ผดร้อน ตุ่มเล็ก ๆ แดง ๆ ที่ขึ้นตามผิวหนังเวลาอากาศร้อน จริง ๆ แล้วเกิดจากอะไร และมีวิธีป้องกันอย่างไร รู้ไว้ไม่เสียหาย
พอเข้าสู่ช่วงอากาศร้อน ๆ จนแทบปรอทไหม้
นอกจากจะต้องระมัดระวังเรื่องโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารแล้ว
ยังต้องระวังอาการทางผิวหนังที่เกิดจากความร้อนอย่างผดร้อนอีกด้วย
เพราะเจ้าอาการนี้เกิดขึ้นได้ง่าย ซึ่งนอกจากจะมีรอยแดง ๆ เป็นปื้น ๆ แล้ว
บางรายก็อาจจะมีอาการคันตามมา
แถมบางคนก็ยังเข้าใจผิดไปว่านี่คือผื่นที่เกิดจากการแพ้เหงื่อ ซึ่งจริง ๆ
แล้วก็อาจจะไม่ใช่ วันนี้กระปุกดอทคอมก็เลยขอนำเรื่องผดร้อน
เรื่องใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้ามมาฝากกันค่ะ
เผื่อว่าในช่วงที่อุณหภูมิสูงจนเหมือนอยู่ในเตาอบนี้ เกิดเป็นตุ่มแดงเล็ก ๆ
ขึ้นมาตามผิวหนังจะได้หาวิธีรักษากันเองได้ ไม่ต้องร้อนใจอีกต่อไป
ผดร้อน คืออะไร
ผดร้อน เกิดจากอะไร
ผดร้อน เป็นอาการทางผิวหนังที่เกิดจากต่อมเหงื่อใต้ผิวหนังทำงานผิดปกติ โดยสาเหตุที่ทำให้เกิดผดร้อนนั้นจะแบ่งออกตามชนิดของผดร้อนดังนี้ค่ะ
- มิเลียเรีย คริสตัลลินา (Miliaria Crystallina)
ผดร้อนชนิดนี้เป็นผดร้อนที่มีอาการรุนแรงน้อยที่สุดและมักพบได้บ่อยที่สุด เมื่อเทียบกับผดร้อนชนิดอื่น ๆ โดยสาเหตุเกิดจากการรั่วของท่อเหงื่อและสะสมอยู่บริเวณผิวหนังชั้นนอกสุดที่ปกคลุมด้วยผิวหนังบาง ๆ ทำให้เกิดเป็นตุ่มใส ๆ ไม่มีอาการคันและแตกเป็นสะเก็ดได้ง่าย สามารถเกิดได้ทุกส่วนของร่างกาย แต่ในผู้ใหญ่มักจะพบบริเวณลำตัวมากที่สุด ผดร้อนชนิดนี้จะเกิดขึ้นหลังจากสัมผัสอากาศร้อนมากกว่า 1-2 วันขึ้นไป เป็นผดร้อนที่พบได้บ่อยในเด็กทารก
- มิเลียเรีย รูบรา (Miliaria Rubra)
เป็นผดร้อนชนิดที่ก่อให้เกิดอาการแสบและคัน เกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อในผิวหนังชั้นนอก ทำให้เหงื่อไหลออกมาสะสมที่บริเวณผิวหนังชั้นนอก โดยผดร้อนชนิดนี้จะมีอาการอักเสบร่วมด้วย ทำให้เกิดบวมแดงร่วมกับอาการแสบและคัน ผดร้อนชนิดนี้สามารถกลายเป็นผดที่มีตุ่มหนองได้หากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกวิธี
- มิเลียเรีย โพรฟันดา (Miliaria Profunda)
อาการของผดร้อนชนิดนี้จะแตกต่างจากผดร้อนชนิดอื่นโดยสิ้นเชิง เพราะลักษณะของผดจะมีขนาดใหญ่ เป็นปื้นหนาสีเนื้อ มีสาเหตุมาจากการรั่วไหลของต่อมเหงื่อในชั้นหนังแท้ ส่งผลให้เหงื่อไม่สามารถไหลออกมาได้ โดยจะเกิดขึ้นหลังจากผิวหนังสัมผัสความร้อนไม่กี่ชั่วโมง ผดที่เกิดขึ้นจะไม่มีอาการคัน แต่จะทำให้ร่างกายไม่สามารถหลั่งเหงื่อออกมาเพื่อระบายความร้อน ซึ่งอาจส่งผลให้หน้ามืดและวิงเวียนได้
ผื่น
ผด กับ ผื่น ต่างกันอย่างไร
ผดและผื่นมองผิวเผินอาจจะคล้ายกัน แต่ขอบอกเลยว่าทั้ง 2 อาการนี้ไม่ใช่อย่างเดียวกันนะคะ เพราะผดและผื่นนั้นมีสาเหตุการเกิดที่แตกต่างกัน
