ตัวโลน คืออะไร พบที่อวัยวะเพศ หรือบนเปลือกตาได้ด้วยหรือ แล้วตัวโลนเกิดจากอะไรล่ะ ติดต่อกันทางไหนบ้าง ถึงเวลาหาคำตอบกันแล้ว...
เคยเห็นข่าวตัวโลนนับร้อยฝังในขอบตาของเด็กจนดวงตาอักเสบเรื้อรัง สร้างความสะพรึงกลัวให้ผู้ที่ได้ยินเรื่องนี้ไม่น้อยเลย เพราะเราเคยได้ยินแค่ว่า ตัวโลนพบได้ในบริเวณอวัยวะเพศ หรือบริเวณที่มีขนหนา ๆ แต่คิดไม่ถึงว่าจะมีเคสที่พบในเปลือกตาด้วย แล้วจริง ๆ ตัวโลน คืออะไรกันแน่ ลองตามกระปุกดอทคอมมาไขข้อสงสัยด้วยกันเลยค่ะ
ตัวโลน คืออะไร เกิดจากอะไร
แต่บริเวณที่พบโลนบ่อยที่สุดก็คือที่อวัยวะเพศนั่นเอง เพราะเป็นบริเวณที่มีอุณหภูมิเหมาะสมกับการที่โลนจะไปอยู่ หลายคนจึงเรียกโลนว่า "เหาที่อวัยวะเพศ" แต่บางครั้ง มือของเราอาจไปสัมผัสถูกโลนที่อวัยวะเพศ ทำให้โลนมาติดตามขนรักแร้ ขนหน้าอก หนวดเครา ขนคิ้ว หรือแม้แต่ขนตา ก็พบโลนได้เหมือนกัน แต่จะไม่พบบนเส้นผม
ตัวโลนที่เกาะอยู่ตามเส้นขนนั้นจะมีทั้งตัวผู้ตัวเมีย เมื่อผสมพันธุ์แล้ว ตัวผู้จะตายไป ส่วนตัวเมียจะวางไข่บนเส้นขน ซึ่งโดยปกติแล้วโลนตัวเมีย 1 ตัว สามารถวางไข่ได้ประมาณ 30 ฟอง เมื่อวางไข่แล้ว อีก 7 วัน ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน และต้องใช้เวลาอีกประมาณ 3 สัปดาห์ จึงจะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย เพื่อผสมพันธุ์และออกไข่ต่อไป
ตัวโลน ติดต่อกันอย่างไร
โรคโลนถือเป็นโรคติดต่อเช่นกัน เพราะสามารถติดต่อกันได้ 2 ทาง จากการสัมผัส คือ
1. ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ อย่างที่รู้แล้วว่า ตัวโลนมักอาศัยอยู่ที่อวัยวะเพศ ดังนั้นเวลามีเพศสัมพันธ์ โลนก็สามารถติดไปยังอีกคนหนึ่งได้ง่าย ๆ
2. ติดต่อจากการใช้ของใช้ร่วมกัน หากใครในบ้านเป็นโรคโลน แล้วเราไม่ระวังไปใช้ผ้าเช็ดตัวร่วมกับคนที่ติดเชื้อ ใส่เสื้อผ้าของคนที่ติดเชื้อ หรือแม้กระทั่งนั่งบนโถส้วมที่มีเชื้ออยู่ หรือนอนบนเตียงที่มีโลน โลนก็สามารถติดต่อมาที่เราได้เช่นกัน
ตัวโลน ใครเสี่ยงติดโรค
โดยส่วนใหญ่แล้วจะมี 2 กลุ่มหลัก ๆ ที่มีโอกาสติดโรคโลนได้ ก็คือ
1. ผู้ที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย ๆ
2. คนที่มีความใกล้ชิดกัน เช่น ครอบครัวเดียวกัน อยู่บ้านเดียวกัน นอนเตียงเดียวกัน หากใครคนหนึ่งเป็นโรคโลน ก็อาจถ่ายทอดโรคนี้ไปยังบุคคลอื่นได้ผ่านการสัมผัส หรือการใช้สิ่งของร่วมกัน
จะรู้ได้อย่างไรว่าเป็นโรคโลน
ถ้าใครมีอาการคันมาก ๆ ตรงบริเวณอวัยวะเพศ หรือส่วนที่มีเส้นขน ก็สงสัยไว้ก่อนได้เลยว่า เราอาจเป็นโรคโลนก็ได้ เพราะโลนที่มาอยู่ตามเส้นขนในร่างกายของเรานั้นจะคอยดูดเลือดเรากินเป็นอาหาร ซึ่งในน้ำลายของโลนเองมีสารบางอย่างที่ทำให้เกิดความระคายเคือง ดังนั้น ถ้าเราถูกโลนดูดเลือด จะเกิดตุ่มขึ้นตรงรอยกัด และจะมีอาการคันมาก ๆ ตามมา เมื่อคัน เราก็จะเกา หากเกามาก ๆ ก็อาจมีการติดเชื้อขึ้นได้
นอกจากนี้ ในบางคนที่มีตัวโลนมาอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก อาจสังเกตเห็นมีจุดสีน้ำตาลแดงเกาะอยู่ตามเส้นขน หรือมีรอยช้ำที่บริเวณตัวโลนดูดเลือด หรืออาจเห็นจุดเลือดแห้งเล็ก ๆ ติดอยู่ที่กางเกงชั้นในก็เป็นได้ รวมทั้งพบไข่โลนที่บริเวณโคนขนหัวเหน่าด้วย ใครที่เจอแบบนี้ต้องรีบรักษาแล้วล่ะ
โรคโลน วินิจฉัยได้อย่างไร
แม้โลนจะตัวเล็ก แต่เราก็สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรืออาจส่องดูได้ด้วยแว่นขยาย แต่หากไปพบแพทย์ สิ่งที่แพทย์จะทำก็คือ ซักประวัติอาการก่อน แล้วส่องกล้องตรวจเส้นขนบริเวณอวัยวะเพศและรอบ ๆ ทวารหนัก เพื่อพิสูจน์ว่ามีไข่หรือตัวโลนหรือไม่ หากมี จะได้รักษากันต่อไป
โรคโลน รักษาได้ ไม่ยากเลย
คนที่เป็นโรคโลนไม่ต้องตกใจไป เพราะวิธีการรักษาโลนไม่ได้ยากนัก วิธีง่าย ๆ แบบที่ชาวบ้านทำก็คือ โกนผมหรือขนตรงบริเวณที่โลนอยู่ออกให้หมด เพราะโลนอาศัยอยู่ที่ร่างกายเราด้วยการเกาะยึดตามเส้นขน หากไม่มีเส้นขนแล้ว โรคจะหายไปได้เอง
อีกวิธีหนึ่งก็คือ การทายา "แกมมา เบนซีน เฮ็กซาคลอไรด์" (Gamma benzene hexa- chloride) หากเป็นโลนตรงไหน ก็ให้ทายาบริเวณนั้น ทิ้งไว้ 12 ชั่วโมงแล้วล้างออก ปกติแล้ว ทำเพียงแค่ครั้งเดียวก็จะหายเป็นปกติ แต่ในบางราย แพทย์อาจนัดให้มาตรวจดูอีกครั้งหลังจากทายาไปแล้ว 1 สัปดาห์ เพื่อความแน่ใจ
โรคโลน ป้องกันอย่างไร
เพราะโลนเป็นโรคที่เกิดขึ้นเพราะความไม่สะอาด ดังนั้น ถ้าเราดูแลสุขอนามัยตัวเองให้ดี ก็ไม่ต้องกลัวว่า ตัวโลนจะมาเยือน สิ่งที่ต้องทำก็คือ
- ดูแลสุขอนามัยของตัวเองให้สะอาดอยู่เสมอ
- หมั่นซักทำความสะอาดเครื่องนุ่งห่มเป็นประจำ หรือนำออกมาตากแดดเป็นประจำ
- หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้ป่วยที่เป็นโรคโลน โดยเฉพาะสิ่งของที่ต้องมีการสัมผัสกับผิวหนัง เช่น ผ้าเช็ดตัว ชุดชั้นใน ฯลฯ
- หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่เป็นโรคโลน เพราะตัวโลนสามารถติดไปยังคู่นอนได้ แม้ใส่ถุงยางอนามัย
- หากรักษาโรคโลนกลับมาหายเป็นปกติแล้ว ควรนำเสื้อผ้า ผ้าห่ม ที่นอน เครื่องใช้อื่น ๆ ไปต้มหรืออบแห้งด้วยความร้อน เพื่อกำจัดไข่โลนที่ยังอาจตกค้างอยู่ตามบริเวณต่าง ๆ ส่วนตัวโลนนั้นโดยปกติแล้วจะตาย ถ้าอยู่นอกร่างกายมนุษย์เกิน 2 วัน เนื่องจากขาดอาหาร
ได้รู้ข้อมูลแบบนี้แล้ว
ใครที่เป็นโรคโลนก็ไม่ต้องตกอกตกใจไปนะคะ เพราะโรคนี้ไม่ร้ายแรงมากนัก
สามารถรักษาให้หายได้ แต่ต้องคอยระวังพฤติกรรมเสี่ยงต่าง ๆ
เพื่อที่จะได้ไม่กลับมาเป็นอีก
ขอบคุณข้อมูลจาก : คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล, สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.), การจัดการศึกษาและปรึกษาทางไกล เพื่อสนับสนุนบริการเวชศาสตร์ครอบครัวและบริการสุขภาพปฐมภูมิ