ยาคลายกล้ามเนื้อช่วยได้แค่ไหน ใช้อย่างไรจะคลายปวดเมื่อย

การใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อบรรเทาอาการปวดเมื่อยเนื้อตัว น่าจะเป็นหนึ่งในวิธีบรรเทาอาการปวดที่หลายคนใช้กันอยู่ ว่าแต่เราจะเลือกใช้ยาคลายกล้ามเนื้ออย่างไรดีนะ

          อาการปวดเมื่อยเนื้อตัวเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ และเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะคนที่ทำกิจกรรมบางอย่างในท่าเดิมนาน ๆ เช่น พนักงานออฟฟิศ หรือคนที่ออกแรงกล้ามเนื้อมากเกินไป ซึ่งหากเกิดอาการปวดเมื่อยขึ้นมาแล้ว หลายคนก็เลือกที่จะบรรเทาอาการปวดด้วยยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อให้อาการปวดเมื่อยเนื้อตัวหายไปโดยเร็ว ถ้าอย่างนั้นเรามาลองศึกษาเรื่องยาคลายกล้ามเนื้อกันค่ะ ว่าจริง ๆ แล้วยาคลายกล้ามเนื้อช่วยได้แค่ไหน แล้วต้องเลือกใช้อย่างไรเพื่อบรรเทาอาการปวด

 ยาคลายกล้ามเนื้อคืออะไร

        ยาคลายกล้ามเนื้อคือยาที่ใช้บรรเทาอาการเจ็บปวดเฉียบพลัน จากการที่กล้ามเนื้อหดเกร็ง เนื่องจากการบาดเจ็บหรือโรคที่เกี่ยวข้องกับกล้ามเนื้อและกระดูก

        โดยยาคลายกล้ามเนื้อจะออกฤทธิ์ที่ระบบประสาทส่วนกลาง และอาจจำเป็นต้องใช้ร่วมกับการพักกล้ามเนื้อ กายภาพบำบัด และการรักษาอื่น ๆ ร่วมด้วย จึงจะช่วยคลายปวดเมื่อยอย่างได้ผลจริง ๆ


ยาคลายกล้ามเนื้อ

 ยาคลายกล้ามเนื้อ ใช้แบบไหนจะดี

          ยาคลายกล้ามเนื้อมีอยู่ด้วยกันหลายประเภท แต่ละประเภทของยาคลายกล้ามเนื้อก็จะออกฤทธิ์ใกล้เคียงกัน ซึ่งยาคลายกล้ามเนื้อสามารถแบ่งออกได้ตามนี้

          1. ยาที่ออกฤทธิ์ในระบบประสาท โดยยับยั้งการสั่งความรู้สึกปวดผ่านระบบประสาท ซึ่งก็ได้แก่ ยา Orphenadrine และยา Tolperisone (Mydocalm)
    
          2. ยาลดการอักเสบของเนื้อเยื่อ มีฤทธิ์ยับยั้งการอักเสบและอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อ มี 2 กลุ่มด้วยกันคือ

          - ยากลุ่มสเตียรอยด์ (Steroid)

          - ยาลดการอักเสบและลดปวดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS) ได้แก่ Diclofenac, Nappraxen, Piraxicam, Nidol, Aspirin, lndomethacin
    
          3. ยาแก้ปวดพาราเซตามอล เป็นยาที่ใช้ลดอาการไข้โดยการยับยั้งศูนย์ควบคุมอุณหภูมิความร้อน และบรรเทาอาการปวดทั่ว ๆ ไป

          อย่างไรก็ดี ยาในกลุ่มคลายกล้ามเนื้อที่มีขายในไทยจะประกอบไปด้วย Carisoprodol, Chlorzoxazone, Methocarbamol, Orphenadrine และ Tolperisone (Mydocalm) ซึ่งก็มักจะผลิตออกมาจำหน่ายในรูปยาผสม เช่น

          - Carisoprodol + Phenylbutazone (Alaxan)

