ข้าวโพดมีสารต้านอนุมูลอิสระ ป้องกันโรคมะเร็งได้จริงหรือเปล่า กินข้าวโพดช่วยลดความอ้วนได้ไหม แล้วสรุปข้าวโพดเป็นผักหรือผลไม้กันแน่ ทุกประเด็นน่าสงสัย วันนี้เรามีคำตอบมาให้แล้ว
เชื่อว่าคงไม่มีใครไม่รู้จัก ข้าวโพด เพราะอย่างน้อย ๆ ก็ต้องเคยกินป๊อปคอร์นตามโรงหนัง
หรือข้าวโพดอบเนยตามตลาดนัดกันบ้าง
แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่าประโยชน์ของข้าวโพด
ช่วยลดความเสี่ยงและป้องกันโรคได้มากมาย
ถึงขนาดมีนักวิจัยนำข้าวโพดไปวิจัยกันหลายต่อหลายรอบ
ซึ่งในวันนี้เราก็ได้รวบรวมหลากหลายประโยชน์เด็ด ๆ ของข้าวโพด
ที่จะทำให้ทุกคนต้องหลงรักมาฝากกัน แต่ก่อนอื่น
ไปทำความรู้จักข้าวโพดกันให้มากขึ้นกว่านี้อีกนิด เพราะทุกวันนี้หลาย ๆ
คนยังสับสนอยู่เลยว่า ข้าวโพดเป็นผักหรือผลไม้ กันแน่ !
ข้าวโพดเป็นผักหรือผลไม้กันแน่ ?
ก่อนอื่นอยากให้ทุกคนทำความเข้าใจผักและผลไม้อย่างง่าย ๆ ก่อนว่า ผัก คือ พืชที่เรานำราก ใบ และดอก ไปประกอบเป็นอาหาร ส่วนผลไม้ คือพืชที่เรานำผลมาบริโภค ซึ่งส่วนมากจะหวานกว่าผัก และสามารถรับประทานได้เลยโดยไม่จำเป็นต้องปรุงให้สุก
อย่างไรก็ตาม เราอยากจะบอกว่า ข้าวโพด ไม่ใช่ทั้งผักและผลไม้ เพราะข้าวโพดจัดเป็นพืชไร่ตระกูลหญ้าที่เรานำเมล็ดมาทำเป็นอาหาร เช่นเดียวกับพืชอย่างข้าวและถั่ว ซึ่งพืชพวกนี้ ถือเป็นธัญพืช ดังนั้นคำถามที่ว่า ข้าวโพดเป็นผักหรือผลไม้ กันแน่ ? ก็ตอบได้เลยค่ะว่า ไม่ใช่ทั้งสองอย่าง เพราะข้าวโพดเป็นธัญพืชนั่นเอง !
เอาล่ะ ในเมื่อคลายข้อสงสัยในตัวข้าวโพดกันไปแล้ว ก่อนจะไปดูถึงประโยชน์ของข้าวโพด เราขอแนะนำให้มารู้จักความเป็นมาของข้าวโพดกันอีกสักหน่อย...ตามนี้เลยค่ะ
ประวัติข้าวโพด ชวนมารู้จัก
ทราบไหมคะว่าข้าวโพดเป็นธัญพืชที่ปลูกกันมากว่า 4,500 ปี และมนุษย์เราก็รู้จักข้าวโพดกันในหลายประเทศหลายทวีปด้วย แต่สำหรับไทยเรานั้น มีการสันนิษฐานว่ารู้จักการปลูกข้าวโพดมาตั้งแต่สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแล้ว แต่ปลูกเพื่อเป็นอาหารของพระเจ้าแผ่นดินอย่างเดียว เลยไม่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของไทยมากนัก ต่อมาหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หม่อมเจ้าสิทธิพร กฤดากร ได้เริ่มนำข้าวโพดมาปลูกเลี้ยงสัตว์ จนกระทั่งหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้นำวิธีการเลี้ยงไก่เพื่อค้าขายเข้ามา ข้าวโพดจึงเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากขึ้นต่อเนื่องมาจนปัจจุบัน
