โรคที่ห้ามกินกระเทียมมีอะไรบ้าง เป็นความดันกินกระเทียมได้ไหม ป่วยแบบไหนควรระวัง

 

โรคที่ห้ามกินกระเทียม ป่วยแบบไหนไม่ควรกินกระเทียมบ้าง ถ้าไม่อยากซ้ำเติมอาการที่เป็นอยู่ หรือกระตุ้นอาการให้กำเริบ มาเช็กเลย

   กระเทียม มีสรรพคุณเลื่องลือมานาน บ้างก็เชื่อว่า กินกระเทียมลดความดัน กินกระเทียมลดไขมันในเลือดได้ หรือคนที่กินกระเทียมสดเพื่อลดความอ้วนก็มีอยู่ไม่น้อย แต่เหรียญมี 2 ด้านฉันใด กระเทียมก็เป็นสมุนไพรที่มีทั้งสรรพคุณน่าสนใจและโทษที่ควรระวังฉันนั้น งั้นเอาเป็นว่าเพื่อความปลอดภัยของสุขภาพ เรามาเช็กกันดีกว่าว่าโรคที่ห้ามกินกระเทียม หรือไม่ควรกินมากเกินไปมีอะไรบ้าง พร้อมทบทวนอีกทีว่าประโยชน์ของกระเทียมเป็นอย่างไร

สรรพคุณกระเทียม

กระเทียม

          สรรพคุณกระเทียมที่เป็นที่เลื่องลือนักหนา จริง ๆ แล้วประโยชน์ของกระเทียมมีอะไรบ้าง ลองมาดูกันค่ะ

  • ขับลม
  • แก้จุกเสียด แก้ท้องอืด แก้อาหารไม่ย่อย
  • ขับเหงื่อ
  • ขับเสมหะ
  • แก้หวัด คัดจมูก
  • บำรุงธาตุ กระจายโลหิต
  • ขับระดู
  • ขับปัสสาวะ
  • แก้อุจจาระเป็นมูกเลือด
  • รักษาโรคกลากเกลื้อน
  • รักษาแผลและปัญหาผิวหนังต่าง ๆ
  • แก้พิษแมลงสัตว์กัดต่อย
  • ลดความดันโลหิต
  • ลดไขมันในเลือด
  • ต้านอนุมูลอิสระ
  • ต้านการอักเสบ
  • ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อจุลชีพ

          แม้สรรพคุณของกระเทียมจะมีอยู่ด้วยกันหลายด้าน ทว่าสำหรับบางคนก็ต้องเตือนไว้ก่อนว่าไม่ควรกินกระเทียมนะคะ หรือไม่ควรกินในปริมาณที่มากเกินไป เพราะอาจได้รับผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัวบางโรค หรือมีอาการป่วยบางอย่างอยู่

โรคที่ห้ามกินกระเทียมมากเกินไป ใครบ้างควรเลี่ยง

กระเทียม

          คนกลุ่มนี้ควรระมัดระวังการกินกระเทียมในปริมาณที่มากเกินไป รวมทั้งสารสกัดกระเทียม เพราะอาจส่งผลต่ออาการเจ็บป่วยได้ ดังนี้

  • ผู้ที่มีอาการแพ้กระเทียม ทั้งคนที่แพ้กลิ่นและแพ้สารในกระเทียม 

  • ผู้ที่เป็นโรคกระเพาะ เพราะกระเทียมมีกรดแก๊สในตัวเอง กินมากไปอาจทำให้ระคายเคืองกระเพาะอาหาร หรือแสบท้องมากขึ้นได้

  • ผู้ที่เป็นโรคกรดไหลย้อน เพราะกรดแก๊สในกระเทียมอาจทำให้อาการแสบร้อนกลางอกกำเริบขึ้นได้

  • คนที่มีอาการตาแดง เพราะกระเทียมมีฤทธิ์ร้อน รสฉุน ซึ่งอาจทำให้มีอาการมากขึ้น

  • ผู้ที่เป็นความดันโลหิตต่ำ หรือผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่รับประทานยาลดความดันโลหิตอยู่ เนื่องจากกระเทียมมีสรรพคุณช่วยลดความดัน ดังนั้น หากกินกระเทียมมากเกินไปหรือกินร่วมกับยาลดความดัน อาจไปทำให้ความดันต่ำมากกว่าเดิม 

  • ผู้ที่เตรียมตัวจะผ่าตัด ควรหยุดรับประทานกระเทียมอย่างน้อย 2 สัปดาห์ ก่อนผ่าตัด เพราะกระเทียมอาจทำให้เลือดแข็งตัวได้ช้า เสี่ยงต่อภาวะเลือดหยุดไหลยากหลังผ่าตัด อีกทั้งยังมีผลต่อระดับความดันโลหิตและน้ำตาลในเลือด 

  • ผู้ที่รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น ยาวาร์ฟาริน เพราะกระเทียมมีฤทธิ์ต้านการแข็งตัวของเลือดเช่นกัน จึงเสริมฤทธิ์กัน และอาจทำให้เลือดออกมากขึ้น

  • ผู้ที่ใช้ยา NSAIDs บางชนิด เช่น แอสไพริน ซึ่งมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด 

  • ผู้ป่วยเบาหวานที่รับประทานยาลดน้ำตาลในเลือด ไม่ควรกินยาร่วมกับสารสกัดจากกระเทียม เนื่องจากจะยิ่งไปลดระดับน้ำตาลให้ต่ำลง

  • หญิงตั้งครรภ์หรือกำลังให้นมบุตร ไม่ควรกินสารสกัดจากกระเทียมที่มีปริมาณสารสำคัญของกระเทียมสูง ๆ เพราะอาจส่งผลข้างเคียงไม่พึงประสงค์กับเด็กได้ แต่สามารถกินกระเทียมในรูปแบบอาหารตามปกติได้นะคะ 

           แม้จะไม่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงสุขภาพใด ๆ ก็อยากแนะนำให้กินกระเทียมอย่างพอเหมาะ อย่างการกินกระเทียมที่อยู่ในเมนูอาหารประจำวัน เป็นต้น แต่ไม่ควรกินกระเทียมเพื่อหวังผลในการรักษาโรคนะคะ ส่วนใครที่อยากได้สารสกัดจากกระเทียมในโดสสูง ๆ เพื่อบำรุงสุขภาพ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรดูก่อนว่าสามารถรับประทานกระเทียมในรูปแบบสารสกัดได้ไหม และกินอย่างไรถึงจะเหมาะสม 

ขอบคุณข้อมูลจาก : ฐานข้อมูลเครื่องยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีDISTHAI, nccih.nih.gov, webmd.com