          - Carisoprodol + Paracetamol

          - Chlorzoxazone + Paracetamol

          - Orphenadrine + Paracetamol (Norgesic) เป็นต้น

ยาคลายกล้ามเนื้อ

 ยาคลายกล้ามเนื้อ ชื่อนี้ มีตัวยาอะไรบ้าง

          ยาคลายกล้ามเนื้อที่น่าจะคุ้นชื่อคุ้นตากันดีต่อไปนี้ ลองมาดูกันค่ะว่า ตัวยาที่มีในยาคลายกล้ามเนื้อแต่ละชนิด มีอะไรบ้าง และช่วยบรรเทาตรงจุดไหน

 1. Norgesic

          เป็นยาเม็ดที่มีส่วนผสมของ Orphenadrine และ Paracetamol ใช้บรรเทาอาการปวดเนื่องจากภาวะกล้ามเนื้อลายตึงตัวมาก เกิดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ปวดข้อ หรือ ปวดระดู

          โดยปกติใช้รับประทานครั้งละ 2 เม็ด วันละ 3 ครั้ง หรือใช้ยาตามที่แพทย์สั่ง และผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปีควรได้รับขนาดยาที่ลดลง เนื่องจากอาจได้รับผลข้างเคียงจากยามากกว่าคนทั่วไป โดยควรเก็บรักษายานี้ที่อุณหภูมิ 15-30 องศาเซลเซียส เก็บในที่แห้ง พ้นจากแสงและความร้อน

ส่วนผลข้างเคียงที่ควรระวังเมื่อใช้ยา คือ

          - มีผื่นขึ้น คัน หรือลมพิษ

          - ใบหน้า ริมฝีปาก หรือลิ้นบวม

          - หายใจลำบาก ใจสั่น

          - มีไข้ เจ็บคอ

          - ประสาทหลอน สับสน การมองเห็นเปลี่ยนไป
 
          - ชีพจรเต้นเร็ว

          - มีเลือดออกหรือฟกช้ำโดยไม่ทราบสาเหตุ

          - บริเวณตาขาวหรือผิวหนังเปลี่ยนเป็นสีเหลือง

          - หน้ามืด เป็นลม หมดสติ อาเจียน

          - หากใช้ยานี้ติดต่อกันนาน ๆ อาจมีอาการมึนงง ง่วงซึม คลื่นไส้ ไม่สบายท้อง ซึ่งต้องแจ้งให้แพทย์ทราบโดยด่วน

สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยานี้

          - ประวัติการแพ้ยา orphenadrine citrate ยาพาราเซตามอลหรือยาอื่น ๆ รวมทั้งมีอาการแพ้น้ำตาลแลกโตส และอาหาร

          - ใช้หรือกำลังจะใช้ยาอื่น ๆ ทั้งยาที่แพทย์สั่งจ่ายและยาที่ใช้เอง รวมไปถึงวิตามิน อาหารเสริม และสมุนไพร

          - เป็นโรคต้อหิน โรคหัวใจ โรคไต โรคตับ โรคต่อมลูกหมาก โรคกระเพาะอาหาร หรือมีปัญหาในกระเพาะอาหาร หรือเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดร้าย (myasthenia gravis)

          - ตั้งครรภ์ วางแผนจะตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร

          - หากจะเข้ารับการผ่าตัดหรือการทำฟันควรแจ้งให้แพทย์ทราบว่าใช้ยานี้

          - ประวัติการดื่มแอลกอฮอล์

 2. Mydocalm (มายโดคาล์ม) ขนาด 50 มิลิกรัม

          หนึ่งในกลุ่มยาคลายกล้ามเนื้อชนิด Tolperisone ขนาด 50 มิลลิกรัม เป็นยาคลายกล้ามเนื้อที่ออกฤทธิ์ในระบบประสาทส่วนกลาง ดังนั้นจึงควรหลีกเลี่ยงการใช้ยานี้ร่วมกับยากลุ่ม NSAIDs และสำหรับคนที่เป็นโรคกระเพาะ โรคแผลในกระเพาะ หรือมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร ควรหลีกเลี่ยงการใช้มายโดคาล์ม