ทุกคนอาจเข้าใจว่า ข้าวโพด ภาษาอังกฤษเรียกว่า Corn เพียงอย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วคำว่า Corn อาจสื่อถึงข้าวสาลีหรือธัญพืชอื่น ๆ ได้ ดังนั้นจึงมีการเรียกข้าวโพดว่า Maize หรือ indian corn มากกว่า Corn เฉย ๆ เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยข้าวโพดมีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ Zea mays Linn จัดเป็นพืชวงศ์หญ้า มีลักษณะดังต่อไปนี้
ลักษณะข้าวโพด สะกดทุกสายตา ด้วยสีสันที่สดใส
- ราก : รากของข้าวโพดเป็นรากฝอย งอกออกจากข้อของลำต้น อยู่ใต้ดิน สามารถแผ่กว้างได้ถึง 1 เมตร ลึกได้ถึง 3 เมตร มีหน้าที่ค้ำจุนลำต้น
- ลำต้น : ลำต้นของข้าวโพดมีลักษณะแข็ง ประกอบไปด้วยข้อและปล้องสลับกัน ไม่มีกิ่งก้าน ไม่แตกกอ
- ใบ : ใบของข้าวโพดอยู่ที่ข้อของลำต้น ข้อละหนึ่งใบ โดยส่วนมากจะมีประมาณ 8-10 ใบ แล้วแต่ความสูงและอายุของลำต้น
- ผลหรือเมล็ด : ฝักของข้าวโพดถูกหุ้มด้วยกาบบาง ๆ หลายชั้น โดยมีเมล็ดทรงกระบอกสีนวล สีเหลือง สีขาว หรือสีม่วงล้อมรอบฝัก ทำให้เราสามารถเรียกฝักของข้าวโพดว่าผลหรือเมล็ดก็ได้
- ดอก : ข้าวโพดออกดอกเป็นช่อ มีประมาณ 8-10 ดอก ซึ่งดอกทั้งเพศผู้และเพศเมียจะอยู่ในต้นเดียวกัน โดยดอกเพศผู้จะอยู่ที่ปลายยอด ส่วนดอกเพศเมียอยู่ถัดลงมา ยอดเกสรของเพศเมียจะเป็นเส้นบาง ๆ คล้ายเส้นไหม ยื่นออกมาจำนวนมาก ซึ่งบางคนก็เรียกยอดเกสรของเพศเมียว่าหนวดข้าวโพด
ชนิดของข้าวโพด มีอะไรบ้างนะ ?
ตามหลักพฤกษศาสตร์แบ่งชนิดข้าวโพดออกเป็น 7 ชนิด ดังนี้
1. ข้าวโพดหัวบุบ คือ ข้าวโพดที่เมล็ดด้านบนบุ๋ม เนื่องจากมีแป้งอ่อนเป็นส่วนประกอบ เมื่อเมล็ดโดนตากให้แห้ง แป้งอ่อนจะหดตัวลง จึงเกิดเป็นลักษณะหัวบุบ
2. ข้าวโพดหัวแข็ง คือ ข้าวโพดที่มีแป้งแข็ง ไม่บุบ เป็นข้าวโพดที่นิยมปลูกและบริโภคในไทย
3. ข้าวโพดหวาน คือ ข้าวโพดที่ฝักมีน้ำตาลมาก ทำให้มีรสหวาน
4. ข้าวโพดคั่ว คือ ข้าวโพดที่มีเมล็ดค่อนข้างเล็ก มีแป้งแข็งด้านใน ภายนอกหุ้มด้วยเยื่อเหนียว เมื่อถูกความร้อน แรงดันภายในจะระเบิดตัวออกมา ซึ่งก็คือป๊อปคอร์นที่เราคุ้นลิ้นกันนั่นเอง
5. ข้าวโพดข้าวเหนียว หรือที่ทางภาคเหนือเรียกว่าข้าวสาลี คือ ข้าวโพดที่มีเมล็ดนิ่ม เนื่องจากมีแป้งอ่อนคล้ายแป้งมันสำปะหลัง
6. ข้าวโพดแป้ง คือ เมล็ดข้าวโพดที่มีสัดส่วนของแป้งอ่อนประกอบอยู่มาก ฝักสดคล้ายข้าวโพดหวานแต่จะไม่หวานมาก เมล็ดนิ่ม รสอร่อย ไม่ติดฟัน เมล็ดมีสีต่าง ๆ กัน ทั้งสีเหลือง สีขาว สีส้ม สีม่วง หรือมีหลายสีในฝักเดียวกัน
7. ข้าวโพดป่า คือ ข้าวโพดที่มีลำต้นและฝักเล็กกว่าข้าวโพดธรรมดา ไม่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ แต่นิยมปลูกไว้เพื่อทำการศึกษาพันธุ์ข้าวโพดเท่านั้น
ข้าวโพด แคลอรีเยอะไหม มีคุณค่าทางโภชนาการอาหารอะไรบ้าง ?
