคะ

ขี้หูอุดตัน

วิธีกำจัดขี้หู ขี้หูอุดตันทำไงดี

             ถ้ารู้สึกว่ามีขี้หูเยอะ ความสามารถในการได้ยินลดลง หรือรู้สึกปวดหูตื้อ ๆ แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ ซึ่งแพทย์จะมีวิธีตรวจเช็กสภาพภายในรูหู พร้อมวิธีกำจัดขี้หู ดังนี้

        1. ล้างช่องหู

        แพทย์จะทำการล้างช่องหูชั้นนอกด้วยน้ำเกลือ แล้วใช้อุปกรณ์คีบขี้หู หรือดูดขี้หูออกมา

        2. ใช้ยาละลายขี้หู

ขี้หูอุดตัน

        ในกรณีที่ขี้หูไม่หลุดออกมาง่าย ๆ แพทย์อาจให้ยาละลายขี้หูไปหยอดหู โดยยาจะทำให้ขี้หูอ่อนตัว ง่ายต่อการนำขี้หูออก ซึ่งควรหยอดยาละลายขี้หูบ่อย ๆ ประมาณ 7-8 ครั้งต่อวัน และแพทย์จะทำการนัดเพื่อกำจัดขี้หูอีกครั้ง

        ทั้งนี้การรักษาขี้หูอุดตันจะช่วยบรรเทาอาการปวดหู อาการไม่ค่อยได้ยินได้ โดยอาการจะดีขึ้นหลังแพทย์กำจัดขี้หูออกให้แล้ว

ขี้หูอุดตัน ป้องกันได้

        จริง ๆ แล้วเราสามารถป้องกันขี้หูอุดตันได้ง่าย ๆ โดยมีข้อควรปฏิบัติตามนี้

    1. หลีกเลี่ยงการใช้ไม้พันสำลีแหย่เข้าไปในช่องหู รวมไปถึงไม้แคะหูรูปแบบอื่น ๆ ที่อาจดันขี้หูให้ไปอยู่ลึก ๆ ได้ และยังกระตุ้นให้ต่อมสร้างขี้หู ผลิตขี้หูออกมามากขึ้น
 
ขี้หูอุดตัน

    2. สามารถใช้ยาละลายขี้หูหยอดหูเป็นประจำ เพื่อทำการล้างขี้หู โดยอาจหยอดยาละลายขี้หูสัปดาห์ละครั้ง หรือถ้าไม่มีปัญหาแน่นหู หูอื้อ อาจหยอดยาละลายขี้หูเดือนละครั้งก็จะช่วยลดความเสี่ยงขี้หูอุดตันได้

        รู้อย่างนี้แล้วก็อย่าแคะหูบ่อย ๆ นะคะ หากหูเปียกอาจใช้ผ้าขนหนูเช็ดหูภายนอกแทนการใช้สำลีพันไม้แหย่เข้าไปในหู ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงแก้วหูทะลุในกรณีที่แหย่ลึกเกินไปด้วย


ขอบคุณข้อมูลจาก
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, โรงพยาบาลเวชธานี