10 สัญญาณเช็กอาการไขมันพอกตับ พร้อมเคล็ดลับป้องกันไขมันเกาะตับ

ภาวะไขมันพอกตับ ที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน ลองมาเช็กอาการที่พอจะสังเกตได้ว่าเรามีไขมันเกาะตับ พร้อมวิธีป้องกันไขมันพอกตับด้วยตัวเอง

          ตับเป็นอวัยวะที่สำคัญและมีบทบาทสูงมากในการรักษาชีวิตให้เป็นปกติ กล่าวคือตับจะคอยทำหน้าที่คัดกรองสารต่าง ๆ ในร่างกาย และปรับสภาพให้เหมาะสมสำหรับการใช้งานในแต่ละอวัยวะ รวมทั้งเป็นแหล่งเก็บสะสมพลังงานสำรองของร่างกายด้วย ซึ่งหากอวัยวะเช่นตับมีความผิดปกติไป ก็แน่นอนค่ะว่าคงส่งผลร้ายต่อร่างกายเราแน่ ๆ

          อย่างภาวะไขมันพอกตับนี่ก็เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันพบได้บ่อยในเกือบจะทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะในคนอ้วน เป็นเบาหวาน และความดันโลหิตสูง คนที่ดื่มสุราเป็นประจำ ผู้ที่เป็นโรคไวรัสตับอักเสบบี ซี หรือจากภูมิแพ้ กลุ่มคนที่ได้รับยาบางอย่าง เช่น ยาสเตียรอยด์ ยาต้านการอักเสบ หรือยาลดไขมันในเลือด เป็นต้น รวมไปถึงในกลุ่มคนที่ขาดสารอาหารก็มีภาวะเสี่ยงต่อการเกิดไขมันพอกตับ เนื่องจากตับถูกยับยั้งการทำงานเพราะยาที่กินบ้าง หรือในกลุ่มคนที่ขาดอาหารหรือดื่มสุรา ไขมันจากเนื้อเยื่อก็จะถ่ายโอนมาเก็บไว้ที่ตับเพื่อใช้เป็นพลังงาน ซึ่งหากตับแปรรูปไขมันที่ถูกส่งมาไม่ทัน ก็จะเกิดการสะสมไขมันขึ้นมาในตับ กลายเป็นภาวะไขมันพอกตับในที่สุด

          อ่านมาถึงตรงนี้ก็ชักเสียวสันหลังอยู่หน่อย ๆ ว่าเราอาจจะตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีไขมันพอกตับ งั้นมาเช็กกันค่ะว่า ไขมันเกาะตับ อาการเป็นอย่างไรบ้าง

ไขมันพอกตับ

ไขมันพอกตับ อาการเป็นอย่างไร

          ภาวะไขมันเกาะตับร้ายมาก ๆ ค่ะ ที่ต้องบอกว่าร้ายเพราะอาการของภาวะนี้ไม่ค่อยแสดงออกอย่างชัดเจน มีการดำเนินโรคยาวนานเป็นสิบปี จะตรวจพบว่ามีไขมันพอกตับก็ต่อเมื่อไปตรวจสุขภาพ เจาะเลือดแล้วพบค่าเอนไซม์ตับผิดปกติไป ทว่าถึงกระนั้นผู้ป่วยภาวะไขมันพอกตับอาจมีอาการไม่จำเพาะดังต่อไปนี้ให้พอเอะใจได้อยู่บ้าง

