กาแฟห้ามกินกับอะไร ยาคุม วิตามิน กินพร้อมกาแฟได้ไหม หรือไม่ควรกินคู่กับอะไรบ้าง

 

  กาแฟห้ามกินกับอะไร ไม่ว่าจะเป็นอาหาร ยา หรือวิตามินต่าง ๆ กินพร้อมกันได้ไหม เพื่อให้ดื่มกาแฟแก้วโปรดอย่างสบายใจเรามาเช็กข้อมูลด้านล่างนี้เลย

  กาแฟห้ามกินกับอะไร เป็นอีกหนึ่งในประเด็นอาหารที่ห้ามกินคู่กัน ซึ่งมักจะวนเวียนอยู่ในชีวิตเรื่อย ๆ เพราะยืนพื้นอยู่กับความเป็นอยู่ของเรา และวันนี้ก็ถึงคิวของกาแฟ เครื่องดื่มแก้วโปรดของหลาย ๆ คนกันแล้วค่ะ คนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำ มีความติดคาเฟอีนในกาแฟ มาลองดูซิว่า ถ้ากินอาหาร วิตามินหรือยา พร้อมกับกาแฟ จะมีฤทธิ์แสลงต่อกันไหม

กาแฟไม่ควรกินคู่อาหารประเภทไหน

กาแฟ

          สำหรับคนที่ดื่มกาแฟเป็นประจำจนเคยชิน อาจเผลอดื่มกาแฟคู่กับอาหารบางชนิด ที่จริง ๆ แล้วไม่แนะนำให้รับประทานคู่กัน ดังนี้

อาหารที่มีธาตุเหล็ก

อาหารที่มีธาตุเหล็ก

          เราไม่ควรดื่มกาแฟพร้อมกับกินอาหารที่มีธาตุเหล็ก เพราะสารแทนนินในกาแฟจะทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กที่ไม่ใช่ฮีม เช่น ธาตุเหล็กที่ได้จากอาหารประเภทพืชผัก ข้าว ถั่วเมล็ดแห้ง ไข่แดง หรือนม ลดลงมาก หากต้องการให้ร่างกายดูดซึมธาตุเหล็กได้ดีขึ้น แนะนำให้กินอาหารที่มีวิตามินซีสูงและวิตามินเอสูงคู่กัน เช่น ผลไม้รสเปรี้ยว มะละกอ มะม่วงสุก ไข่ ฟักทอง เป็นต้น

แอลกอฮอล์

แอลกอฮอล์

          กาแฟกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นสิ่งที่ไม่ควรกินคู่กัน เนื่องจากทั้งคาเฟอีนและแอลกอฮอล์มีฤทธิ์กระตุ้นการทำงานของหัวใจ ฤทธิ์ขับปัสสาวะ ซึ่งหากกินพร้อมกันจะยิ่งเสริมฤทธิ์ดังกล่าวมากขึ้นได้ อีกทั้งอาจทำให้ยิ่งเมามายหนักกว่าเดิมอีกด้วย

          นอกจากนี้จากข้อมูลงานวิจัยของ Wake Forest University School of Medicine ก็พบว่าคนที่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์พร้อมกับเครื่องดื่มคาเฟอีน ไม่ว่าจะดื่มในเวลาใกล้เคียงกัน หรือดื่มแบบสูตรเหล้าผสมเครื่องดื่มชูกำลัง กาแฟดำ คาลัว ก็มีอัตราการเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุจากฤทธิ์ของเหล้ามากกว่าคนที่ดื่มแบบไม่ผสม

กาแฟไม่ควรกินคู่กับยาหรือวิตามินอะไรบ้าง

กาแฟ

          นอกจากอาหารและเครื่องดื่ม ยังมีวิตามินและยาบางชนิดที่ไม่ควรกินร่วมกับกาแฟ เพราะอาจก่อให้เกิดผลข้างเคียงบางประการ ยกตัวอย่างเช่น