ยาคลายกล้ามเนื้อ

 3. Methocarbamol (เมโทคาร์บามอล)

          เมโทคาร์บามอล มีชื่อทางการค้าอื่น ๆ อีก เช่น โรแบกซิน (ROBAXIN), ไมโอมีทอล (MYOMETHOU) หรือรีแลกซอน (REZLAXON) เป็นต้น

          โดยยาคลายกล้ามเนื้อนี้มีตัวยา 500 มิลลิกรัมต่อเม็ด มีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดหลัง และเคล็ดขัดยอก ขนาดรับประทานครั้งละ 3-4 เม็ด วันละ 4 ครั้งใน 3 วันแรก และลดเหลือครั้งละ 2 เม็ด วันละ 4 ครั้ง ในวันที่ 4 ของการกินยา

          ทั้งนี้ผลข้างเคียงจากการกินยา อาจมีอาการตาพร่ามัว เห็นภาพซ้อน มึนงง ง่วงนอน และปวดศีรษะ หรือในบางราย (พบน้อยมาก) อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ มีผดผื่นคัน หรือภูมิแพ้

สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยานี้

        - เป็นโรคไตหรือลมชัก

        - กำลังกินยากันชัก ยาแก้ปวด ยานอนหลับ ยาแก้ซึมเศร้า หรือยากล่อมประสาท

        - ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างกินยานี้

        - ตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่างให้นมบุตร

        - อายุต่ำกว่า 12 ปี

 4. Carisoprodol

          นอกจากชื่อ Carisoprodol แล้ว ยาตัวนี้ยังอาจอยู่ในชื่ออื่น เช่น Muscelax, Somagin, Caritasone, Cariso-co, Cenpadol, Carisoma compound เป็นต้น

          ยานี้ใช้เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อและข้อ ที่เกิดจากการหดเกร็งของกล้ามเนื้ออย่างเฉียบพลัน โดยรับประทานครั้งละ 1-2 เม็ด วันละ 3-4 ครั้ง หรือใช้ยาตามขนาดแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด และห้ามใช้ยากับเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี เด็ดขาด

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา

        หากมีผดผื่นคัน เกิดลมพิษ หรือมีอาการบวมที่ใบหน้า ลิ้น และริมฝีปาก  ควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยทันที และหากใครมีอาการอ่อนแรง หน้ามืด เป็นลม ควรหยุดยาทันที และพบแพทย์โดยด่วน

สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยานี้

        - มีประวัติการแพ้ยาพาราเซตามอล, Carisoprodol,​ Meprobamate หรือยาอื่น ๆ รวมทั้งอาหาร

        - ใช้หรือกำลังจะใช้ยาอื่นนอกจากที่แพทย์สั่ง รวมไปถึงอาหารเสริมและสมุนไพรด้วย

        - ตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่าให้นมบุตร

        - เป็นโรคตับ โรคไต หรือโรคลมชัก

        - ติดยา หรือใช้ยาในทางที่ผิด

        - ดื่มแอลกอฮอล์

ยาคลายกล้ามเนื้อ

 5. Orphenadrine

          หรือในชื่อทางการค้าว่า Norflex เป็นยาเม็ดสำหรับใช้บรรเทาอาการปวด ตึง เคล็ดของกล้ามเนื้อ หรือรักษาอาการตะคริวที่ขาตอนกลางคืนได้ โดยรับประทานวันละ 2 ครั้ง หรือใช้ยานี้ตามแพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด ที่สำคัญยาตัวนี้อาจทำให้รู้สึกง่วงซึมได้ ดังนั้นจึงต้องใช้ยาอย่างระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ระหว่างใช้ยา Orphenadrine ด้วย