          1. อ่อนเพลียง่าย

          2. เบื่ออาหาร

          3. ปวดแน่นบริเวณใต้ชายโครงขวา

          4. ท้องอืด ท้องเฟ้อ

          5. ท้องผูกหรือท้องเสียเป็นประจำ

          6. คลื่นไส้ อาเจียน

          7. น้ำหนักตัวลดอย่างรวดเร็ว

          8. สีผิวบริเวณท้ายทอย รักแร้ และข้อพับดำคล้ำ หรือมีสีผิวไม่สม่ำเสมอ

          9. ตัวเหลือง ตาเหลือง คล้ายอาการดีซ่าน

          10. ในรายที่มีไขมันพอกตับเนื่องจากฤทธิ์ของสุรา อาจสังเกตตัวเองได้ว่าหลังจากดื่มสุราไปสักพัก จะเกิดอาการไม่สบายกาย เช่น ปวดท้องบริเวณใต้ชายโครงขวาหนักมาก คลื่นไส้ อาเจียน อึดอัด แน่นท้อง ซึ่งหากเกิดอาการแบบนี้ทุกครั้งที่ดื่มแอลกอฮอล์ ก็พอจะเดาได้ว่าอาจเสี่ยงภาวะไขมันพอกตับเกือบจะ 100%

          อย่างไรก็ดี เราสามารถป้องกันภาวะไขมันพอกตับได้ด้วยตัวเราเองนะคะ โดยวิธีดังต่อไปนี้เลย
วิธีป้องกันไขมันพอกตับ

          1. รับประทานอาหารทุกมื้อ ไม่อดมื้อใดมื้อหนึ่ง โดยเน้นหลัก หนักเช้า เบาเที่ยง เลี่ยงเย็น คือกินมื้อเย็นให้น้อยกว่ามื้ออื่น ๆ

          2. ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ไม่อ้วนจนเกินไป

ไขมันพอกตับ

          3. หากอ้วนควรลดน้ำหนักอย่างถูกวิธี โดยลดน้ำหนักลงประมาณ 1-2 กิโลกรัมต่อเดือน

          4. พยายามหลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง เช่น น้ำหวาน น้ำอัดลม น้ำผลไม้บรรจุกล่อง

          5. ลดการบริโภคไขมันอิ่มตัว เช่น ไขมันจากสัตว์ เนย กะทิ น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม

          6. ลดพฤติกรรมกินจุบกินจิบ โดยเฉพาะพวกขนมขบเคี้ยว

          7. หลีกเลี่ยงการกินอาหารเค็มจัด มันจัด เปรี้ยวจัด หรือหวานจัด แต่ควรกินอาหารรสชาติกลาง ๆ

          8. กินผัก-ผลไม้ให้มากขึ้น

ไขมันพอกตับ

          9. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยวัละ 30 นาที

          10. พยายามไม่ดื่มสุราหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด รวมทั้งบุหรี่ด้วย

          11. หลีกเลี่ยงการใช้ยาโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะอาหารเสริม

ไขมันพอกตับ

          12. สำหรับคนอ้วน โดยเฉพาะอ้วนลงพุง ควรรักษาระดับน้ำตาลและไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติมากที่สุด กล่าวคือ ระดับน้ำตาลในเลือดควรน้อยกว่า 120 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร และระดับไขมันไตรกลีเซอไรด์ควรน้อยกว่า 160 มิลลิกรัม/มิลลิลิตร

          13. ตรวจเลือดเป็นประจำ อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะผู้ที่มีอายุเกิน 35 ปี

          14. นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ อย่างน้อยต้องหลับให้ได้ 5-6 ชั่วโมงต่อวัน

          อย่างที่บอกว่าภาวะไขมันพอกตับเป็นภัยเงียบ มักไม่แสดงอาการกระโตกกระตากให้เราได้ทราบล่วงหน้าก่อน ดังนั้นการป้องกันโรคนี้ที่ดีที่สุดคือพยายามดูแลสุขภาพร่างกายของตัวเองให้ดี หากอ้วนก็ลดน้ำหนักให้สำเร็จ เลิกเหล้า เลิกบุหรี่ รวมถึงหมั่นตรวจสุขภาพประจำปีด้วยก็ดีค่ะ

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
, คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ , คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, โรงพยาบาลลำปาง, webmd, healthline, mayoclinic