มีคำถามจากทางบ้านถามเข้ามาในหน้า Ask Expert ว่า " ประจำเดือนขาด ตั้งแต่เมษายน จนปัจจุบันก็เดือนพฤศจิกายนแล้ว แต่ไม่มีอาการแบบคนท้อง แบบนี้ปกติไหมคะ? " เชื่อว่าสาว ๆ หลายคนเคยมีประสบการณ์เดียวกันนี้มาบ้างแล้ว แต่อาจไม่รู้ว่าเกิดจากอะไร งั้นวันนี้มาดูคำตอบไปพร้อม ๆ กันเลย
ประจำเดือน (Mense) คือ เลือดที่ไหลออกจากโพรงมดลูก พร้อมเยื่อบุโพรงมดลูกที่ตายแล้วหลุดลอก หลุดและแตกสลาย เกิดเป็นรอบประจำเดือนตามปกติทุก 21-36 วัน (นับจากวันแรกของประจำเดือน)
ประจำเดือนขาด (Amenorrhea / Missed Period) คือ ภาวะที่ประจำเดือนขาด หรือไม่มาตามปกติ โดยประจำเดือนต้องหายไป 3 เดือน ถึงจะเรียกได้ว่า “ภาวะประจำเดือนขาด” หาก ประจำเดือนขาดไปเพียง 1-2 เดือน จะเรียกว่า ภาวะประจำเดือนมาช้ากว่ากำหนด
ประจำเดือนขาด แบ่งได้ 2 ประเภท
- ภาวะขาดประจำเดือนปฐมภูมิ (Primary Amenorrhea) คือ ผู้หญิงอายุ 18 ปีแล้ว แต่ยังไม่เริ่มมีประจำเดือน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วผู้หญิงมักจะเริ่มมีประจำเดือนตั้งแต่อายุ 12 ปี
- ภาวะขาดประจำเดือนทุติยภูมิ (Secondary Amenorrhea) คือ ผู้หญิงที่เคยมีประจำเดือนมาก่อน แต่ต่อมาประจำเดือนขาดหายไปอย่างน้อย 6 เดือน หรือ 3 รอบเดือน
และจากคำถามทางบ้าน ที่ประจำเดือนขาดมาถึง 6 เดือน จึงเข้าข่ายภาวะขาดประจำเดือนแบบทุติยภูมิ นั่นเอง
สาเหตุการขาดประจำเดือน
- การตั้งครรภ์ เป็นสาเหตุที่พบบ่อย
และเป็นสาเหตุที่คนส่วนใหญ่จะสงสัยเป็นสาเหตุแรก ๆ เมื่อประจำเดือนขาดหายไป
ซึ่งหากอยู่ในวัยเจริญพันธุ์
และมีพฤติกรรมการมีเพศสัมพันธ์อยู่แล้วในช่วงก่อนประจำเดือนขาด
อาจเป็นสาเหตุให้ประจำเดือนขาด ซึ่งถือว่าไม่ใช่ความผิดปกติ
สามารถตรวจเบื้องต้นได้เอง โดยการตรวจปัสสาวะด้วยที่ตรวจการตั้งครรภ์
หรือไปพบแพทย์เพื่อทำการตรวจครรภ์เพื่อให้ได้ผลยืนยันชัดเจน
- ความเครียด วิตกกังวล อาจทำให้ประจำเดือนมาผิดปกติ
ประจำเดือนอาจขาดหายไปได้คราวละหลาย ๆ เดือน
เนื่องจากความเครียดนั้นมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของการหลั่งฮอร์โมนที่เกี่ยวข้องกับการเจริญพันธุ์และการมีประจำเดือน
- โรควิตกกังวล (Anxiety disorders) โรคอารมณ์แปรปรวน (Mood disorders) ทำให้ประจำเดือนขาด ไม่มีความรู้สึกทางเพศ
- ใช้ยาคุมนานเกินไป การใช้ยาฮอร์โมนคุมกำเนิดเป็นระยะเวลานาน
ๆ เช่น การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด การฉีดยาคุมกำเนิด
ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ประจำเดือนขาดได้เป็นธรรมดา
- ช่วงให้นมลูก คุณแม่หลายคนที่คลอดลูกแล้ว
ประจำเดือนอาจจะยังไม่มา หรือ ประจำเดือนขาดอยู่ เพราะเป็นช่วงหลังคลอด
หรือช่วงให้นมลูกอยู่ ซึ่งในช่วงหลังคลอด หรือแม้แต่หลังแท้งลูก
ถ้ายังมีน้ำนมอยู่ก็เป็นเรื่องปกติที่ประจำเดือนจะยังไม่มาจนกระทั่งหย่านม
- วัยทอง หรือวัยหมดประจำเดือน (Menopausal syndrome) โดยเมื่ออายุมากขึ้น
ในช่วงวัยประมาณ 40 – 59 ปี ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนจะลดลง
เนื่องจากรังไข่หยุดทำงาน ซึ่งทำให้สิ้นสุดการมีประจำเดือนอย่างถาวร
- มีเนื้องอกที่ต่อมใต้สมอง เนื้องอกของต่อมใต้สมอง
หรือแม้แต่เนื้องอกบริเวณใกล้ ๆ ต่อมใต้สมอง
ก็อาจเป็นสาเหตุให้ประจำเดือนขาดได้ โดยเนื้องอกของต่อมใต้สมองที่เรียกว่า
พิตูตารี่แกลนด์ (Pituitary gland) อาจทำให้ร่างกายมีความผิดปกติ เช่น
รูปร่างโตผิดปกติ ประจำเดือนขาดหายไป
- ระดับฮอร์โมนผิดปกติ รังไข่ที่สร้างฮอร์โมน
ไม่ว่าจะสร้างฮอร์โมนมาก หรือน้อยก็เป็นสาเหตุให้ประจำเดือนขาดได้
หากสร้างฮอร์โมนอีสโตรเจน กับ โปรเจสเตอโรนน้อยเกินไป
ก็ไม่พอที่จะไปกระตุ้นให้มีประจำเดือนออกมา หรือ
หากรังไข่สร้างฮอร์โมนเพศชายมามากเกินไป
ก็ทำให้ประจำเดือนขาดหายไปได้เช่นกัน
- น้ำหนักเพิ่มหรือลดมากเกินไป ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวเพิ่ม หรือลดมากเกินไปอาจเกิดอาการประจำเดือนไม่มา โดยเฉพาะเมื่ออดอาหาร หรือลดน้ำหนักเร็วเกินไป
อาจทำให้ไม่มีสารอาหารไปกระตุ้นการผลิตฮอร์โมนที่ทำให้ไข่ตก
ส่วนคนที่มีน้ำหนักตัวมากเกินไปหรืออ้วนมากนั้น
จะทำให้ร่างกายผลิตฮอร์โมนเอสโตรเจนมาก ซึ่งส่งผลต่อรอบเดือน
และทำให้ประจำเดือนไม่มา
- ออกกำลังกายมากเกินไป ผู้หญิงที่ออกกำลังกายมากเกินไป
อาจทำให้เกิดภาวะขาดประจำเดือน เนื่องจากร่างกายสูญเสียไขมันมากเกินไป
โดยผู้หญิงที่อายุ 16 ปี ต้องมีไขมันในร่างกายประมาณ ร้อยละ 22
ของน้ำหนักตัว เป็นอย่างน้อย จึงสามารถคงรอบประจำเดือนตามปกติได้
ดังนั้นในผู้หญิงที่มีไขมันในร่างกายน้อย หรือผอมเกินไป
อาจทำให้ขาดประจำเดือนได้เช่นกัน
- โรคเกี่ยวกับมดลูก เช่น ฉายแสงที่มดลูกเพื่อรักษามะเร็ง หรือเป็นโรคบางชนิดของตัวมดลูกเอง เช่นเป็นวัณโรคของเยื่อบุมดลูก
- แท้ง แล้วตัดขูดมดลูก ผนังมดลูกได้รับความกระทบกระเทือนมากเกินไป
จนเกิดเป็นแผลเป็นข้างใน ติดกันเป็นพังผืด
แบบนี้ก็เป็นเหตุของการขาดประจำเดือนได้เช่นกัน
- ป่วยเป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคของต่อมไธรอยด์ โรคของตับอ่อน และโรคของต่อมหมวกไต
คุณ ๆ ที่กำลังไม่สบายเป็นไข้อะไรก็ตามแต่ อาจทำให้ประจำเดือนขาดหายไปชั่วคราวได้ แต่พอโรคนั้นหายแล้ว ประจำเดือนก็จะมาเป็นปกติ โรคเรื้อรังบางอย่าง เช่น วัณโรคปอดก็ทำให้ประจำเดือนขาดหายไปได้ - ถุงน้ำรังไข่หลายใบ ภาวะนี้เกิดจากรังไข่มีถุงน้ำรังไข่เป็นจำนวนมาก โดยถุงน้ำเหล่านี้จะไม่ปล่อยไข่ให้ตกออกมา
ประจำเดือนขาด มีผลเสียอย่างไร?
- เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น หากประจำเดือนขาดเป็นเวลานาน
อาจทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกหนาขึ้น
ซึ่งวันดีคืนดีอาจส่งผลให้มีเลือดออกทางช่องคลอดผิดปกติ และหากปล่อยไว้
อาจมีความเสี่ยงเกิดมะเร็งมดลูกได้
- มีลูกยาก หากอยากมีลูก แต่อยู่ในภาวะที่ประจำเดือนขาด ก็อาจจะต้องปรึกษาแพทย์ เพราะส่งผลกับการมีลูกด้วยวิธีธรรมชาติอาจจะทำไม่ได้
- อาจมีอาการเจ็บป่วยแฝงอยู่ในร่างกาย ซึ่งการขาดประจำเดือน เป็นอาการหนึ่งของโรค หรือความผิดปกตินั้น จึงควรต้องเข้ารับการตรวจ รักษา
- กระดูกพรุน มวลกระดูกลดลง การขาดประจำเดือน ทำให้ระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำ ซึ่งฮอร์โมนเอสโตรเจนสำคัญต่อการดูดซึมแคลเซียมทั้งที่ไต และระบบทางเดินอาหาร เพื่อนำไปใช้ในการเสริมสร้างกระดูก การมีระดับฮอร์โมนเอสโตรเจนต่ำนาน ๆ จึงมีผลให้ความหนาแน่นของกระดูกลดลง หรือในระยะยาวอาจเกิดภาวะกระดูกพรุนได้
ประจำเดือนขาด ต้องทำอย่างไร?
- ผ่อนคลาย ไม่เครียด ความเครียดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ประจำเดือนขาดได้
ควรพยายามทำร่างกาย และจิตใจให้ผ่อนคลาย อาจจะไปเที่ยว ทำงานน้อยลง
ทำจิตใจให้สบาย ทำกิจกรรมที่ช่วยให้ผ่อนคลาย
- หมั่นสังเกตร่างกาย เมื่อประจำเดือนเริ่มหายไปแม้เพียงเดือนเดียว
ควรเริ่มจดบันทึกเพื่อดูว่าประจำเดือนหายไป หรือแค่มาช้ากว่ากำหนด
และคอยสังเกตความผิดปกติของร่างกาย เช่น
มีน้ำนมไหลออกมาทั้งที่ไม่ตั้งครรภ์หรือไม่ มีอาการปวดท้องผิดปกติ มีขน
มีหนวดขึ้นผิดปกติ หรือไม่
- ไม่หักโหมออกกำลังกาย ควรออกกำลังกายด้วยความเหมาะสม
ไม่ออกกำลังกายหนัก หรือมากเกินไป โดยเฉพาะหากเป็นผู้หญิงที่ผอม
มีไขมันน้อย อาจจะเน้นการออกกำลังกายที่เน้นการเพิ่มกล้ามเนื้อ
แทนการออกกำลังกายที่ออกแรงเยอะ ๆ เพื่อลดไขมัน เช่น อาจจะโยคะ แทนการวิ่ง
- ควบคุมน้ำหนัก ให้น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์เหมาะสม
ไม่อ้วนไป หรือผอมไป หากรู้ตัวว่าผอม หรือมีสัดส่วนไขมันในร่างกายน้อย
ควรรับประทานอาหารเพื่อเพิ่มน้ำหนัก เน้นอาหารที่เพิ่มไขมันดี
หรือหากน้ำหนักตัวเยอะ อาจจะค่อย ๆ ลดน้ำหนัก แต่ไม่ควรอดอาหาร หรือลดน้ำหนักเร็วเกินไป
- รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ รับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ รับประทานให้ครบ 3 มื้อ และ เน้นอาหารให้ครบ 5 หมู่ อาจจะเน้นอาหารที่มีธาตุเหล็ก แคลเซียม เพิ่มขึ้น
- หลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพ เช่น สูบบุหรี่ ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน เป็นต้น
- พบสูตินรีแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัย นอกจากการปรับพฤติกรรมแล้ว หากประจำเดือดขาดหายไป ควรไปพบแพทย์ หรือ สูตินรีแพทย์เพื่อตรวจหาความผิดปกติที่ประจำเดือนหายไป ว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่ เพื่อตรวจรักษา โดยแพทย์จะซักประวัติ ตรวจภายใน อัลตราซาวด์ ตรวจดูระดับฮอร์โมน ฯลฯ
เมื่อประจำเดือนขาด ควรรักษาอย่างไร?
การรักษา “ภาวะประจำเดือนขาด” นั้น รักษาได้หลายวิธี โดยต้องหาสาเหตุให้พบว่าเกิดจากอะไรกันแน่ เช่น
- กินยาฮอร์โมนเสริม หากเกิดจากสาเหตุเช่น ผอมเกินไป
อ้วนเกินไป ซึ่งเป็นสาเหตุที่ไม่ใช่ความผิดปกติหรือเกี่ยวกับโรคภัยไข้เจ็บ
เบื้องต้นเพื่อให้ประจำเดือนมาปกติ คุณหมออาจจ่ายยาฮอร์โมน
ซึ่งเป็นตัวยาเดียวกับยาเลื่อนประจำเดือนที่เราคุ้นเคย ซึ่งเมื่อกินยาแล้ว
จะทำให้ประจำเดือนมาได้ โดยอาจให้กินยาเป็นประจำในช่วงเดียวกันของทุก ๆ
เดือน ประมาณ 6 เดือน เพื่อให้ประจำเดือนมาปกติ
ให้เยื่อบุโพรงมดลูกหลุดลอกออกมา
และหลังจากนั้นให้ลองดูว่าประจำเดือนมาได้เองโดยไม่จำเป็นต้องกินยาหรือไม่
- กินยาคุมกำเนิด หากมีความผิดปกติ เช่น
ถุงน้ำรังไข่หลายใบ แพทย์อาจจ่ายยาคุมกำเนิดแบบเม็ด
หรือยาที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพื่อช่วยรักษาอาการ
- รักษาอาการป่วยอื่น ๆ หากตรวจวินิจฉัยแล้ว พบว่าการขาดหายไปของประจำเดือนเกิดจากความผิดปกติ เช่น เนื้องอกต่อมใต้สมอง มีมดลูกผิดปกติ ก็รักษาโรค หรือ อาการเจ็บป่วยนั้น ๆ เมื่อรักษาหายแล้ว ประจำเดือนก็จะกลับมาได้ตามปกติ
ขอขอบคุณ
ภาพ :iStock