Home »
เรื่องน่ารู้
»
ของมันต้องมี! “รางจืด-ราชาแห่งการถอนพิษ” สมุนไพรที่ทุกบ้านควรปลูก!!
ของมันต้องมี! “รางจืด-ราชาแห่งการถอนพิษ” สมุนไพรที่ทุกบ้านควรปลูก!!
“ราชาแห่งการถอนพิษ” หรือ “รางจืด”
เป็นพืชสมุนไพรที่ขึ้นชื่อในด้านการถอนพิษ คนโบราณนิยมนำมาแก้พิษ ถอนพิษ
จากสัตว์ และยังสามารถขจัดพิษชนิดต่างๆ ทั้งจากพืซ
และสารเคมีได้อย่างมีประสิทธิภาพอีกด้วย
ลักษะของต้นรางจืด
ลำต้น จะเลื้อยพาดพันไปตามต้นไม้หรือเสารั้ว
ขนาดเถาส่วนโคน 0.8-1.5 เซนติเมตร และค่อยๆลดขนาดลงตามความยาวของเถา
ส่วนความยาวจะยาวได้มากกว่า 10 เมตร เถามีลักษณะค่อนข้างกลม
และเป็นข้อปล้อง เถาส่วนโคนมีสีเขียวอมน้ำตาล
เถาอ่อนหรือเถาส่วนปลายมีสีเขียวเข้ม มีขนปกคลุม เนื้อไม้เป็นไม้เนื้ออ่อน
หักง่าย แต่ค่อนข้างเหนียว แก่นในสุดเป็นเยื่ออ่อนเป็นวงกลม
ใบ ออกเป็นคู่ๆ ซ้าย-ขวา ตามข้อของเถา ก้านยาว 2-4
เซนติเมตร รูปหัวใจแหลม โคนมน ปลายแหลม และมีติ่งแหลมที่ส่วนปลาย กว้าง 4-8
เซนติเมตร ยาว 5-20 เซนติเมตร ใบใหญ่จะอยู่โคนก้าน
และค่อยๆลดขนาดลงตามความยาวของเถา ตัวใบจะมีแผ่นใบ และขอบเรียบ
ด้านบนมีสีเข้มกว่าด้านล่างมีขน มีเส้นใบมี 3 เส้น เป็นร่องตื้น
ยาวจากโคนใบมาปลายใบ 2 เส้น และอีก 1 เส้นใบอยู่กลางใบ
ยาวจากโคนใบจนถึงปลายสุดของใบ
ดอก ออกเป็นช่อ ตามข้อบริเวณซอกใบ ประกอบด้วยกลีบดอก 5
กลีบ สีม่วงอ่อน มีโคนกลีบดอกเชื่อมติดกันเป็นหลอดยาว คล้ายรูปแตร
ปลายกลีบแยกเป็นแฉกออกเป็นรูปจาน เมื่อดอกบานจะมีขนาด 5-10 เซนติเมตร
ภายในดอกมีเกสรตัวผู้ 5 อัน โดยรางจืดจะออกดอกในช่วงเดือนพฤศจิกายน-มกราคม
ผล ออกเป็นฝัก จะเริ่มติดฝักให้ผลหลังจากที่ดอกร่วงไป
ทรงกลมเป็นหลอด กว้าง 1-1.5 เซนติเมตร ยาว 4-5 เซนติเมตร ปลายฝักแหลม
และโค้งเล็กน้อยเป็นจะงอยคล้ายปลายปากนก ฝักอ่อนมีสีเขียว
เมื่อแก่มีสีน้ำตาลอมดำ เมื่อแก่ และแห้งเต็มที่จะปริแตกออกเป็น 2 ซีก
มีเมล็ดด้านในสีน้ำตาล
ขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด ขึ้นได้ทุกสภาพดิน ความชื้นปานกลาง แสงแดดเต็มวัน
สรรพคุณของรางจืด
– รากและเถาของรางจืดสามารถใช้รับประทานเป็นยาแก้ร้อนใน (ราก, เถา)
– รางจืดมีสรรพคุณช่วยแก้อาการกระหายน้ำ (ราก, เถา)
– ใบและรากของรางจืดมีสรรพคุณใช้ปรุงเป็นยาถอนพิษไข้ได้ (ใบ, ราก)
– ใบรางจืดมีสรรพคุณใช้เป็นยาพอกบาดแผล (ใบ, ราก)
– ช่วยรักษาแผลไฟไหม้ น้ำร้อนลวก (ใบ, ราก)
– ว่านรางจืดมีสรรพคุณช่วยบรรเทาอาการผื่นแพ้ต่าง ๆ (ใบ, ราก)
ประโยชน์ของรางจืด
– สมุนไพรรางจืด สมุนไพรที่มีความปลอดภัยสูงมากชนิดหนึ่ง
ซึ่งเราสามารถกินยอดอ่อน ดอกอ่อนเป็นผักได้ โดยจะใช้ลวกกิน แกงกิน
ก็ทำได้เหมือนกับผักพื้นบ้านทั่วๆ ไป
นอกจากนี้ยังนิยมกินน้ำหวานจากดอกรางจืดที่บ้านได้อีกด้วย
โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายใดๆ แต่ถ้ากินติดต่อกันอย่างต่อเนื่อง
อาจจะต้องคอยติดตามการเปลี่ยนแปลงของโลหิตวิทยาหรือเคมีคลินิกด้วย
– ชารางจืด ใบรางจืดสามารถนำมาหั่นเป็นฝอย
ตากลมให้แห้งแล้วนำมาชงกับน้ำร้อนดื่มแทนชาได้
ส่วนรสชาติที่ได้ก็ดีไม่แพ้กับใบชาเลยที่เดียว แถมยังมีกลิ่นหอมอีก
และยังช่วยล้างพิษในร่างกายได้อีกด้วย
– ในปัจจุบันได้มีการนำสมุนไพรรางจืดมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ แคปซูลรางจืดหรือรางจืดแคปซูล เพื่อความสะดวกและง่ายต่อการใช้ประโยชน์
– การปลูกรางจืดนอกจากจะใช้ประโยชน์ในด้านสมุนไพรแล้ว
ก็ยังนิยมปลูกไว้เพื่อชมดอก
แล้วก็ยังสามารถช่วยบังแสงแดดทำให้เกิดร่มเงาได้อีกด้วย
(แต่อย่าลืมว่ารางจืดเป็นไม้เลื้อย เลื้อยแหลก เลื้อยจนรก
เลื้อยแบบไร้การควบคุม)
แหล่งอ้างอิง :
เว็บไซต์สำนักงานโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี, เว็บไซต์หมอชาวบ้าน
(ภกญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร), สำนักงานข้อมูลสมุนไพร คณะเภสัชศาสตร์
มหาวิทยาลัยมหิดล