ข้าวโพด 100 กรัม มีคุณค่าทางโภชนาการ ดังนี้
- พลังงาน 86 กิโลแคลอรี
- คาร์โบไฮเดรต 18.7 กรัม
- แป้ง 5.7 กรัม
- น้ำตาล 6.26 กรัม
- ใยอาหาร 2 กรัม
- ไขมัน 1.35 กรัม
- โปรตีน 3.27 กรัม
- น้ำ 76.05 กรัม
- ธาตุเหล็ก 0.52 มิลลิกรัม
- ธาตุแมกนีเซียม 37 มิลลิกรัม
- ธาตุแมงกานีส 0.163 มิลลิกรัม
- ธาตุฟอสฟอรัส 89 มิลลิกรัม
- ธาตุโพแทสเซียม 270 มิลลิกรัม
- ธาตุสังกะสี 0.46 มิลลิกรัม
- วิตามินเอ 9 ไมโครกรัม
- ลูทีนและซีแซนทีน 644 ไมโครกรัม
- วิตามินบี 1 0.155 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 2 0.055 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 3 1.77 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 5 0.717 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 6 0.093 มิลลิกรัม
- วิตามินบี 9 42 ไมโครกรัม
- วิตามินซี 6.8 มิลลิกรัม
- ทริปโตเฟน 0.023 กรัม
- ทรีโอนีน 0.129 กรัม
- ไอโซลิวซีน 0.129 กรัม
- ลิวซีน 0.348 กรัม
- ไลซีน 0.137 กรัม
- เมทไธโอนีน 0.067 กรัม
- ซิสทีน 0.026 กรัม
- ฟีนิลอะลานีน 0.150 กรัม
- ไทโรซีน 0.123 กรัม
- วาลีน 0.185 กรัม
- อาร์จินีน 0.131 กรัม
- ฮิสตามีน 0.089 กรัม
- อะลานีน 0.295 กรัม
- กรดแอสปาร์ติก 0.244 กรัม
- กรดกลูตามิก 0.636 กรัม
- ไกลซีน 0.127 กรัม
- โพรลีน 0.292 กรัม
- ซีรีน 0.153 กรัม
ข้าวโพด ประโยชน์ดีงาม ที่คุณคู่ควร
เพิ่มพลังงาน
ข้าวโพด เป็นพืชที่ให้คาร์โบไฮเดรตสูงมาก เพียงแค่เรากินข้าวโพด 1 ฝัก ก็เท่ากับเรากินข้าว 1 จานแล้ว ฉะนั้นนักกีฬาที่ต้องการพลังงานเสริมหรือหนุ่มสาวที่ผอมแห้งแรงน้อย เราขอแนะนำให้กินข้าวโพดเป็นประจำ เพื่อช่วยให้มีพลังเต็มที่และมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นได้ ที่สำคัญ คาร์โบไฮเดรตที่มีอยู่ในข้าวโพดยังเป็นคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน ซึ่งย่อยสลายช้า ทำให้ร่างกายเราได้รับพลังงานต่อเนื่อง อิ่มนาน แถมยังช่วยควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ด้วย
อุดมด้วยวิตามินและแร่ธาตุจำเป็นต่อร่างกาย
นอกจากจะเป็นแหล่งคาร์โบไฮเดรตแล้ว ข้าวโพดยังมีสารอาหารที่ร่างกายต้องการมากมาย ทั้งฟอสฟอรัส แมกนีเซียม แมงกานีส ซิลีเนียม สังกะสี และเหล็ก ซึ่งสารอาหารพวกนี้จะช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโต และยังช่วยบำรุงกระดูกให้แข็งแรง อีกทั้งข้าวโพดยังอุดมไปด้วยวิตามินมากมาย โดยเฉพาะวิตามินบีชนิดต่าง ๆ ที่มีอยู่เกือบครบวิตามินบีรวม เรียกได้ว่าแค่กินข้าวโพดวันละฝักก็ทำให้ได้รับสารอาหารที่จำเป็นต่อร่างกายครบถ้วนแล้ว
ช่วยในการเจริญเติบโต
อย่างที่บอกไปแล้วว่าข้าวโพดนั้นอุดมไปด้วยวิตามินบีหลายชนิด โดยเฉพาะไทอะมีน (วิตามินบี 1) กับไนอะซิน (วิตามินบี 2) ซึ่งวิตามินทั้งสองเป็นสารอาหารสำคัญที่ช่วยบำรุงระบบประสาทและสมอง ความคิด และสติปัญญา อีกทั้งยังมีกรดแพนโทเทนิก (วิตามินบี 5) ที่ช่วยให้ร่างกายเจริญเติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นผู้ที่อยู่ในวัยเจริญเติบโตไม่ควรพลาดข้าวโพดอย่างเด็ดขาด
บำรุงสายตา
คนที่ใช้สายตาเยอะ ๆ หรือต้องนั่งทำงานหน้าคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน ๆ ควรกินข้าวโพดอย่างยิ่งเลย เพราะในข้าวโพดสีเหลืองมีแคโรทีนอยด์ที่โดดเด่นอย่างลูทีนและซีแซนทีน ซึ่งเป็นที่รู้กันดีว่าสารทั้งสองชนิดนี้ เป็นสารที่ช่วยปกป้องดวงตาของเราให้ห่างไกลจากโรคจอประสาทตาเสื่อมได้ ยิ่งข้าวโพดมีสีเข้มมากเท่าไรก็ยิ่งมีสารต้านอนุมูลอิสระเหล่านี้อยู่มากค่ะ ยิ่งไปกว่านั้น ในข้าวโพดยังมีสารเบต้า-แคโรทีนที่ช่วยผลิตวิตามินเอ ทำให้การมองเห็นของเราดีขึ้นได้
ดีต่อระบบย่อยอาหาร ป้องกันท้องผูก
ไฟเบอร์แบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ ไฟเบอร์ที่ละลายน้ำได้ ซึ่งมีหน้าที่ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลและน้ำตาลในเลือด กับไฟเบอร์ชนิดที่ไม่ละลายในน้ำ ซึ่งจะช่วยให้ระบบย่อยอาหาร ระบบขับถ่าย และการทำงานของลำไส้ดีขึ้น โดยในข้าวโพดมีไฟเบอร์ทั้งสองชนิดนี้ประกอบอยู่ ดังนั้นการกินข้าวโพดจึงช่วยให้เราขับถ่ายดีขึ้น ลดอาการท้องเสีย ลดอาการแปรปรวนของลำไส้ แถมยังป้องกันอาการท้องผูก ริดสีดวงทวาร และลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลำไส้ได้ด้วยค่ะ
ป้องกันโลหิตจาง
แม้ข้าวโพดในปริมาณ 100 กรัม จะมีธาตุเหล็กอยู่ราว ๆ 0.52 มิลลิกรัม แต่นั่นก็นับว่าข้าวโพดเป็นธัญพืชอีกชนิดที่มีธาตุเหล็กที่สำคัญต่อการสร้างเม็ดเลือดอยู่พอสมควรเลยทีเดียว ดังนั้นหากไม่อยากเสี่ยงต่อภาวะโลหิตจางหรือสาว ๆ ช่วงมีประจำเดือนก็จัดข้าวโพดเป็นอาหารว่างบ้างก็ดีนะคะ
ลดความเสี่ยงอัลไซเมอร์
ข้าวโพดมีไทอะมีน (วิตามินบี 1) อยู่ค่อนข้างสูง ซึ่งการที่ร่างกายเราได้รับไทอะมีนเป็นประจำจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ลงได้ เพราะไทอะมีนมีส่วนสำคัญต่อความจำ โดยเป็นสารประกอบสำคัญต่อเอนไซม์ที่มีผลต่อการเสริมสร้างเซลล์สมองและระบบประสาทส่วนกลาง ช่วยกระตุ้นเซลล์ประสาทด้านการเรียนรู้และจดจำ อีกทั้งไทอะมีนยังเป็นสารที่จำเป็นต่อการสังเคราะห์สารสื่อประสาทในสมอง กระตุ้นให้สารสื่อประสาทในสมองผลิตได้เป็นปกติ จึงช่วยลดความเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์ได้ โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงวัยที่สารสื่อประสาทจะถูกผลิตลดน้อยลง
ลดคอเลสเตอรอล
วารสารชีวเคมีทางโภชนาการ (Journal of Nutritional Biochemistry) ระบุว่า น้ำมันข้าวโพดช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดดี (HDL) และลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) ในร่างกายได้ เนื่องจากน้ำมันข้าวโพดมีฤทธิ์ต้านการสะสมของไขมันในเส้นเลือด ซึ่งส่งผลดีต่อระดับคอเลสเตอรอล โดยช่วยลดการดูดซึมคอเลสเตอรอลเข้าสู่ร่างกายได้ นอกจากนี้ยังมีการศึกษาอื่นพบว่า ข้าวโพดหวานก็สามารถควบคุมระดับคอเลสเตอรอลในร่างกายให้เป็นไปอย่างปกติด้วยสารอาหารอย่างวิตามินซี แคโรทีนอยด์ และฟลาโวนอยด์ด้วยนะคะ
ควบคุมเบาหวานและความดัน
มีการศึกษาพบว่า การกินข้าวโพดช่วยให้อาการของผู้ป่วยเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลิน (ชนิดที่ 2) ดีขึ้น และช่วยควบคุมความดันโลหิต เพราะในข้าวโพดมีสารฟีนอลิก ซึ่งจะไปควบคุมกระบวนการดูดซึมอินซูลินและขับออกจากร่างกาย ส่งผลให้ระดับน้ำตาลในเลือดคงที่ อีกทั้งข้าวโพดยังมีแพนโทเทนิก ซึ่งเป็นวิตามินที่ช่วยเผาผลาญคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมัน ทำให้ต่อมหมวกไตทำงานได้อย่างปกติ ส่งผลดีต่อการหลั่งฮอร์โมนในร่างกายให้มีความสมดุล จึงช่วยป้องกันภาวะเครียดได้ด้วยล่ะค่ะ
ดูแลหัวใจ
ในน้ำมันข้าวโพดมีฤทธิ์ต้านการออกซิเดชั่นของไขมัน (Antiatherogenic effect) นั่นหมายความว่าร่างกายจะดูดซึมไขมันเลวได้น้อยลง ในขณะที่ไขมันดีก็จะถูกดูดซึมได้มากขึ้น ส่งผลให้ความเสี่ยงโรคหลอดเลือดหัวใจลดลงไปด้วยนั่นเอง นอกจากนี้ น้ำมันข้าวโพดยังมีสัดส่วนไขมันอิ่มตัวที่พอเหมาะต่อความต้องการของร่างกาย แถมยังประกอบไปด้วยกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งมีสรรพคุณช่วยลดคอเลสเตอรอลในเลือด เป็นไขมันชนิดดีที่สามารถแย่งพื้นที่ไขมันเลวในร่างกายได้ จึงถือว่าน้ำมันข้าวโพดมีสรรพคุณช่วยลดโอกาสเกิดการอุดตันของไขมันในเส้นเลือด ช่วยลดระดับความดันโลหิต และลดความเสี่ยงโรคหัวใจวายได้อีกต่างหาก
มีสารต้านอนุมูลอิสระที่อาจลดความเสี่ยงโรคมะเร็ง
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยคอร์เนล สหรัฐอเมริกา พบว่า ข้าวโพดหวานที่ปรุงสุกจะปล่อยกรดเฟอรูลิก ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยรักษาโรคมะเร็งเต้านมและมะเร็งตับได้ อย่างไรก็ตาม รศ. ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กลับมองว่า กรดเฟอรูลิกเป็นเพียงแค่สารต้านอนุมูลอิสระตัวหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้มีผลในการรักษามะเร็งสักเท่าไร แต่อย่างน้อยสารตัวนี้ก็ช่วยล้างพิษอนุมูลอิสระที่ไปทำอันตรายกับเซลล์ในร่างกาย ซึ่งก็อาจช่วยลดความเสี่ยงโรคมะเร็งลงไปได้ระดับหนึ่งค่ะ
