ไอแห้งคืออาการแบบไหน แล้วถ้าไอแห้ง ๆ คันคอ เป็นเรื้อรังมาสักพัก ป่วยอะไรได้บ้างลองเช็กดู
อาการไอเกิดขึ้นกับเราได้บ่อย อย่างอากาศเปลี่ยน
นอนห้องแอร์ทั้งคืน โดนพัดลมพัดตลอดก็อาจมีอาการไอแห้ง ๆ ขึ้นมาได้
ทว่าในช่วงที่โควิด 19 ระบาดอยู่ เวลามีอาการไอแห้งขึ้นมาหลายคนก็เริ่มกังวลใจ เพราะไอแห้งก็เป็นหนึ่งในอาการแสดงของโรคโควิด 19 ด้วยเหมือนกัน ทว่าก็ยังมีโรคหรือภาวะอื่น ๆ ที่แสดงอาการไอแห้งได้อีกด้วยนะ ตามนี้เลย
ไอแห้ง เกิดจากอะไรได้บ้าง
อาการไอแห้ง คือ อาการไอไม่มีเสมหะ ไม่มีน้ำลาย
เหมือนคอแห้งแล้วมีอาการไอขึ้นมา โดยอาการไอแห้ง ๆ
เป็นได้ตั้งแต่ไอเล็กน้อยไปจนถึงไอหนัก ๆ และอาจมีอาการคันคอ ระคายคอ
เหมือนมีอะไรติดอยู่ในคอ
ร่วมกับอาการเสียงแหบได้ในรายที่ไอหนักและไอติดต่อกัน
ซึ่งอาการไอแห้งอาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ ดังนี้
1. สิ่งระคายเคือง
อย่างที่บอกว่าอาการไอแห้งเกิดขึ้นได้ง่าย ๆ
ในชีวิตประจำวันของเรา อย่างการมีสิ่งระคายเคืองคอ เช่น ควันบุหรี่ ควันไฟ
ควันจากท่อไอเสียเครื่องยนต์ ฝุ่นละออง ฝุ่นพิษ PM2.5
กลิ่นสารเคมีหรือกลิ่นฉุนบางอย่าง
ก็อาจทำให้ระบบทางเดินหายใจเกิดระคายเคืองและส่งผลให้เราไอแห้งขึ้นมาได้
แต่อาการไอแห้งจากสาเหตุนี้จะเป็นเพียงช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น
หากออกจากพื้นที่ที่มีสิ่งระคายเคืองหรือร่างกายกำจัดสิ่งระคายเคืองออกไปได้หมด
อาการไอแห้ง ๆ ก็จะหายไปด้วย
2. ภูมิแพ้
โรคภูมิแพ้แค่เจอกับสิ่งกระตุ้นที่ก่อให้เกิดอาการแพ้
เช่น ไรฝุ่น เกสรดอกไม้ ขนสัตว์ ก็มีอาการไอแห้ง ๆ หรือไอแห้งแบบคันคอได้
นอกจากนี้ยังอาจมีอาการน้ำมูกไหล น้ำตาไหล คันยิบ ๆ ที่จมูก ตา จามเป็นช่วง
ๆ หรือรู้สึกมีเสมหะติดอยู่ในลำคอร่วมด้วย
และอาการไออาจรุนแรงมากขึ้นในช่วงเวลากลางคืน
ซึ่งการรักษาก็ควรรีบหลีกเลี่ยงสิ่งที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองอย่างไว
และอาจจำเป็นต้องใช้ยาแก้แพ้ หรือหากอาการหนัก หายใจลำบาก
ก็อาจต้องใช้ยาพ่นช่วยบรรเทาอาการ
โรคแพ้อากาศ น้ำมูกไหล จาม เมื่ออากาศเปลี่ยน ดูแลตัวเองยังไงดี
3. หอบหืด
หอบหืดเป็นโรคที่สภาพอากาศก็มีผลต่ออาการเหมือนกัน
โดยเมื่อผู้ป่วยเจออากาศเย็น ๆ สัมผัสกับสิ่งระคายเคือง
หรือติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ ก็จะทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมตีบ
เยื่อบุในหลอดลมอักเสบ หรือหลอดลมฝอยตีบ ทำให้หายใจไม่สะดวก ไอมาก
หอบเหนื่อย หายใจมีเสียงวี้ดหรือหายใจดัง ซึ่งการรักษาก็มีหลายวิธี
ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรคที่เป็นอยู่
4. ไอกรน
สำหรับคนที่ไอแห้ง ๆ ถี่ ๆ ติดต่อกันเป็นชุดใหญ่
และมีอาการไอเรื้อรังมานานเกิน 10 วัน หายใจเข้าแรงจนเกิดเสียงดัง "วู้ป"
(Whooping Cough) อาจต้องสงสัยโรคไอกรนไว้หน่อยแล้วล่ะค่ะ
ยิ่งถ้ามีอาการไอแห้ง ๆ แบบนี้ ร่วมกับอาการตาแดง มีไข้ต่ำ ๆ น้ำมูก
น้ำตาไหล ก็น่าจะใช่อาการของโรคไอกรน
5. โรคไอ 100 วัน
โรคไอ 100 วัน เป็นโรคที่มีมาตั้งแต่สมัยโบราณ
แต่ในปัจจุบันจะเรียกโรคนี้ว่า ภาวะหลอดลมอักเสบเฉียบพลัน
ซึ่งเกิดได้จากหลายสาเหตุ และส่งผลให้มีอาการไอแห้ง ๆ เรื้อรังนานเป็นเดือน
ๆ โดยไม่มีไข้ ไม่ได้ป่วย และสุขภาพโดยรวมก็ดูสบายดี
6. โรคกรดไหลย้อน
หากไอแห้ง ๆ หลังกินอิ่มและหลังล้มตัวลงนอน
ร่วมกับมีอาการแสบร้อนกลางอก หรือบางคนมีอาการเรอเปรี้ยว
แบบนี้อาจเป็นโรคกรดไหลย้อนอยู่ก็ได้
7. ผลข้างเคียงจากยาบางชนิด
โดยเฉพาะยาลดความดันโลหิตในกลุ่ม ACE inhibitors เช่น ยา
Enalapril ซึ่งใช้รักษาอาการผู้ป่วยโรคไตและเบาหวานด้วย
โดยยากลุ่มนี้มักทำให้เกิดอาการไอแห้ง ๆ ใน 20% ของผู้ป่วยที่ใช้ยาดังกล่าว
รวมไปถึงยารักษาโรคกระดูกพรุน Bisphosphonates ซึ่งหากรับประทานไม่ถูกเวลา
หรือไม่ถูกวิธี ก็อาจส่งผลให้เกิดการระคายเคืองหลอดอาหาร
จนเกิดอาการแสบหน้าอก ไออย่างรุนแรง หรือไอเป็นเลือดได้ ทั้งนี้
อาการไอที่เกิดจากยาสามารถหลีกเลี่ยงได้ด้วยการปรึกษาแพทย์ให้เปลี่ยนยา
กินยาให้ถูกวิธี หรือหากอาการไอแห้ง ๆ
ไม่ได้ส่งผลกระทบที่ร้ายแรงก็อาจไม่จำเป็นต้องรักษาเลยก็ได้
8. ปอดอักเสบ
อาการปอดอักเสบในระยะแรก ๆ อาจมีอาการคล้ายหวัด คือ
ไอแห้ง จาม เจ็บคอ แต่ในระยะหลังอาจมีอาการไข้สูง หนาวสั่น อ่อนเพลีย
ปวดศีรษะ หอบเหนื่อย เจ็บชายโครง ตามมาได้
และหากไม่รีบรักษาก็อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย
9. โควิด 19
อาการไอแห้ง ๆ เป็นหนึ่งในอาการแสดงของโควิด 19
ด้วยเหมือนกัน แต่ทั้งนี้ต้องเช็กสัญญาณอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น
ไข้สูงติดต่อกัน 48 ชั่วโมง ไม่มีแรง ปวดเมื่อยเนื้อตัว เจ็บคอ
จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส มีผื่นแดงขึ้นตามร่างกาย เหนื่อยง่าย
หายใจลำบาก แน่นหน้าอก เป็นต้น
ใครมีอาการไอแห้งลองแก้ไอด้วยสูตรธรรมชาติดูก่อนก็ได้
แต่หากไอติดต่อกันมานานเกิน 2 สัปดาห์แล้วก็ไม่หาย
ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจสักหน่อย แม้จะไม่มีอาการป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วยก็ตาม