แคลเซียมในรูปแบบอาหารเสริม

          คนที่คิดจะรับประทานอาหารเสริมแคลเซียมเพื่อทดแทนแคลเซียมที่ขาดหายไป แต่ดันดื่มกาแฟไปพร้อมกับแคลเซียม อาจได้แคลเซียมเข้าสู่ร่างกายน้อยกว่าปริมาณที่ควรจะได้ เนื่องจากคาเฟอีนในกาแฟจะไปขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมของร่างกาย อีกทั้งมีฤทธิ์ขับปัสสาวะ ทำให้ปัสสาวะเยอะกว่าเดิม ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการขับแคลเซียม

         ดังนั้นถ้ากำลังกินแคลเซียมในรูปแบบอาหารเสริมอยู่ แนะนำให้รับประทานแคลเซียมตอนท้องว่าง และควรเว้นห่างจากกาแฟอย่างน้อย 2 ชั่วโมงนะคะ เลี่ยงการกินกาแฟพร้อมแคลเซียมจะดีกว่า

วิตามินชนิดต่าง ๆ

          โดยเฉพาะวิตามินชนิดที่ละลายในน้ำ เช่น วิตามินบี วิตามินบีรวม วิตามินซี  ซึ่งหากกินกับกาแฟก็อาจทำให้วิตามินที่กินเสริมเข้าไปถูกขับออกมาทางปัสสาวะได้เร็วและมากขึ้นได้ เพราะคาเฟอีนในกาแฟก็มีฤทธิ์ขับปัสสาวะอยู่แล้ว หลังดื่มกาแฟแล้วจึงมักรู้สึกปวดปัสสาวะบ่อย ๆ นั่นเอง

          หรือในส่วนของวิตามินที่ละลายในไขมัน เช่น วิตามินดี ก็ไม่ควรกินพร้อมกับกาแฟหรือเครื่องดื่มคาเฟอีนเช่นกัน เนื่องจากคาเฟอีนอาจไปยับยั้งการดูดซึมวิตามินดีของร่างกายได้ ดังนั้นหากจะกินวิตามินใด ๆ แนะนำให้กินคู่กับน้ำเปล่าดีกว่า

ยาคุมกำเนิด

          กาแฟกับยาคุมกำเนิดเป็นสิ่งที่ไม่ควรกินคู่กัน เนื่องจากยาคุมกำเนิดอาจออกฤทธิ์ให้ร่างกายขับคาเฟอีนออกไปได้ช้ากว่าเดิม ทำให้คาเฟอีนจากกาแฟอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้มีอาการข้างเคียงจากคาเฟอีนมากขึ้นตามไปด้วย โดยอาการข้างเคียงที่ว่าก็ขึ้นอยู่กับความไวต่อคาเฟอีนของแต่ละคนนะคะ เช่น บางคนอาจมีอาการตื่นตัวมากขึ้น ใจสั่น ปวดหัวมากขึ้น นอนไม่หลับ หรือหัวใจเต้นเร็วได้ ดังนั้นหากต้องการกินยาคุมกำเนิดก็ควรกินคู่กับน้ำเปล่าจะดีที่สุด

ยาขยายหลอดลม

          ยาขยายหลอดลม เช่น ยา Theophylline ที่ใช้รักษาโรคทางเดินหายใจ เช่น โรคถุงลมปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหอบหืด ไม่ควรกินคู่กับกาแฟหรือเครื่องดื่มและอาหารที่มีคาเฟอีนนะคะ เนื่องจากทั้งคาเฟอีนและตัวยาชนิดนี้มีฤทธิ์กระตุ้นหัวใจ เพิ่มการตื่นตัวของร่างกาย หากกินคู่กันอาจยิ่งเสริมความรุนแรงของผลข้างเคียงให้มากขึ้นได้ และอาจส่งผลให้เกิดอาการใจสั่น หัวใจเต้นผิดจังหวะ