ผลข้างเคียงจากการใช้ยา

        หากมีอาการหัวใจเต้นเร็ว หมดสติ สับสน ประสาทหลอน มีผดผื่นคัน เกิดลมพิษ หรือมีอาการบวมที่ใบหน้า ลิ้น และริมฝีปาก  ควรแจ้งให้แพทย์ทราบโดยทันที และหากท่านมีอาการปากแห้ง ไม่สบายท้อง หรือถ่ายปัสสาวะลำบาก ควรหยุดยาทันทีและพบแพทย์โดยด่วน

สิ่งที่ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนการใช้ยานี้

          - มีประวัติการแพ้ยา โดยเฉพาะยา Orphenadrine

          - ใช้หรือกำลังจะใช้ยาอื่นนอกจากที่แพทย์สั่ง รวมไปถึงอาหารเสริมและสมุนไพรด้วย

          - ตั้งครรภ์ หรืออยู่ในระหว่าให้นมบุตร

          - เป็นโรคต้อหิน โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงชนิดร้าย (myasthenia gravis) โรคแผลในกระเพาะอาหาร แผลในทางเดินปัสสาวะ หรือทางเดนปัสสาวะอุดตัน ต่อมลูกหมากโต หัวใจเต้นผิดปกติ โรคตับ และโรคหัวใจ

          - หากกำลังจะเข้ารับการผ่าตัด หรือทำทันตกรรมใด ๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อน

ข้อบ่งใช้ยาคลายกล้ามเนื้อทั่วไป

          - ยากลุ่มนี้ไม่ใช่ยาหลัก แต่เป็นยาเสริม (Adjunct Therapy)

          - ใช้รักษาอาการปวดเฉียบพลัน ไม่ใช้บรรเทาอาการปวดเรื้อรัง

          - ใช้บรรเทาอาการเจ็บปวดของระบบกล้ามเนื้อและกระดูก เนื่องจากการหดเกร็งกล้ามเนื้อ

          - ควรใช้ยาคลายกล้ามเนื้อในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ไม่ควรใช้ยาต่อเนื่องนานเกินไป

          - ไม่มีการระบุใช้รักษาโรคข้อ เช่น โรคข้อเสื่อม ข้ออักเสบ หรือรูมาตอยด์

ยาคลายกล้ามเนื้อ

 ข้อควรระวังในการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ

          ต้องจำไว้อย่างหนึ่งว่า ยาคลายกล้ามเนื้อไม่ใช่ยารักษาโรค เพียงแต่สามารถบรรเทาอาการเจ็บปวดกล้ามเนื้อได้ในระยะเวลาไม่เกิน 2 อาทิตย์ และการใช้ยาควรต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น เนื่องจากยาคลายกล้ามเนื้อที่แพทย์นิยมสั่งจ่าย ไม่ว่าจะเป็นยา Alaxan Arcoxia Norgesic Eperisone หรือ Voltaren ถ้าไม่ใช่ยาเม็ดผสมระหว่างยาคลายกล้ามเนื้อกับยาพาราเซตามอล ก็อาจจะเป็นยาในกลุ่มคลายกล้ามเนื้อเหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องกินยาพาราเซตามอลเพื่อบรรเทาอาการปวดเพิ่มเข้าไปอีกขนาน
    
          หรือในบางกรณี การใช้ยาบรรเทาอาการปวดและอักเสบในกลุ่ม NSAIDs ร่วมด้วย ก็ไม่จำเป็นต้องใช้ยาในกลุ่มคลายกล้ามเนื้อเพิ่มเข้าไปอีก เพราะเป็นยาในกลุ่มที่ออกฤทธิ์ใกล้เคียงกัน ดังนั้นแม้จะเพิ่มโดสยาเข้าไป ก็ไม่ได้เพิ่มประสิทธิภาพในการบรรเทาปวดไปด้วย จะมีก็แต่ร่างกายจะได้รับตัวยาเกินความจำเป็นมากกว่า ที่สำคัญการใช้ยาในกลุ่ม NSAIDs ยิ่งต้องระวังมากเป็นพิเศษ เพราะยากลุ่มนี้มีฤทธิ์กัดกระเพาะ จึงไม่ควรใช้ยาติดต่อกันนานเกินไป

 ใครควรต้องเลี่ยงการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อ


          - ผู้ป่วยที่มีแผลเรื้อรังในกระเพาะอาการและลำไส้ หรือมีเลือดออกในระบบทางเดินอาหาร

          - ผู้เป็นโรคไตเรื้อรัง

          - เด็ก

          - ผู้สูงอายุ

          - ผู้ป่วยจิตเภท

          - หญิงตั้งครรภ์

          - หญิงที่ให้นมบุตร

 ผลข้างเคียงของยาคลายกล้ามเนื้อ
          อาจมีอาการมึนงง วิงเวียน และตาพร่ามัว โดยพบมากกว่า 10% ของผู้บริโภคยา หรืออาจมีผลข้างเคียงที่ไปกระตุ้นภาวะโลหิตจางจากไขกระดูกทำงานลดลง
          นอกจากนี้ยาคลายกล้ามเนื้อยังอาจมีปฏิกิรยาในทางลบกับยาบางชนิด เช่น หากใช้ยาร่วมกับยา Haloperridol (ยาทางจิตเวช) อาจทำให้อาการจิตเภทแย่ลง หรือให้ยาคลายกล้ามเนื้อร่วมกับยา Diazepam เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ยาแก้ปวด Tramadol อาจทำให้อาการข้างเคียงมีโอกาสเกิดได้มากขึ้น

ยา

 เราจำเป็นต้องใช้ยาคลายกล้ามเนื้อไหม

          จริง ๆ แล้วอาการปวดเมื่อยที่เกิดขึ้นสามารถหายไปได้เองจากการประคบ นวด หรือทำกายภาพบำบัดด้วยตัวเองที่บ้าน ดังนั้นการใช้ยาคลายกล้ามเนื้อจึงแทบไม่จำเป็นกับการบรรเทาอาการปวดเมื่อยเลย โดยเฉพาะหากทราบต้นสายปลายเหตุของอาการปวดเมื่อยของตัวเองแล้ว เช่น ปวดเมื่อยเพราะนั่งท่าเดิมนาน ๆ หรือปวดเมื่อยเพราะฝืนใช้กล้ามเนื้ออย่างหนัก หรือปวดเมื่อยเนื่องจากอาการเกร็ง เป็นต้น อย่างนี้เพียงแค่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เป็นอยู่ก็พอ และหากปวดเมื่อยแล้วก็ไม่ควรพักผ่อนนานเกิน 48 ชั่วโมงด้วย เนื่องจากอาจทำให้มีโอกาสปวดเรื้อรังมากขึ้น
       
          อย่างไรก็ดี อย่างที่เตือนกันไปว่ายาคลายกล้ามเนื้อควรต้องใช้ภายใต้การดูแลของแพทย์เท่านั้น ไม่ควรซื้อยามากินเองหรือบรรเทาอาการปวดด้วยยาพร่ำเพรื่อเกินไป แต่หากต้องการใช้ยาเพื่อบรรเทาอาการปวดให้หายเร็วขึ้น อาจใช้ยาพาราเซตามอลบรรเทาอาการปวดในเบื้องต้นก็ได้ และหากอาการปวดเมื่อยไม่บรรเทาลงเลยภายใน 2 สัปดาห์หลังการกินยา เคสนี้ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วนนะคะ

          อ้อ ! อย่าลืมปรับเปลี่ยนอิริยาบถและไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ที่เป็นสาเหตุให้เกิดอาการปวดเมื่อยด้วยล่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, ,
น.พ. สันต์ ใจยอดศิลป์
หน่วยคลังข้อมูลยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล