ระวังอันตรายจากเมนูอาหารใส่กัญชา แนะตรวจสอบส่วนผสมและแหละที่มาก่อนซื้อ ห่วงเป็นช่องทางเยาวชนยกระดับพฤติกรรมสู่การเสพ
กัญชา ส่วนไหนกินได้ ส่วนไหนไม่ควรกิน
รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ผู้จัดการศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า กัญชาจะมีสารสำคัญ 2 ชนิด ได้แก่ CBD และ THC ซึ่งสาร THC ในกัญชาทำให้มึนเมา เคลิ้ม โดยแต่ละส่วนของกัญชาจะมีสาร THC ต่างกัน ส่วนที่มี THC เข้มข้นสูงไม่ค่อยดีนักในแง่นำมาใช้ เพราะทำให้เป็นพิษและเมาได้ อย่างไรก็ตาม ขณะนี้กฎหมายอนุญาตให้นำบางส่วนมาใช้ในการปรุงอาหารได้ เฉพาะส่วนที่มี THC น้อย ห้ามนำส่วนที่มี THC มากมาใส่อาหาร
กัญชา ส่วนที่กินได้ ต้องระมัดระวังปริมาณที่ใส่ และความร้อนที่ใช้ปรุง เสี่ยงอันตราย
แม้จะเป็นอาหารที่มีส่วนผสมของใบกัญชาตามที่กฎหมายอนุญาต ซึ่งจะมีสารเมา THC ต่ำ แต่ในการกินจะต้องระวัง การใส่ใบปริมาณมากอาจทำให้สารเมาสะสมได้เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ประชาชนไม่ควรปลูกกัญชาเพื่อนำมาปรุงอาหารเอง เนื่องจากการปลูกตามกฎหมายจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ก่อน ไม่ใช่ทุกคนสามารถปลูกเพื่อนำมาทำอาหารได้
การนำใบกัญชามาปรุงอาหาร เมื่อใบกัญชาผ่านความร้อน สาร THC จะออกฤทธิ์มากกว่า เพราะฉะนั้น การปรุงใบกัญชาเป็นอาหารด้วยวิธีการที่ผ่านความร้อนจะต้องระมัดระวัง ยิ่งการนำใบมาผัดผ่านน้ำมันจะยิ่งอันตราย เพราะมีทั้งผ่านความร้อนและน้ำมัน ที่จะทำให้สกัดสารได้มาก อาจมีผลให้ได้สารเมาปริมาณมากขึ้น จึงต้องระมัดระวัง แม้ว่าบางส่วนของกัญชามีร้อยละของปริมาณสารเมาน้อย แต่ถ้าใช้ปริมาณมาก ปริมาณสารเมาก็เพิ่มขึ้นได้ ถ้าจะเอาอะไรเข้าสู่ร่างกาย ก็ต้องใช้จากที่ได้มาตรฐานและระมัดระวังอย่างดี
ใช้กัญชาผสมในอาหารอย่างไรให้ปลอดภัย
กัญชาคือสารชนิดหนึ่ง เมื่อเอาเข้าสู่ร่างกายทำให้มีฤทธิ์ที่ทำให้มึนเมาได้ ถ้าจำเป็นต้องใช้ก็ใช้ให้ปลอดภัย ต้องรู้แหล่งที่มา รู้ให้ชัดว่าภายในมีอะไรเป็นส่วนผสมอย่างไรบ้าง หากสงสัยให้สอบถามตรวจสอบไปยัง อย. ก่อน
ขณะนี้อาหารผสมใบกัญชาคนอยากลอง เพราะเป็นของใหม่ในประเทศ แต่อะไรที่ดูน่าลองก็พยายามสังเกตว่าได้รับการอนุญาตที่ถูกต้องหรือไม่ เราเป็นผู้บริโภคเรากำลังจะรับบางอย่างเข้าสู่ร่างกาย ก็ต้องตรวจสอบให้ชัดเจนก่อน ซึ่งกลุ่มคนที่มีความเปราะบางหรืออ่อนไหวกับสารต่างๆ ที่เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายอยู่แล้ว เป็นไปได้ว่าถ้าใช้ปริมาณใบกัญชาที่เท่าๆ กับคนทั่วไป อาจจะได้รับฤทธิ์เมาที่มากกว่าคนอื่น ก็ต้องดูเป็นรายบุคคลไป
กลุ่มเสี่ยงอันตราย ไม่ควรลองกินอาหารใส่กัญชา
กลุ่มที่ควรระมัดระวังอาหารที่ใส่กัญชา คือ หญิงตั้งครรภ์ เด็กเยาวชน และ ผู้สูงอายุ เพราะจะมีความเปราะบางในการรับสาร
เฉพาะ “ใบ” กัญชา ที่ใช้ปรุงอาหารได้ถูกต้องตามกฎหมาย
ประกาศกระทรวงสาธารณสุขอนุญาต ให้ใช้เฉพาะใบกัญชามาประกอบอาหารได้เท่านั้น แต่ต้องเป็นกัญชาที่ปลูกจากผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ปลูกตามกฎหมาย จึงเอามาปรุงสุกเป็นอาหารและขายได้ โดยขายหน้าร้านตัวเองเท่านั้น ไม่ใช่ลักษณะบรรจุในภาชนะที่ปิดติดฉลากและกระจายสินค้าไปยังสถานที่อื่น ถ้าหากเป็นการผลิตแบบใส่บรรจุภัณฑ์มีฉลากต้องขออนุญาต อย. ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 อีกชั้นหนึ่ง แต่ในทางกฎหมายมีความย้อนแย้ง เพราะจริงๆ แล้วการนำใบกัญชามาทำอาหาร ไม่สามารถทำได้ เป็นการขัดกับ พ.ร.บ.อาหาร และประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่ 378 ซึ่งระบุว่าไม่ให้นำทุกส่วนของกัญชามาทำอาหาร
ระวังอย่าให้เยาวชนยกระดับจาก “กิน” เป็น “เสพ” กัญชา
กัญชามีทั้งคุณและโทษ ตัวกัญชายังถือเป็นสารเสพติดที่เมื่อเสพไปแล้วส่งผลกระทบต่อพัฒนาการสมองของเด็กแน่นอน ส่งผลต่อสุขภาพของผู้เสพบางคนแน่นอนเป็นเรื่องจริง แต่ขณะเดียวกันก็มีข้อดีในเรื่องของสาร CBD ในกัญชาที่สามารถทำให้เกิดเรื่องดีๆ มากมาย
แต่คนในสังคมส่วนใหญ่ตอนนี้เหมือนเด็กเห่อของเล่นใหม่ พอกระแสกัญชามา คิดว่าเป็นพืชทางออก พืชที่ทำรายได้ และใช้สันทนาการด้วย ประกอบกับนโยบายของรัฐบาล หรือกระทรวงสาธารณสุข พยายามประโคมเรื่องนี้ว่าดี เลยเป็นแฟชั่นที่คนในสังคมคิดว่ามันไม่น่าจะมีพิษมีภัย แม้แต่ผู้ปกครองพบกัญชาในกระเป๋าลูกที่อยู่ชั้นมัธยมศึกษา ก็ไม่เกิดความกังวลอะไร เพราะเข้าใจว่ากัญชาไม่อันตราย
แต่ที่น่ากังวลคือ เด็กเยาวชนที่สามารถเข้าถึง จะยกระดับพฤติกรรมไม่ใช่แค่ใบ แต่ไปใช้ช่อดอกที่มีสาร THC สารที่ทำให้เกิดความเมา มึนและมีสารเสพติด จึงต้องสื่อสารความถูกต้องให้กับสังคมว่ากัญชามีข้อดีและข้อเสีย
ขอขอบคุณ
ข้อมูล :ศูนย์ศึกษาปัญหาการเสพติด (ศศก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.),โครงการเสริมสร้างพื้นที่ปลอดภัย จากยาเสพติดโดยกลไกเครือข่ายภาคประชาชนร่วมป้องกันปัญหายาเสพติดและสร้างชุมชนสุขภาวะ
ภาพ :iStock