และถ้าหากเป็นข้าวโพดสีม่วงเข้มก็ยังมีสารแอนโทไซยานินสูง ซึ่งสารชนิดนี้จัดเป็นสารที่อยู่ในกลุ่มฟลาโวนอยด์ มีคุณสมบัติต่อต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคมะเร็งได้ อีกทั้งการวิจัยยังพบว่า สารชนิดนี้มีประสิทธิภาพในการต้านอนุมูลอิสระได้มากกว่าวิตามินซีและวิตามินอีถึง 2 เท่าเลยนะคะ ฉะนั้นข้าวโพดสีม่วงจึงถือเป็นข้าวโพดอีกหนึ่งสีที่เราไม่ควรพลาด
บำรุงผิว
สาว ๆ ที่ชอบกินข้าวโพดสีเหลืองต้องมีความสุขแน่ ๆ ถ้าได้รู้ว่าข้าวโพดสีเหลืองมีเบต้า-แคโรทีน วิตามินซี และไลโคปีน ที่ช่วยซ่อมบำรุงให้ผิวแข็งแรง ป้องกันการถูกทำร้ายจากรังสียูวี ช่วยเพิ่มคอลลาเจนให้ผิวเรียบเนียน และยังสามารถนำแป้งข้าวโพดไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยแก้อาการระคายเคืองตามผิวหนังได้
บำรุงผม
น้ำมันข้าวโพดมีประโยชน์ต่อเส้นผมและหนังศีรษะอย่างมาก เพราะมีกรดไขมันและวิตามินอี ที่ช่วยให้ผมอิ่มน้ำ นุ่มลื่น เงางาม ไม่แห้งเสีย แถมยังทำให้เส้นผมแข็งแรงมากขึ้น เนื่องจากมีวิตามินเคช่วยดูดซึมแคลเซียมมาบำรุงผม รวมถึงมีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่ช่วยป้องกันไม่ให้เส้นผมขาดหลุดร่วงเนื่องจากเซลล์ถูกทำลายโดยอนุมูลอิสระด้วยนะคะ
นอกจากนี้ไขมันโอเมก้า 3 และโอเมก้า 6 ในน้ำมันข้าวโพดยังสามารถป้องกันไม่ให้หนังศีรษะอักเสบ แห้ง และเป็นสะเก็ดได้ด้วย โดยการจะนำน้ำมันข้าวโพดมาใช้บำรุงผมก็ง่าย ๆ เพียงแค่นำน้ำมันข้าวโพดไปอุ่นให้ร้อนสัก 30 วินาที จากนั้นนำมานวดให้ทั่วศีรษะประมาณ 15 นาที แค่นี้ก็จะทำให้ผมและหนังศีรษะของเรามีสุขภาพที่ดีขึ้นได้แล้ว
กินข้าวโพดอ้วนไหม มีคำตอบ !
เป็นเรื่องยากที่จะบอกว่ากินข้าวโพดแล้วอ้วนหรือไม่อ้วน เพราะจริง ๆ แล้วการกินข้าวโพดก็ไม่ได้ทำให้อ้วน ถ้าเรากินในปริมาณที่พอเหมาะ คือ ประมาณครึ่งฝักถึงหนึ่งฝักต่อวัน แต่ถ้าเกิดเรากินมากกว่านั้น ก็เสี่ยงทำให้อ้วนได้ เพราะในข้าวโพดเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต น้ำตาล แถมมีปริมาณแคลอรีสูง เมื่อกินเข้าไปมาก ๆ หรือบ่อย ๆ ก็จะทำให้น้ำหนักขึ้นได้ง่าย ๆ
อีกทั้งการกินข้าวโพดครึ่งฝักยังให้พลังงานพอ ๆ กับข้าวสวย 1 ทัพพีเข้าไปแล้ว ดังนั้นเพื่อป้องกันไม่ให้ร่างกายได้รับคาร์โบไฮเดรตมากเกินไป เราจึงไม่ควรกินข้าวโพดกับเมนูคาร์โบไฮเดรตอื่น ๆ เช่น ขนมจีน ข้าวเหนียว ก๋วยเตี๋ยว อาหารประเภทแป้งต่าง ๆ ในมื้อเดียวกันค่ะ และถ้ามื้อไหนเรากินข้าวโพดไปแล้ว ก็ควรลดปริมาณข้าวสวยหรือแป้งอื่น ๆ ลงสักประมาณครึ่งทัพพีด้วย เพื่อที่ร่างกายจะได้ไม่รับพลังงานจากคาร์โบไฮเดรตมากเกินความจำเป็นนั่นเองค่ะ
