อหิวาตกโรค โรคระบาดที่ยังอันตราย ชะล่าใจอาจเสียชีวิต

 

ถ้าจะพูดถึงโรคติดต่อที่มีความร้ายแรงและยังคงระบาดอยู่อย่างต่อเนื่องทุกปี คงไม่กล่าวถึง "อหิวาตกโรค" ไม่ได้ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนที่เรามักจะได้ยินคำเตือนเรื่องการระบาดอยู่บ่อย ๆ เลยทำให้หลาย ๆ คนเชื่อว่าโรคนี้จะระบาดในช่วงหน้าร้อนเท่านั้น แต่จริง ๆ อหิวาตกโรคสามารถระบาดได้ตลอดทั้งปี วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักกับโรคนี้ ใครที่ยังคิดว่าโรคนี้เป็นแค่เพียงโรคท้องร่วงเท่านั้น ขอให้คิดใหม่เลยค่ะ เพราะโรคนี้อันตรายกว่าที่คิดไว้มาก แถมถ้าชะล่าใจก็อาจจะทำให้อันตรายถึงชีวิตได้เหมือนกัน


อหิวาตกโรค คืออะไร


          อหิวาตกโรค ภาษาอังกฤษ คือ Cholera คือโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียภายในลำไส้ ส่งผลให้เกิดท้องร่วงเฉียบพลันอย่างรุนแรง ทำให้ร่างกายเสียน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็วจนเข้าขั้นอันตราย ส่งผลให้เกิดภาวะเลือดเป็นกรด ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว ในรายที่มีอาการรุนแรง หากไม่ได้รับการรักษาทันเวลาอาจจะทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายใน 2-3 ชั่วโมง ทั้งนี้ โดยปกติแล้วอหิวาตกโรคนั้นมักจะระบาดในช่วงฤดูร้อน แต่ถ้าหากในพื้นที่นั้นมีประชากรแออัดและมีการจัดการสุขาภิบาลที่ไม่ดีเพียงพอ อาจจะทำให้เกิดการระบาดได้เช่นกัน

ย้อนการระบาดของอหิวาตกโรค


          อหิวาตกโรค พบการระบาดครั้งแรกในโลกที่บริเวณสามเหลี่ยมปากแม่น้ำคงคา แถบประเทศบังกลาเทศและประเทศอินเดีย แล้วจึงแพร่กระจายไปทั่วโลก แต่ในขณะนั้นยังถือเป็นโรคประจำถิ่น เนื่องจากไม่พบการระบาดที่ใดนอกจากบริเวณนี้ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2504 จึงได้พบการระบาดที่ประเทศอินโดนีเซีย แล้วกระจายไปยังทวีปแอฟริกา ยุโรปตอนใต้ และอเมริกาใต้ ซึ่งปัจจุบันนี้ก็ยังพบการระบาดในพื้นที่เหล่านี้อยู่ ทั้งนี้ จากรายงานล่าสุดขององค์การอนามัยโลก (WHO) เปิดเผยว่า เมื่อปี 2013 มีผู้ป่วยด้วยโรคอหิวาตกโรคสูงถึง 129,064 คน พบมากที่สุดในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ถึง 26,944 คน

          สำหรับในประเทศไทย อหิวาตกโรค คือ 1 ใน 3 โรคห่า ที่เคยระบาดหนักและคร่าชีวิตผู้คนจำนวนมากมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา กระทั่งในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ปี พ.ศ. 2363 ได้เกิดการระบาดครั้งใหญ่ทั่วพระนคร ทำให้ผู้คนล้มตายนับหมื่นจนฝังและเผาศพไม่ทัน ซากศพจึงกองพะเนินอยู่บริเวณวัดสระเกศ และถูกแร้งนับพันจิกกินเป็นที่น่าสยดสยอง กลายเป็นที่มาของคำว่า "แร้งวัดสระเกศ"

          ในเวลาต่อมา อหิวาตกโรค ยังกลับมาระบาดหนักอีกครั้งเมื่อปี พ.ศ. 2392 ทำให้มีผู้เสียชีวิตถึง 15,000-20,000 คน ภายในเวลาเพียง 1 เดือน และมีผู้เสียชีวิตรวมมากถึง 40,000 คน ตลอดฤดูการระบาดของโรค การระบาดในครั้งนั้นถูกเรียกว่า "ห่าปีระกา" จนกระทั่งสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 ได้มีเหล่ามิชชันนารีและหมอนำการรักษาแบบตะวันตกเข้ามายังประเทศไทย และสมัยพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้นำสูตรยาวิสัมพยาใหญ่และยาน้ำการบูรหยอดรักษาผู้ป่วย ทำให้การแพร่ระบาดลดลง 

          ในปัจจุบันก็ยังคงพบผู้ป่วยโรคนี้ และถือเป็นหนึ่งในโรคติดต่อที่ต้องแจ้งความ ต่อเจ้าพนักงานสาธารณสุขหรือพนักงานเจ้าหน้าที่ ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2523 เพื่อให้หน่วยงานด้านสาธารณสุขเฝ้าระวังการระบาดอย่างใกล้ชิดต่อไปค่ะ
   

อหิวาตกโรค เกิดจากอะไร


อหิวาตกโรค

          อหิวาตกโรค เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย Vibrio cholerae ซึ่งเชื้อชนิดนี้จะสร้างสารพิษที่มีชื่อเรียกว่า Cholera Toxin ส่งผลต่อระบบลำไส้ ทำให้เกิดภาวะอุจจาระร่วงอย่างรุนแรง แต่เชื้อแบคทีเรีย Vibrio cholerae ยังถูกแบ่งออกเป็นสายพันธุ์ต่าง ๆ ถึง 194 สายพันธุ์ ซึ่งบางสายพันธุ์นั้นก็อาจจะทำให้เกิดอาการที่ใกล้เคียงกัน แต่ความรุนแรงจะแตกต่างกัน โดยสายพันธุ์ที่ถือว่าอันตรายและรุนแรงมากที่สุดก็คือ สายพันธุ์ O1 biotypes El Tor ทั้งนี้ ความรุนแรงของอาการจะขึ้นอยู่กับภาวะขาดน้ำและเกลือในร่างกาย หากไม่ได้ทำการรักษาในทันที อัตราการเสียชีวิตจะอยู่ที่ร้อยละ 50 แต่ถ้าหากทำการรักษาได้ทันท่วงที อัตราการเสียชีวิตจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1 เท่านั้น

อหิวาตกโรค ติดต่อกันได้อย่างไร


        การติดต่อของโรคนี้เกิดขึ้นจากการกินอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อปะปนอยู่ ซึ่งเชื้อ Vibrio cholerae สายพันธุ์ O1 biotypes El Tor สามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้นานเป็นพิเศษ โดยเชื้อดังกล่าวมักพบได้ในอาหารทุกชนิด แต่จะพบมากในอาหารทะเลดิบ หรืออาหารสุก ๆ ดิบ ๆ ส่วนการติดต่อจากคนสู่คนนั้นพบได้น้อยมากเลยทีเดียว

อหิวาตกโรค อาการเป็นอย่างไร


          โดยปกติแล้วเมื่อเชื้อของอหิวาตกโรคเข้าสู่ร่างกายแล้วจะแสดงอาการภายใน 24 ชั่วโมง - 5 วัน แต่เท่าที่มีการพบโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1-2 วัน ซึ่งอาการจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อาการไม่รุนแรง จะเริ่มจากการถ่ายอุจจาระเหลวเป็นน้ำวันละหลายครั้ง แต่จำนวนอุจจาระจะไม่เกินวันละ 1 ลิตร ทั้งนี้ ในผู้ใหญ่อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

          ส่วนกลุ่มที่มีอาการรุนแรงนั้น จะมีอาการท้องเดิน และมีเนื้ออุจจาระมากในช่วงแรก ต่อมาจะมีลักษณะคล้ายน้ำซาวข้าว มีมูกมาก และมีกลิ่นคาว อาจจะถ่ายได้โดยที่ไม่มีอาการปวดท้อง บางครั้งอาจจะถ่ายออกมาโดยที่ไม่รู้ตัว นอกจากนี้ยังอาจจะมีการถ่ายอุจจาระบ่อย เกิดการอาเจียนแต่ไม่คลื่นไส้ โดยอาการเหล่านี้จะหยุดไปเองภายใน 7 วัน หากได้รับน้ำและเกลือแร่ชดเชยอย่างเพียงพอ แต่ถ้าหากไม่ได้รับก็จะทำให้เกิดภาวะขาดน้ำอย่างรุนแรง จนทำให้ลุกไม่ไหว ปัสสาวะน้อยลงหรือไม่ปัสสาวะเลย รวมทั้งยังอาจมีอาการหน้ามืด เป็นลม ในรายที่อาการรุนแรงมาก ๆ อาจถึงขั้นช็อกและเสียชีวิตได้

วิธีรักษาอหิวาตกโรค


อหิวาตกโรค
ภาพจาก : anasalhajj/Shutterstock.com
 

          ถึงแม้ว่าจะเป็นการติดเชื้อแบคทีเรียที่เกิดขึ้นภายในลำไส้เล็ก แต่แบคทีเรียดังกล่าวที่เป็นสาเหตุของอหิวาตกโรคก็ไม่ได้ก่อให้เกิดการอักเสบหรือเข้าไปทำลายเยื่อบุในลำไส้เล็ก มีเพียงอาการขาดน้ำและเกลือแร่เท่านั้น จึงจำเป็นจะต้องได้รับน้ำและเกลือแร่ทดแทนในปริมาณที่เพียงพอ โดยการรับประทานผงละลายเกลือแร่ที่มีขายตามร้านขายยาทั่วไป

          แต่ถ้าหากเกิดการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรุนแรงควรจะไปพบแพทย์ เพื่อให้แพทย์สั่งให้น้ำเกลือแร่ผ่านทางเส้นเลือด ซึ่งจะเข้มข้นกว่า และเมื่ออาการดีขึ้นแล้วควรจะให้คนไข้ได้รับประทานอาหารอ่อน ๆ ชดเชยการขาดอาหารจากอาการท้องร่วง ทั้งนี้ แพทย์อาจจะใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อฆ่าเชื้อแบคทีเรียชนิดดังกล่าวที่อยู่ภายในลำไส้ด้วย ซึ่งจะต้องรับประทานให้ครบตามแพทย์สั่ง เพื่อไม่ให้เกิดการกลับมาติดเชื้อซ้ำ

อหิวาตกโรค มีวิธีป้องกันอย่างไร


          อหิวาตกโรคเป็นโรคติดต่อที่สามารถป้องกันได้ อีกทั้งความเสี่ยงจะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับตัวของเราเองทั้งนั้น โดยมีวิธีป้องกันดังนี้

ล้างมือ


1. รักษาสุขอนามัยของตนเอง


          สุขอนามัยที่ดีก็สามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคติดต่อต่าง ๆ ได้มากเลยทีเดียว เพียงแค่หมั่นล้างมือให้สะอาดทุกครั้งที่ต้องหยิบจับสิ่งของที่ไม่มั่นใจในความสะอาด หรือแม้แต่ก่อนจะหยิบอาหารเข้าปาก เพื่อเป็นการชำระล้างเชื้อโรคที่อาจติดอยู่ที่มือค่ะ

2. หลีกเลี่ยงอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรือของหมักดอง


          สาเหตุของการเกิดอหิวาตกโรคที่พบได้บ่อยก็คงจะหนีไม่พ้นการรับประทานอาหารสุก ๆ ดิบ ๆ หรืออาหารหมักดอง ถ้าเราสามารถหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ได้และป้องกันตัวเองด้วยการรับประทานแต่อาหารที่ผ่านความร้อนจนสุก เลี่ยงของหมักดอง รวมทั้งอาหารที่ทำทิ้งไว้นานแล้ว ก็สามารถปลอดภัยจากเชื้อแบคทีเรีย สาเหตุของอหิวาตกโรคได้ อีกทั้งยังควรดื่มน้ำสะอาดที่ผ่านการต้มจนสุก ดีกว่าการดื่มน้ำที่ผ่่านเพียงเครื่องกรองอย่างเดียว เพราะเครื่องกรองไม่สามารถกำจัดเชื้อโรคออกได้

3. หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับผู้ป่วย


          หากต้องดูแลผู้ป่วยที่เป็นอหิวาตกโรค ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงกับผู้ป่วย หรือของใช้ของผู้ป่วยโดยเด็ดขาด หากต้องสัมผัสจริง ๆ ก็ต้องสวมถุงมือ และถ้าหากเผลอสัมผัสไปโดยไม่ได้ตั้งใจก็ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกัน จะลดความเสี่ยงที่จะติดอหิวาตกโรคได้มากขึ้น
    

          แม้อหิวาตกโรคจะเป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ แต่ก็ไม่ควรชะล่าใจ เพราะโรคนี้อย่างที่ทราบกันดีว่ามีความอันตรายสูงและอาจทำให้เสียชีวิตได้หากรักษาไม่ทัน ทางที่ดีก็ควรหมั่นล้างมือให้สะอาดอยู่เสมอ เพราะเชื้อโรคมีอยู่ทุกแห่ง หากเรามีมาตรการป้องกันตัวเองที่ดีพอ ความเสี่ยงที่จะป่วยจากเชื้อโรคร้าย ๆ เหล่านั้นก็จะน้อยลงด้วยค่ะ