เหล่าทาสเหมียวต้องระวังอย่าให้แมวติดเชื้อรา เพราะเชื้อราแมวติดคนได้นะคะ และเป็นแล้วจะมีผื่นแดงคันที่ผิวหนัง ทั้งยังอาจทิ้งรอยแผลไว้นานอีกต่างหาก
แมวเป็นสัตว์เลี้ยงขนปุยสุดน่ารัก จนบางคนยอมตกเป็นทาสเจ้าเหมียวอย่างหมดใจ หรือคนที่เลี้ยงไม่ได้ก็ไปเที่ยวคาเฟ่แมวอยู่บ่อย ๆ แต่ถึงน้องแมวจะน่ารักน่าฟัด ก็อยากเตือนให้เหล่าทาสดูแลแมวให้ดี ๆ เพราะหากแมวเป็นเชื้อราขึ้นมา เชื้อราแมวก็สามารถติดต่อสู่คนได้ ก่อให้เกิดอาการคัน เป็นโรคผิวหนังที่อยากให้ระวังกันมาก ๆ
เชื้อราแมวเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่งของแมว โดยเกิดจากเชื้อ Microsporum canis ซึ่งเป็นเชื้อราชนิดที่พบอัตราก่อโรคในแมวได้บ่อยกว่าเชื้อชนิดอื่น
จะสังเกตได้จากแมวมีอาการคัน ขนร่วงเป็นหย่อม ๆ มีผื่นแห้ง ๆ สีเทา
เป็นสะเก็ด หรือมีตุ่มเล็ก ๆ อยู่บนผิว
ส่วนสาเหตุที่ทำให้แมวติดเชื้อรา
อาจจะเกิดจากเชื้อราที่อยู่ตามสภาพแวดล้อมทั่วไป โดยเฉพาะในที่อับชื้น
ไปติดกับขนแมว ซึ่งหากแมวมีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง อย่างเป็นลูกแมว
หรือเป็นแมวที่ไม่ได้รับน้ำนมจากแม่แมว รวมไปถึงแมวป่วย
ก็มีความเสี่ยงจะถูกเชื้อราตัวนี้ก่อโรคผิวหนังได้ ทว่าหากแมวสุขภาพแข็งแรงดี เชื้อราชนิดนี้ก็จะติดกับผิวหนังหรือขนแมวเฉย ๆ โดยไม่ก่อโรคใด ๆ
1. ผู้มีภูมิคุ้มกันไม่แข็งแรง หรือป่วยด้วยโรคที่ทำให้ภูมิคุ้มกันบกพร่อง
2. เด็ก
3. ผู้สูงอายุ
อาการของคนที่ติดเชื้อราแมว สังเกตได้ ดังนี้
1. มีผื่นแดงขึ้นตามผิวหนัง ลักษณะเป็นวง มีขุยรอบ ๆ และรอยแดงจะขยายไปข้างนอกเรื่อย ๆ โดยเป็นผื่นที่มีขอบเขตชัดเจน
2. คันตลอดเวลา
3. อาการจะยิ่งลุกลามเมื่อเกา เพราะเชื้อราอาจติดที่นิ้วและเล็บ ซึ่งเวลาเล็บที่มีเชื้อไปสัมผัสผิวบริเวณอื่นก็อาจจะติดเชื้อราไปด้วย
4. หากไม่ได้รับการรักษา เชื้อราอาจลามไปทั้งตัว และผื่นแดงอาจจะทิ้งรอยดำ ต้องใช้เวลาในการรักษากว่าจะกลับมาเป็นปกติ
อย่างไรก็ตาม โรคเชื้อราแมวไม่ได้อันตรายเท่าไร เพราะจัดเป็นโรคผิวหนังที่สามารถรักษาให้หายได้ เพียงแต่อาจจะทิ้งรอยแผลไว้บนผิวเรานานประมาณ 2-3 เดือนเท่านั้น และสามารถกลับมาเป็นซ้ำได้ด้วย
วิธีรักษาเชื้อราแมวที่ติดต่อมายังคน สามารถรักษาได้ตามนี้เลย
* ใช้ยาทาฆ่าเชื้อรา