นอกจากนี้การกินอาหารที่นำข้าวโพดไปแปรรูป เช่น ป๊อปคอร์น คอร์นเฟล็ก ก็ต้องระวัง และควรกินตามหน่วยบริโภคที่ระบุไว้ในโภชนาการอย่างเคร่งครัด เพราะนั่นคือปริมาณพอเหมาะที่ร่างกายควรจะได้รับในแต่ละวันแล้ว อย่างไรก็ตาม อาหารแปรรูปต่าง ๆ มักจะใส่น้ำตาลเพิ่มความหวานนิดหน่อย ดังนั้น ทางที่ดี ถ้าหากอยากจะลดน้ำหนักจริง ๆ เราแนะนำให้กินเป็นข้าวโพดต้มจะดีที่สุดค่ะ
ข้าวโพด เมนูเด็ด ที่น่าลอง
จะให้กินแต่ข้าวโพดเป็นฝัก ๆ อย่างเดียวก็คงเบื่อแย่ งั้นลองนำข้าวโพดไปทำเป็นเมนูอย่างอื่น เช่น ข้าวโพดคลุกเนย ป๊อปคอร์น ข้าวโพดทอด หมูทอดข้าวโพด หรือจะลองดูเมนูที่กระปุกดอทคอมเคยแนะนำไว้ ตามนี้ก็ได้ค่ะ
- 14 เมนูขนมจากข้าวโพด อิ่มอร่อยกับความหวานไม่ใช่แค่ต้มกิน
- 11 เมนูข้าวโพด อาหารว่างกินได้บ่อยอร่อยอะไรเบอร์นั้น
- น้ำนมข้าวโพด เครื่องดื่มสุขภาพหอมอร่อย
ข้าวโพดกับข้อควรระวัง
ต่อให้มีประโยชน์มากมาย
แต่อย่างไรการรับประทานข้าวโพดก็มีข้อควรระวังอยู่ดี เพราะอย่างที่บอกไปว่าข้าวโพดให้พลังงานมากถึง 86 กิโลแคลอรี
ซึ่งเทียบได้กับข้าว 1 จานเลยทีเดียว ดังนั้นหากเรากินข้าวโพดมากเกินไปในแต่ละวันโดยไม่ระวัง
อาจทำให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นโดยไม่รู้ตัวก็ได้นะคะ
นอกจากนี้ข้าวโพดดิบจะมีแป้งที่ไม่ย่อย ซึ่งทำให้เกิดอาการท้องอืดได้
ดังนั้น ผู้สูงอายุที่มีปัญหาท้องอืดบ่อย หรือมีปัญหาลำไส้ย่อยยาก
รวมทั้งคนที่เพิ่งผ่าตัดช่องท้องมาใหม่ ๆ จึงไม่ควรกินข้าวโพดค่ะ
ส่วนคนทั่วไป
หากจะกินข้าวโพด เราขอแนะนำให้ปรุงจนสุกก่อนจะดีที่สุด
แต่ถ้าใครกินข้าวโพดสุกแล้วก็ยังมีปัญหาท้องอืด
เพราะลำไส้ของบางคนอาจไวต่อแป้งในข้าวโพด นพ.กฤษดา ศิรามพุช
ผอ.สถาบันเวชศาสตร์อายุรวัฒน์นานาชาติ
ก็แนะนำให้นำข้าวโพดไปแช่น้ำค้างคืนไว้ก่อนไปต้ม
หรือไม่ก็ต้มข้าวโพดให้นานที่สุด
จะช่วยแก้ปัญหากินข้าวโพดแล้วท้องอืดได้ค่ะ
สรุปได้ว่าที่หลาย ๆ
คนเข้าใจว่ากินข้าวโพดช่วยลดน้ำหนักก็ไม่ใช่เรื่องจริงซะทีเดียว
แต่ยังไงข้าวโพดก็ไม่ได้ทำให้อ้วน ถ้าเราเลือกกิานให้พอเหมาะ
แต่เหนือสิ่งอื่นใด เราเชื่อว่าหลาย ๆ คนที่ได้อ่านบทความนี้
ต้องอยากกินข้าวโพดกันแน่ ๆ เพราะข้าวโพดให้ประโยชน์ดี ๆ แก่ร่างกายมากมาย
เอาเป็นว่า ถ้าพรุ่งนี้ไม่รู้จะกินอะไร
ไปหาซื้อข้าวโพดไว้กินสักฝักก็น่าจะดีนะคะ
ขอบคุณข้อมูลจาก : หมอชาวบ้าน, หมอชาวบ้าน, ภาควิชาพืชไร่นา
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, เฟซบุ๊ก Jessada Denduangboripant, USDA Nutrient database, Stylecraze, Organicfacts, Healthline