โดยผดจะเกิดจากการอุดตันของต่อมเหงื่อ และมักเกิดขึ้นในช่วงที่มีอากาศร้อนจัด บ้างก็คัน บ้างก็ไม่ทำให้รู้สึกคัน แล้วแต่ชนิดของผด และเป็นอาการที่ไม่เป็นอันตราย แต่ผื่นนั้นส่วนใหญ่แล้วจะเกิดจากการแพ้ และถ้าหากเกา ผื่นก็จะยิ่งหนาและลามเป็นวงกว้างมากขึ้น จนกลายเป็นหนองหรืออักเสบ ผื่นที่เกิดขึ้นจะทำให้เกิดอาการคัน และไม่สามารถรักษาได้ด้วยยาแก้คัน แต่ต้องใช้ยาแก้แพ้ช่วยในการรักษาค่ะ
ผดร้อน อาการเป็นอย่างไร
โดยส่วนใหญ่แล้วผดร้อนที่เกิดตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายจะมีลักษณะเป็นปื้นแดง หรือเป็นตุ่มน้ำใส ๆ ขนาดเล็ก รวมกันเป็นกระจุก จะมีอาการคันและแสบหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของผดร้อน แต่อาจจะเกิดการอักเสบได้หากเกิดการเสียดสีบริเวณที่เป็นผดร้อน นอกจากนี้ถ้าหากเป็นผดร้อนชนิดที่มีอาการแสบและคันร่วมด้วย อาการอาจจะยิ่งเลวร้ายขึ้นถ้าหากโดนเหงื่อค่ะ
ผดร้อน ใครเสี่ยงบ้าง
ผดร้อนสามารถเกิดได้กับทุกคน แต่กลุ่มคนที่เสี่ยงจะเกิดได้ง่ายกว่าคนปกติทั่วไปนั้น ได้แก่ เด็กทารก ผู้สูงอายุ และคนอ้วนที่มีส่วนของร่างกายที่อาจเสียดสีกัน อาทิ บริเวณขาหนีบ ใต้รักแร้ หรือบริเวณไขมันหน้าท้องที่เป็นชั้น ๆ เป็นต้น เนื่องจากกลุ่มคนเหล่านี้จะมีส่วนของร่างกายที่อับชื้นและผิวหนังบางส่วนอาจไม่ได้รับการระบายอากาศที่ดีเพียงพอ ทั้งนี้ คนที่ออกกำลังกายหนัก ๆ มีเหงื่อออกมากก็เสี่ยงจะเกิดผดร้อนได้เช่นกัน ไม่เพียงเท่านั้นการสวมใส่เสื้อผ้าที่ไม่สามารถระบายอากาศได้ดีก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดผดร้อนได้ด้วย
ผดร้อน เป็นแล้วควรไปหาหมอหรือไม่ ?
ปกติแล้วผดร้อนเป็นอาการที่สามารถรักษาด้วยตนเองได้และไม่จำเป็นต้องไปพบแพทย์ แต่ถ้าเกิดผดร้อนติดต่อกันเป็นเวลานาน และมีไข้ ตัวเย็น เจ็บบริเวณที่เป็นผดร้อนมากผิดปกติ หรือมีหนองออกมาจากแผลผดร้อน ควรรีบไปพบแพทย์ เพราะนั่นอาจเป็นการติดเชื้อที่ต้องได้รับการรักษาอย่างเร่งด่วน
ผดร้อน รักษาอย่างไร
อาการของผดร้อนไม่ใช่เรื่องอันตรายหรือน่ากลัวแต่อย่างใด และสามารถรักษาให้หายได้ในเวลาไม่นาน เพราะสาเหตุเกิดจากความร้อน ดังนั้นถ้าหากผิวหนังบริเวณดังกล่าวเย็นลงก็จะทำให้อาการผดร้อนลดลงจนหายเป็นปกติค่ะ ซึ่งวิธีรักษาก็มีหลากหลายวิธี ดังนี้
- ใช้ครีมรักษาอาการคันที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป หรือคาลาไมน์ เพื่อบรรเทาอาการแสบและคัน
- ในรายที่มีการอักเสบ ควรใช้ยาทาที่มีส่วนผสมของยาปฏิชีวนะด้วย เพื่อรักษาอาการติดเชื้อที่ผิวหนังและต่อมเหงื่อ
- เปลี่ยนมาสวมใส่เสื้อผ้าที่สามารถระบายอากาศได้ดี หรืออาบน้ำเพื่อให้ผิวหนังบริเวณที่เกิดผดร้อนเย็นลง
- พยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เหงื่อสัมผัสกับบริเวณที่เป็นผดร้อน เพราะจะยิ่งทำให้แสบมากขึ้น
- นำผ้าสะอาดชุบน้ำเย็นแล้วบิดให้หมาดประคบบริเวณที่เป็นผดร้อน เพื่อลดความร้อนของผิวหนัง
- ใช้สมุนไพรที่มีฤทธิ์เย็น เช่น ว่านหางจระเข้ ทาบริเวณที่เป็นผดร้อนก็จะช่วยบรรเทาอาการได้ หรือลองดูวิธีแก้ผดผื่นคันด้วยสมุนไพรตามนี้ >> 15 สมุนไพรแก้ผดผื่นคันหน้าร้อน หายได้ด้วยของดีใกล้ตัว
ผดร้อน ป้องกันได้ แค่ทำตามนี้
แม้จะไม่สามารถหลีกหนีจากอากาศร้อน แต่เราก็ยังสามารถลดโอกาสที่จะเกิดผดร้อนได้ เพียงแค่รู้วิธีป้องกันการเกิดผดร้อนง่าย ๆ เหล่านี้
- หลีกเลี่ยงการสวมเสื้อผ้าฟิต ๆ พอดีตัว หรือหนาเกินไป และควรสวมเสื้อผ้าที่สามารถระบายอากาศได้
- ไม่ควรทาครีมหรือโลชั่นบำรุงผิวหนาเกินไป เพราะจะทำให้เกิดการอุดตันที่รูขุมขน
- หลีกเลี่ยงการอยู่ในบริเวณที่ร้อนจัดหรืออากาศอบอ้าวเป็นเวลานาน ควรอยู่ในบริเวณที่อากาศถ่ายเทและไม่ร้อนมากนัก
- เลือกใช้สบู่ที่เหมาะกับสภาพผิว และไม่มีส่วนผสมของน้ำหอมหรือสารเคมีมากจนเกินไป เพราะสารเคมีอาจจะทำให้ต่อมเหงื่อทำงานผิดปกติได้
- ในวันที่อากาศร้อนจัดควรหมั่นเช็ดตัวด้วยน้ำเย็น เพื่อให้อุณหภูมิที่ผิวหนังลดลง
- เลี่ยงการออกกำลังกายอย่างหนักในวันที่สภาพอากาศร้อน
นอกจากผดร้อนที่มักเกิดขึ้นตามข้อพับและซอกต่าง ๆ ตามร่างกายแล้ว ยังมีผดที่เกิดขึ้นตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกายที่เกิดจากอากาศร้อนอีกด้วย โดยสามารถแบ่งได้ดังนี้
- ผดร้อนขึ้นหน้า
ผดที่เกิดขึ้นบนใบหน้า เรียกว่าสิวผด มีสาเหตุมาจากสิวอุดตันหรือสิวอักเสบบนใบหน้าที่มีอยู่แล้ว และเมื่อเจอกับอากาศร้อนก็ทำให้ผิวหน้าที่อุดตันเพราะสิวเกิดผดขึ้น ยิ่งร้อนก็ยิ่งเป็นมาก โดยจะขึ้นมากที่สุดบริเวณหน้าผาก และเป็นตุ่มสีแดงเล็ก ๆ คล้ายสิวอักเสบ ทั้งนี้อาการจะทุเลาลงเมื่ออากาศเย็นลง ซึ่งวิธีรักษาก็เช่นเดียวกับการรักษาสิว คือ ไม่ควรล้างหน้าบ่อย ๆ ไม่เครียด หลีกเลี่ยงอากาศร้อน และควรล้างหน้าให้สะอาดทุกครั้งค่ะ
- ผดผื่นคันตามตัว
ผดชนิดนี้เป็นผดชนิดมิเลียเรีย รูบรา (Miliaria Rubra) ซึ่งก่อให้เกิดอาการคัน โดยส่วนใหญ่มักจะขึ้นตามลำตัว ตั้งแต่คอ ลงมาที่หลังและแขน โดยมีสาเหตุเกิดมาจากการอุดตันของต่อมเหงื่อเช่นกัน และวิธีการรักษาก็เหมือนกับการรักษาผดร้อนโดยปกติ แต่ที่สำคัญคือห้ามเกา เพราะถ้าหากเกาจะยิ่งทำให้เกิดการอักเสบและติดเชื้อได้ค่ะ
ได้ทำความรู้จักกับผดร้อนกันมากขึ้นแล้ว จากนี้ไปก็ต้องระมัดระวังกันให้มากขึ้นนะคะ เพราะถึงแม้ว่าผดร้อนจะไม่อันตรายแต่ก็สร้างความรำคาญได้ไม่น้อย ทางที่ดีหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดจะดีกว่าจะได้ไม่ต้องมานั่งทายารักษากันทีหลังค่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก
medicinenet.com
healthline.com