สำหรับคนที่มีอาการเล็กน้อย มีผื่นแดง 1-2 จุด แพทย์จะรักษาโดยให้ทายาฆ่าเชื้อราต่อเนื่องประมาณ 3 สัปดาห์ จนกว่าผื่นจะค่อย ๆ หายไป
* ใช้ยาทาร่วมกับยารับประทาน
ในคนที่มีอาการมาก ผื่นลามไปหลายจุดในร่างกาย แพทย์จะให้ทั้งยาทาฆ่าเชื้อรา และยากินเพื่อต้านเชื้อรา ซึ่งอาจใช้เวลาในการรักษาตั้งแต่ 3 สัปดาห์ขึ้นไป
ทั้งนี้ หากติดเชื้อราจากแมวก็ควรพาแมวไปรักษากับสัตวแพทย์ด้วย และช่วงระหว่างการรักษา ควรแยกแมวไว้อีกห้องและทำความสะอาดบริเวณบ้านเพื่อกำจัดเชื้อให้หมดไป
ที่อยากให้ทาสแมวปฏิบัติอย่างเคร่งครัด
ถ้าไม่อยากติดเชื้อราแมวจนมีอาการป่วย เหล่าทาสแมวควรป้องกันตัวเอง ดังนี้
1. รักษาสุขอนามัยของตัวเองให้สะอาดอยู่เสมอ
2. ดูแลสุขภาพตัวเองให้แข็งแรง
3. ล้างมือทุกครั้งที่สัมผัสแมว
4. หมั่นตรวจสุขภาพน้องแมวเป็นประจำ
5. ไม่คลุกคลีกับสัตว์เลี้ยงมากจนเกินไป
6. อาบน้ำแมวเป็นประจำ แล้วเป่าขนให้แห้ง เพื่อไม่ให้อับชื้น
7. หมั่นทำความสะอาดบ้าน และสิ่งของในบ้าน โดยเฉพาะของเล่นแมว รวมทั้งพื้นที่ที่แมวอยู่
วัคซีนป้องกันเชื้อราแมวมีชื่อทางการค้าว่า Biocan M โดยเป็นวัคซีนที่ป้องกันได้เฉพาะเชื้อราชนิด Microsporum canis ที่เกิดในสุนัขและแมวเท่านั้น สามารถฉีดได้เมื่อสุนัขและแมวอายุ 2 เดือนขึ้นไป และหลังฉีดวัคซีนหลักครบหมดแล้ว ควรฉีดกระตุ้นซ้ำอีก 3 เข็ม หลังจากนั้นควรฉีดกระตุ้นทุก 1 ปี
อย่างไรก็ตาม วัคซีนเชื้อราแมวจะป้องกันการติดเชื้อราในสัตว์เลี้ยงเท่านั้น ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อราแมวในคนนะคะ ซึ่งหมายความว่า เราอาจจะยังติดเชื้อราแมวจากน้องเหมียวได้ แม้แมวจะไม่แสดงอาการป่วยเลยก็ตาม ดังนั้นจึงอยากย้ำว่าควรหมั่นดูแลทำความสะอาดขนของสัตว์เลี้ยง อาบน้ำเป่าขนให้แห้ง และหากสัตว์เลี้ยงมีผื่น ขุย หรือขนร่วง ควรรีบพาไปพบสัตวแพทย์โดยด่วน
ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่แมวเท่านั้นที่ควรระมัดระวังเชื้อราชนิด Microsporum canis เพราะจริง ๆ แล้วในสุนัข กระต่าย หนูแฮมสเตอร์ และสัตว์ขนยาวชนิดอื่น ๆ ก็สามารถติดเชื้อราตัวนี้ได้ ดังนั้นใครเลี้ยงสัตว์เหล่านี้อยู่ก็ควรต้องระวังด้วยนะคะ
และนอกจากเชื้อราแมวแล้ว เหล่าทาสแมวควรต้องระวังโรคจากสัตว์เลี้ยงอื่น ๆ ด้วย โดยเฉพาะหากโดนแมวกัดหรือข่วน
ขอบคุณข้อมูลจาก
รามา แชนแนล
Thai PBS
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช