แพ้เหงื่อ ผื่นผิวหนังที่อาจอันตรายจนถึงชีวิต

เคยได้ยินคนที่รู้จักบอกว่าตัวเองเป็นภูมิแพ้ “แพ้เหงื่อ” ตัวเอง เมื่อเรามองเห็นผื่นแดงๆ ตามแขนขา หรือแผ่นหลังของพวกเขากันมาบ้างหรือเปล่าคะ แล้วเคยสงสัยไหมว่า มันมีอาการ “แพ้เหงื่อ” อยู่จริงหรือเปล่า เพราะคนเราก็ต้องมีเหงื่อออกอยู่บ่อยๆ อยู่แล้ว หากมีผื่นขึ้นทุกครั้งที่เหงื่อออกคงจะแย่แน่ๆ แท้ที่จริงแล้วอาการแพ้เหงื่อเป็นอย่างไร อันตรายมากขนาดไหน รักษาให้หายได้ไหม มาหาคำตอบกัน

อันที่จริงแล้ว อาการแพ้เหงื่อ เป็นลมพิษชนิดหนึ่งที่เกิดจากความร้อน โดยความร้อนเข้าไปกระตุ้นการทำงานของต่อมเหงื่อ ทำให้เหงื่อหลั่งออกมาพร้อมกับการขึ้นของผื่น หรือบางคนอาจจะมีความผิดปกติของการทำงานของภูมิต้านทานอย่าง สารอิมมิวโนโกลบูลิน (Immunoglobulin-G: IgG) ที่ต่อต้านเหงื่อของตัวเอง จึงทำให้ที่ผิวหนังเกิดเป็นผื่นลมพิษขึ้น

สาเหตุของอาการแพ้เหงื่อ
เมื่อเราทำกิจกรรมอะไรก็ตามที่เป็นการเร่งการทำงานของต่อมเหงื่อ เช่น ออกกำลังกาย อาบน้ำอุ่น อบซาวน่า หรือการสวมเสื้อผ้าที่มีการระบายอากาศได้น้อย สิ่งเหล่านี้ทำให้ต่อมเหงื่อสร้างเหงื่อขึ้นมาเพื่อคลายร้อน เพื่อปรับอุณหภูมิของผิวหนังให้เย็นลง บางคนที่มีความผิดปกติระหว่างผิวหนัง กับเหงื่อ จึงเกิดเป็นลมพิษขึ้น

นอกจากนี้ ปัจจัยที่กระตุ่นให้เกิดอาการแพ้เหงื่อ รวมไปถึงภาวะความเครียด และความวิตกกังวลที่สูงขึ้นด้วย

แพ้เหงื่อ มีอาการอย่างไร?
คนที่มีอาการแพ้เหงื่อ จะมีผื่นปรากฏที่ผิวหนังที่มีเหงื่อขึ้น โดยเฉพาะบริเวณหน้าอก ใบหน้า แผ่นหลังส่วนบน แขน โดยลักษณะของผื่นอาจขึ้นเป็นปื้นแดง หรือหนานูนเป็นวงกลม อาจจะมีอาการคัน หรือเจ็บแปลบ บริเวณที่มีผื่นอาจมีความรู้สึกอุ่นๆ และอาจคิดว่ามีอาการผิวหนังบวมแดง เมื่อมีผื่นเกิดขึ้นในบริเวณใกล้ๆ กัน


แพ้เหงื่อ อันตรายหรือไม่?
ตามปกติแล้วอาการแพ้เหงื่อสามารถหายได้เองเมื่อเวลาผ่านไปราว 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง แต่อาการแพ้เหงื่อก็เหมือนกันอาการแพ้อื่นๆ ที่หากมีอาการรุนแรงมากๆ ก็อาจเป็นอันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน ดังนั้นนอกจากอาการผื่นแดงขึ้นแล้ว หากมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ท้องเสีย วิงเวียนศีรษะ หายใจตื้น หรือหายใจมีเสียงหวีด น้ำลายในปากเยอะกว่าปกติ ความดันโลหิตลดลง และปวดท้องแบบบีบๆ ควรรีบพบแพทย์โดยด่วน

หากทราบว่าตัวเองอาจมีอาการแพ้เหงื่อ ควรปรึกษาแพทย์เพื่อหาวิธีรักษา หายามาทานเมื่อเกิดอาการแพ้ และหลีกเลี่ยงการใส่เสื้อผ้าอับๆ หรือทำกิจกรรมที่ทำให้ต่อมเหงื่อทำงานมากขึ้น


ขอขอบคุณ
ข้อมูล :พบแพทย์
ภาพ :iStock