บรรเทาอาการผู้ป่วย "โควิด-19" ที่หายใจลำบากด้วยวิธี "นอนคว่ำ"

 


ผศ.(พิเศษ) พญ.ณับผลิกา กองพลพรหม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ระบุว่า การบรรเทาอาการของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ด้วยการนอนคว่ำ ใช้กับผู้ป่วยกลุ่มอาการหายใจลำบากเฉียบพลัน หรือ ARDS เช่น โรคปอดอักเสบ โรคไข้หวัดใหญ่ และโรคโควิด-19 โดยจำแนกผู้ป่วยออกเป็น 2 ระยะ

ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่ยังสามารถหายใจได้ด้วยตัวเอง

เป็นผู้ป่วยที่มีภาวะออกซิเจนต่ำ ใช้ออกซิเจนในอัตราไหลสูง หรือใช้เครื่องช่วยหายใจที่ยังไม่ถึงขั้นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ แพทย์จะรักษาโดยให้ผู้ป่วยนอนคว่ำหน้าท่า Awakening Prone เป็นเวลา 30 นาทีถึง 2 ชั่วโมง

ประโยชน์ต่อผู้ป่วย

  • เนื้อปอดส่วนหลังที่ถูกหัวใจกดทับขยายได้ดีขึ้น
  • ความยืดหยุ่นของปอด หรือการขยายตัวของถุงลมปอดแต่ละส่วนดีกว่าการนอนหงาย
  • การแลกเปลี่ยนแก๊สของปอดดีขึ้น
  • การระบายเสมหะดีขึ้น

ผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีภาวะหายใจล้มเหลว

เป็นผู้ป่วยกลุ่มที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจระดับสูง หรือผู้ป่วยไม่มีการตอบสนองที่ดีเมื่อใช้เครื่องช่วยหายใจด้วยวิธีมาตรฐาน จำเป็นต้องให้ผู้ป่วยนอนคว่ำ รวมถึงต้องให้ยาระงับความรู้สึก เพื่อให้ผู้ป่วยนอนคว่ำได้เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 16 ชั่วโมง

ประโยชน์ต่อผู้ป่วย

  • ช่วยลดการบาดเจ็บหรืออักเสบของปอดจากการใช้เครื่องช่วยหายใจ
  • ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการแลกเปลี่ยนแก๊สของปอด
  • เป็นการรักษาเพื่อประคับประคองรอให้ปอดฟื้นตัวดีขึ้น

ข้อควรรู้

  • การนอนคว่ำเป็นการรักษาแบบประคับประคองเท่านั้น ไม่ใช่การรักษาให้หายขาดแต่อย่างใด
  • การรักษาผู้ป่วยกลุ่ม ARDS ด้วยการนอนคว่ำ ต้องใช้เจ้าหน้าที่อย่างน้อย 5 คน ในการปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ เช่น การพลิกตัว การตรวจสอบอุปกรณ์ และการตรวจสอบความดันโลหิต

ขอขอบคุณ

ข้อมูล :ผศ.(พิเศษ) พญ.ณับผลิกา กองพลพรหม โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

ภาพ :iStock