นอนเท่าไรก็ไม่พอ นอนเยอะแต่ยังเพลีย อาการแบบเนี่ย...อาจป่วยโรคนอนเกิน !


อยากนอนทั้งวัน รู้สึกว่านอนเท่าไรก็ไม่พอ เพราะตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น แม้จะนอนนานเกิน 8 ชั่วโมงก็ตาม แต่ยังง่วงนอนบ่อย เช็กหน่อยว่าปกติหรือป่วย

โรคนอนเกิน


         นอกจากปัญหานอนไม่หลับและนอนหลับยากแล้ว การนอนเยอะเกินไปก็นับเป็นปัญหาได้เหมือนกัน ดูได้จากวันไหนที่นอนเยอะ ๆ ตื่นมาแล้วจะปวดหัว เพลีย แถมยังรู้สึกง่วงไปตลอดทั้งวัน บางคนมีอาการหลับนกในวงสนทนาไปเลยก็มี ใครมีอาการนอนเท่าไรก็ไม่พอแบบนี้ลองมาเช็กซิว่าป่วยโรคนอนเกิน หรือ Hypersomnia อยู่หรือเปล่า


โรคนอนเกิน (Hypersomnia) คืออะไร

          โรคนอนเกิน หรือ Hypersomnia จัดเป็นความผิดปกติของการนอนหลับอย่างหนึ่ง โดยมักจะเกิดในคนขี้เซา ปลุกไม่ยอมตื่นง่าย ๆ เหมือนนอนเท่าไรก็ไม่เต็มอิ่มสักที ทั้งนี้คนที่มีภาวะนอนเกินมักจะมีอาการตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น ง่วงระหว่างวัน เฉื่อยชา อ้วนง่าย หรือมีอาการหลับได้ทันทีแม้จะนั่งพูดคุยกันอยู่ดี ๆ หรือหลับได้ทั้ง ๆ ที่ยังกินข้าวอยู่ เป็นต้น


โรคนอนเกิน


นอนเยอะเกินไป สาเหตุเกิดจากอะไรได้บ้าง


     โรคนอนเกินเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน ดังนี้


          1. อดนอนบ่อย ๆ ทำให้ร่างกายอยู่ในสภาวะพักผ่อนไม่เพียงพอ จนนอนเท่าไรก็ไม่เต็มอิ่มสักที


          2. นอนกรน ซึ่งมักจะมีภาวะหยุดหายใจระหว่างนอนหลับ ส่งผลให้คุณภาพการนอนไม่ดี เกิดปัญหานอนไม่เต็มอิ่ม


          3. Jet lag หรือภาวะนาฬิกาชีวภาพในร่างกายแปรปรวน โดยเฉพาะคนที่เดินทางข้ามประเทศที่มีเวลาต่างจากบ้านเรามาก ๆ บ่อยครั้งหรือเป็นประจำ


          4. ฮอร์โมนในร่างกายหรือสารเคมีในร่างกายไม่ปกติ ทำให้ร่างกายนอนมากเกินไป


          5. สมองได้รับบาดเจ็บหรือมีโรคเกี่ยวกับทางสมองต่าง ๆ


          6. การรับประทานยาบางชนิด เช่น ยาแก้แพ้ ยาที่มีผลข้างเคียงทำให้ง่วงซึม เป็นต้น


โรคนอนเกิน


อาการแบบไหนที่เรียกว่านอนเยอะเกินไป !


     บางคนสงสัยว่านอนมากขนาดไหนที่จะเรียกว่านอนเยอะเกินไป งั้นเรามาเช็กอาการของโรคนอนเกินเลยดีกว่า


          1. ขี้เซา หลับแล้วตื่นยากมาก ๆ


          2. มีอาการง่วงระหว่างวัน และมักจะงีบหลับวันละหลายครั้ง


          3. เฉื่อยชา สมองล้าเหมือนนอนไม่พอ


          4. หัวสมองไม่แล่น ทำงานหรือเรียนได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ


          5. มีอาการหงุดหงิด สับสนเมื่อถูกปลุกในระหว่างที่หลับ


          6. นอนได้ทั้งวัน เรียกว่าตื่นมากินแล้วก็นอนต่อได้เลย


          7. อ้วนง่ายผิดปกติ แม้จะกินอาหารไม่เยอะก็ตาม


          8. ตื่นนอนแล้วไม่สดชื่น อยากนอนต่ออีก แม้ก่อนหน้านี้จะนอนเยอะแค่ไหนก็ตาม


          9. คนที่มีอาการหนักอาจงีบหลับในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม เช่น หลับในขณะกินข้าว หลับทั้ง ๆ ที่ยังคุยกับบุคคลอื่นอยู่


          ถ้ามีอาการดังกล่าวก็ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางให้ไวเพื่อให้แพทย์วินิจฉัยอาการนอนผิดปกติของเราให้ชัดเจน


โรคนอนเกิน


นอนเยอะเกินไป ส่งผลเสียได้มากมายอย่างคาดไม่ถึง !

          นอนเยอะ ๆ ใช่ว่าจะดีเสมอไป อย่างการนอนเยอะเกินไปของโรคนอนเกิน ก็ส่งผลเสียให้ร่างกายได้ตามนี้เลย


1. สมองเฉื่อยชา

          มีภาวะสมองล้า กลายเป็นคนไม่กระฉับกระเฉง ไม่มีชีวิตชีวา มีอาการเซื่องซึมเพราะรู้สึกง่วงนอนตลอดเวลา


2. เสี่ยงโรคกระดูกพรุน ข้อเสื่อม


          ด้วยพฤติกรรมนอนหลับเยอะเกินไป ทำให้ร่างกายไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว ไม่มีความคล่องตัว จึงอาจส่งผลเสียให้มีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน ข้อเสื่อม มากกว่าปกติ


3. อ้วนง่าย


โรคนอนเกิน


          คนที่ป่วยโรคนอนเกินส่วนมากจะมีพฤติกรรมกินแล้วนอน ไม่ค่อยได้ลุกไปทำกิจกรรมอะไรเท่าไร ทำให้อ้วนง่าย น้ำหนักตัวมากขึ้นแม้จะกินเท่าเดิมก็ตาม


4. เสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจ


          งานวิจัยจากวิทยาลัยแพทย์ ชิคาโก เผยว่า คนที่นอนมากกว่า 8 ชั่วโมงต่อวัน จะมีความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าคนทั่วไปถึง 10% และมีความเสี่ยงต่ออาการเจ็บหน้าอกมากกว่าปกติประมาณ 2 เท่าเลยทีเดียว


          นอกจากนี้ผลการศึกษาจาก Nurse’s Health ยังพบว่า ผู้ที่นอนหลับมากกว่า 8 ชั่วโมง มีโอกาสเสี่ยงโรคหัวใจมากกว่าคนที่นอนปกติถึง 38%

5. ไม่สดใส ไม่มีชีวิตชีวา


          การนอนเยอะเกินไปอาจทำให้เกิดความวิตกกังวล ความเครียดได้ง่าย เพราะพฤติกรรมการนอนของตัวเองอาจส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตในด้านอื่น ๆ


6. สมองทำงานช้าลง


โรคนอนเกิน


          ผลการศึกษาจาก United Kingdom เผยว่า พฤติกรรมการนอนหลับที่มากเกินปกติเป็นปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือดตีบตัน (Stroke) และอาจส่งผลให้การทำงานของสมองช้าลงกว่าที่ควรจะเป็นด้วยนะคะ


7. ตั้งครรภ์ยากขึ้น


          ไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมนอนน้อยหรือพฤติกรรมนอนเกิน ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การหลั่งฮอร์โมนของร่างกาย ลามไปถึงการตกไข่ของคุณผู้หญิงผิดปกติไป ด้วยเหตุนี้หากเรามีพฤติกรรมนอนเกินหรือนอนน้อยบ่อย ๆ โอกาสที่ร่างกายจะสมบูรณ์พร้อมที่จะมีบุตรก็อาจเป็นไปได้ยาก ที่สำคัญยังอาจส่งผลให้ประจำเดือนมาไม่ปกติอีกต่างหาก


8. เสี่ยงโรคเบาหวาน


          จากการสำรวจจะพบว่า คนที่นอนมากเกินไปมักจะมีคุณภาพการนอนหลับที่ไม่ดี เช่น อาจจะหลับ ๆ ตื่น ๆ นอนหลับไม่สนิท ทำให้ร่างกายพักผ่อนไม่เต็มที่ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้อาจทำให้ฮอร์โมนในร่างกายผิดปกติไป และอาจส่งผลต่อการทำงานของตับอ่อน อวัยวะที่ควบคุมการผลิตอินซูลิน เพิ่มความเสี่ยงโรคเบาหวานขึ้นมาได้ง่าย ๆ เลย


9. เสี่ยงโรคซึมเศร้า


โรคนอนเกิน

          ถ้าเรามีภาวะนอนหลับมากเกินไป ง่วงซึมทั้งวัน รวมไปถึงมีอาการเบื่อ ๆ ไม่อยากลุกมาทำอะไรเลยเอาแต่นอน นี่อาจเป็นหนึ่งสัญญาณที่บอกว่าเรามีอาการของโรคซึมเศร้าอยู่ก็ได้ ยิ่งถ้าใครรู้สึกว่าตัวเองไร้ค่า มีความคิดอยากจบ ๆ ชีวิตนี้ไป ไม่อยากอยู่บนโลกใบนี้อีกแล้ว ควรรีบปรึกษาจิตแพทย์ด่วนเลยค่ะ


10. เสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร


          งานวิจัยในปี 2010 พบว่า ผู้ที่นอนหลับทั้งนานเกินไปและน้อยเกินไปมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตก่อนวัยอันควร โดยผู้ที่นอนหลับนานกว่า 8 ชั่วโมง จะมีโอกาสเสี่ยงเสียชีวิตมากกว่าผู้ที่นอนตามปกติถึง 3 เท่า !


นอนเยอะเกินไป แก้ได้ไหมนะ


          จริง ๆ แล้วโรคนอนเกินสามารถรักษาได้ ด้วยการปรับพฤติกรรมการนอนหลับ แต่ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์เพื่อให้แพทย์วินิจฉัยสาเหตุของการนอนเกินที่เราเป็น จะได้รักษาได้อย่างตรงจุดนั่นเอง


ปรับพฤติกรรมการนอนให้มีคุณภาพ เราทำได้ไม่ยากเลย


          ใครอยากลองนอนให้มีคุณภาพ เรามีเคล็ดลับนอนหลับเพื่อสุขภาพที่ดีมาบอกต่อ


โรคนอนเกิน

          * ควรรับประทานอาหารก่อนเวลาเข้านอน 4 ชั่วโมง และงดอาหารหนัก ๆ ย่อยยาก เช่น เนื้อ อาหารไขมันสูง ซึ่งจะทำให้ร่างกายต้องใช้เวลาย่อยอาหารเหล่านี้นาน


          * งดน้ำอัดลม แป้งขัดขาว เบเกอรี่ ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดผิดปกติ ทำให้ง่วงซึมตลอดทั้งวัน


          * งดใช้เครื่องมือสื่อสารก่อนเข้านอน 2-3 ชั่วโมง เพื่อให้ร่างกายได้ปรับตัวเข้าสู่ช่วงนอนหลับพักผ่อน


          * ไม่เอาเรื่องเครียดมาใส่สมอง ควรทำตัวให้ผ่อนคลาย ที่สำคัญคืออย่าหอบงานมาทำที่บ้านจนดึกดื่น


          * จัดห้องนอนให้โปร่ง สะอาด อากาศถ่ายเทดี แสงไฟไม่จ้าจนเกินไป ให้เหมาะสมกับการนอน และควรทำความสะอาดหมอน ผ้าห่ม เครื่องนอนต่าง ๆ ให้สะอาดอยู่เสมอ


          * ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม เพื่อเพิ่มความคล่องตัวของร่างกาย และช่วยเพิ่มออกซิเจนในเลือด


          * พยายามเข้านอนไม่เกิน 4 ทุ่ม เพื่อให้ระบบต่าง ๆ ของร่างกายทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ


                    - 10 ข้อดีของการนอนก่อน 4 ทุ่ม รู้แล้วเปลี่ยนพฤติกรรมด่วน !


โรคนอนเกิน


          * พยายามนอนหลับและตื่นนอนในเวลาเดียวกันทุกวัน เป็นการรีเซตนาฬิกาของชีวิตใหม่


          * ดื่มนมอุ่น ๆ 1 แก้วก่อนนอน เพื่อให้สมองสร้างฮอร์โมนเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทสมองที่ช่วยให้เราหลับได้ง่ายขึ้น 


          * เปิดเพลงคลอเบา ๆ หรือฟังเสียงธรรมชาติก่อนนอน ให้คลื่นเสียงช่วยกล่อมให้นอนหลับสบาย


          * ทำสมาธิ หรือสวดมนต์ก่อนนอน สัก 5-10 นาที จะช่วยให้จิตใจสงบ ทำให้หลับสนิท

 

          ไม่น่าเชื่อว่าแค่ชอบนอน นอนเยอะเกินไป จะส่งผลต่อสุขภาพมากมายขนาดนี้เลย

ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี

โรงพยาบาลสมิติเวช

โรงพยาบาลพญาไท

Reader’s digest