ยาในกลุ่มต้านเชื้อรา

          ยาต้านเชื้อรา เช่น ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) หรืออีกชื่อว่า ไดฟลูแคน (Diflucan) อาจไปขัดขวางการขับคาเฟอีนออกจากร่างกาย ซึ่งอาจทำให้ฤทธิ์คาเฟอีนตกค้างอยู่ในร่างกายนานขึ้น จึงเพิ่มความเสี่ยงได้รับผลข้างเคียงจากคาเฟอีนได้มากขึ้นตามไปด้วย

ยารักษาโรคเบาหวาน

          คาเฟอีนส่งผลต่อระดับน้ำตาลในเลือดได้ทั้งแบบทำให้เพิ่มขึ้นหรือลดลง ส่วนยารักษาโรคเบาหวานส่วนใหญ่จะส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดลดลงอยู่แล้ว ดังนั้นการดื่มกาแฟร่วมกับยาเบาหวานก็อาจทำให้ประสิทธิภาพของยารักษาโรคเบาหวานเปลี่ยนแปลงไป ฉะนั้นใครที่ต้องกินยารักษาโรคเบาหวานอยู่ก็ควรระมัดระวังการดื่มกาแฟด้วยนะคะ

ยารักษาจังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ หรือการปวดเรื้อรัง

          ยาแม็กซิลีทีน (Mexiletine) หรือยาที่ใช้รักษาจังหวะการเต้นของหัวใจที่ผิดปกติ และเป็นยาระงับอาการปวดเรื้อรัง หากกินพร้อมกับกาแฟก็อาจทำให้ฤทธิ์ของคาเฟอีนอยู่ในร่างกายได้นานขึ้น เสี่ยงให้มีอาการจากผลของคาเฟอีนมากขึ้น เช่น อาจทำให้นอนหลับยาก หัวใจเต้นเร็ว วิตกกังวล เป็นต้น
          นอกจากนี้ไม่ว่าจะกาแฟ ชา ชาเขียว โกโก้ หรือเครื่องดื่มที่มีคาแฟอีนชนิดอื่น ๆ อย่างเครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม ก็ไม่ควรดื่มพร้อมกับยารักษาโรคใด ๆ นะคะ เพราะคาเฟอีนในเครื่องดื่มเหล่านี้อาจส่งผลเสีย ทำให้เกิดอาการใจสั่น ปวดหัว คลื่นไส้ อาเจียน หรือมีผลต่อปริมาณยาที่ร่างกายได้รับ เช่น ความสามารถในการดูดซึมยาลดลง ไม่ได้ผลการรักษาที่ควรได้ หรืออาจเพิ่มความเสี่ยงการเกิดพิษจากยา เป็นต้น ดังนั้นควรกินยากับน้ำเปล่าจะดีที่สุด หรือถ้าต้องการดื่มกาแฟก็ควรเว้นระยะห่างจากการรับประทานยาไปสัก 2-4 ชั่วโมงจะดีกว่า
          อย่างไรก็ดี สำหรับผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ไม่มีความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังหรือโรคอันตรายใด ๆ การดื่มกาแฟในปริมาณที่พอเหมาะ คือ ไม่เกินวันละ 200-400 มิลลิกรัม หรือกะปริมาณคาเฟอีนโดยคำนวณง่าย ๆ ก็จะได้กาแฟไม่เกิน 4 แก้ว หรือน้ำอัดลมไม่เกิน 10 กระป๋อง หรือเครื่องดื่มชูกำลังไม่เกิน 2 ขวด โดยประมาณ และดื่มเรื่อย ๆ ตลอดวัน ไม่ได้อัดรวดเดียว ก็ถือว่ายังอยู่ในเกณฑ์ที่ปลอดภัย เพราะร่างกายเราจะสามารถขับคาเฟอีนออกทางปัสสาวะได้เอง อ้อ ! แล้วก็อย่าลืมเช็กให้ดีว่ากาแฟไม่ควรกินคู่กับอะไร ตามที่เราได้กล่าวไปข้างต้นด้วยนะคะ