ดอกคำฝอย สมุนไพรปกป้องหัวใจ ลดไขมันในเลือด

เราเคยได้ยินชื่อ ดอกคำฝอย ในนามเครื่องดื่ม แต่รู้กันหรือเปล่าว่า ชาดอกคำฝอยที่นิยมดื่มเพื่อสุขภาพกันนั้น มีสรรพคุณมากน้อยแค่ไหน ภก.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระอภัยภูเบศร ได้เขียนบอกเล่าถึงประโยชน์เจ๋ง ๆ จาก "ดอกคำฝอย" ลงไว้ในนิตยสาร Happy+  ตามมาอ่านกันค่ะ

          คำฝอย มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Carthamus tinctorius L. อยู่ในวงศ์ COMPOSITAE หรือชื่ออื่น ๆ เช่น คำ คำยอง ดอกคำ หมอกหนวดเสือ เป็นไม้ล้มลุก ลำต้นเป็นสัน ใบเดี่ยว เรียงสลับ ขอบใบจักฟันเลื่อย ดอกเป็นกระจุก สีเหลืองแล้วเปลี่ยนเป็นสีส้มอมแดง เป็นสมุนไพรที่มีถิ่นกำเนิดอยู่ในแถบเมดิเตอร์เรเนียน เป็นพืชที่ให้สีสำหรับการแต่งสีอาหารได้อย่างปลอดภัย ใช้ได้ทั้งอาหารและยา


          สรรพคุณทางยาจะดีต่อผู้หญิง เกี่ยวกับการบำรุงหัวใจและสุขภาพทั่วไป ปัจจุบันมีการปลูกคำฝอยในหลายประเทศ เช่น อเมริกา จีน อินเดีย เวียดนาม พม่า เพื่อเป็นสินค้าส่งออก คำฝอยเป็นสมุนไพรที่มีราคาแพงากชนิดหนึ่ง โดยส่วนของเกสรนิยมนำมาชงชา และส่วนน้ำมันจากเมล็ดคำฝอยนำมาใช้ประโยชน์ในการรักษาโรคไขมันในเลือดสูงได้

          คำฝอย หรือดอกคำ เป็นส่วนประกอบของยาไทยมานาน มีชื่อดอกคำปรากฏในคัมภีร์มหาโชติรัตน์ ซึ่งเกี่ยวกับโลหิตสตรี คัมภีร์ชวดารเกี่ยวกับลม และคัมภีร์มุจฉาปักขันทิกาเกี่ยวกับปัสสาวะและตกขาว เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่หมอยาไทยว่า คำฝอยเป็นยาบำรุงเลือดของผู้หญิงที่ดีมาก ดอกคำฝอยมีรสหวาน อุ่น ออกฤทธิ์ทางเลือดที่หัวใจและตับ รวมทั้งระบบประจำเดือนของผู้หญิง จึงช่วยบำรุงโลหิต ฟอกเลือด บำรุงประจำเดือนช่วยให้ประจำเดือนมาเป็นปกติ ทำให้การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น และช่วยกระจายการอุดตันของเลือด ลดอาการปวดประจำเดือน ขับน้ำคาวปลาหลังคลอด แก้อาการจุกแน่นบริเวณท้องน้อย เมื่อมีปัญหาประจำเดือนมาผิดกติปวดประจำเดือน ควรดื่มชาดอกคำฝอยจะช่วยอาการเหล่านี้ได้ดี


ดอกคำฝอย

          หมอยาไทใหญ่เชื่อว่า ผักแอ่งแอ หรือคำฝอย มีสรรพคุณรักษาหัวใจ โดยการนำดอกคำฝอยมาต้มกินบำรุงหัวใจ ใช้แทนยาแผนปัจจุบันได้ และสามารถนำมาประกอบอาหารบำรุงสุขภาพ โดยนำต้นอ่อนของผักแอ่งแอมาต้มใส่หมอ ไก่ เนื้อ หรือทำเป็นน้ำซุปกิน จะช่วยให้แข็งแรง คนพม่าและคนจีนก็นิยมทานน้ำซุปดอกคำฝอยเช่นกัน คนไทใหญ่ปลูกดอกตำฝอยไว้เป็นทั้งยาและอาหาร

          การใช้ดอกคำฝอยเป็นยาบำรุงหัวใจนี้ ชาวจีนมีความเชี่ยวชาญมาก โดยมีการศึกษาพบฤทธิ์ทางเภสัชวิทยาที่สนับสนุนการใช้ดอกคำฝอยรักษาโรคหัวใจ เช่น มีผลทำให้เลือดไปเลี้ยงหัวใจมากขึ้น ต้านการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ ต้านการเต้นผิดจังหวะของหัวใจ ต้านการขาดเลือดของหัวใจ ป้องกันสภาวะเส้นเลือดหัวใจตีบแคบลง ยังมีฤทธิ์ลดความดันโลหิต ฤทธิ์ลดการอักเสบ ลดไขมันในเลือด ดอกคำฝอยจึงมีสรรพคุณลดความเสี่ยงในการเป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะการใช้น้ำมันดอกคำฝอย

          หมอยาพื้นบ้านยังเชื่ออีกว่า ดอกคำฝอยสามารถบำรุงคนที่ตับไม่ดี เป็นดีซ่าน ตัวเหลืองคนที่มีอาการตัวบวม ไตไม่ดี ให้นำดอกคำฝอยมาต้มกิน นอกจากนี้ยังช่วยบำรุงน้ำเหลืองให้เป็นปกติ ใช้ได้กับคนที่แสนร้อน คันตามตัว บำรุงประสาท เป็นยาระบาย ขับเหงื่อ แก้ดีพิการ

          สำหรับการใช้ดอกคำฝอยของหมอยาพื้นบ้าน และในการแพทย์แผนไทย ดังปรากฏในคัมภีร์ที่เกี่ยวกับโลหิตสตรี เกี่ยวกับเลือดลมเกี่ยวกับปัสสาวะและดูตกขาวนั้น เป็นสิ่งที่น่าอัศจรรย์อย่างยิ่ง เพราะมีข้อมูลการศึกษาพบว่าดอกคำฝอยมีฤทธิ์ป้องกันตับ บำรุงประสาท รวมทั้งลดการเสื่อมและการบาดเจ็บของไต ต้านการอักเสบ แก้ปวด เป็นประโยชน์ต่อการสร้างเนื้อกระดูก เพิ่มภูมิคุ้มกัน ซึ่งเป็นการยืนยันประโยชน์ของดอกคำฝอยที่ใช้มาแต่โบราณได้เป็นอย่างดี

ดอกคำฝอย

ยาบำรุงหัวใจ

          ใช้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคหัวใจ หรือความดันโลหิตสูง และไขมันในเส้นเลือดสูง โดยชงชาดอกคำฝอย 1 ช้อนชา ต่อน้ำร้อน 1 แก้ว ชงดื่มวันละ 1-2 ครั้ง
หรือใช้เกสรดอกบัว ดอกคำฝอย โดยลาน ข้าวเย็นเหนือ ข้าวเย็นได้ ต้นกระถิน น้ำหนักอย่างละ 1 บาท มาต้มน้ำดื่ม

ยาลดไขมัน บำรุงโลหิต บำรุงหัวใจ บำรุงประสาท ขับเหงื่อ

          ใช้ดอกคำฝอยประมาณ 1 กำมือ ผสมดอกเก๊กฮวยประมาณ 10  ดอก ใส่น้ำประมาณ 500 ซีซี ต้มประมาณ 30 นาที แล้วนำมาดื่มแทนน้ำชา วันละ 2-3 ครั้ง ครั้งละ 1 แก้ว

ยาแก้ฝีในท้อง

          ใช้เถาวัลย์เปรียง 5 ตำลึง ทองพันชั่ง 5 ตำลึง เถาคันแดง 5 ตำลึง ฝางเสน 5 ตำลึง ครั่งดิบ 10 บาท เกลือไทย 10 บาท สารส้ม 5 บาท และดอกคำฝอย 5 บาท นำมาต้มให้เดือดแล้วดื่ม

ยาแก้ประจำเดือนผิดปกติ
         
          ใช้ฝางเสน แกแล ดอกคำฝอย หญ้าไช ผักเป็ดแดง ใบไผ่ตาก ตาไม่ตาก รากไผ่ตาก ทั้งหมด 1 กำมือ ตามด้วย ตาไม้ไผ่สีสุก 7 ตา เติมรากมะดันและรากมะขาม นำทั้งหมดมาต้มให้เดือดแล้วนำมาดื่ม

ยาแก้ปวดประจำเดือน

          ใช้ดอกคำฝอย 1 หยิบมือ ชงน้ำร้อน 1 แก้ว กินวันละ 2-3 ครั้ง

ยาเลือด

          ใช้ใบมะกา 1 กำมือ ใบมะขาม 1 กำมือ รากหญ้าคา 1 กำมือ ใบส้มป่อย 1 กำมือ ฝักคูน 5 ฝัก ดอกคำฝอย 10 บาท ขี้ครั่ง 10 บาท ขี้เหล็กทั้งห้า 5 ตำลึง และดีเกลือ 2 ไพ นำมาต้มให้เดือด ควรดื่มวันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น

ยาระดูทับไข้ ไข้ทับระดู
         
          ใช้ฝาง 5 บาท  ควรต้มดื่มเป็นประจำแล้วจะดีขึ้น

ยาต้มบำรุงโลหิต
         
          ใช้ดอกคำฝอย 1 บาท จันทน์แดง 5 นาที จันทน์เทศ 5 บาท หญ้าไทร 1 กำมือ ฝาง 5 บาท ใบไผ่ป่า 1 กำมือ ควรต้มดื่มวันละสองครั้ง เช้า-เย็น ก่อนอาหารเช้าและเย็น

ยาลดความดัน

          ใช้กระเจี๊ยบแดง พุทราจีน และดอกคำฝอย นำมาต้มน้ำให้เดือดประมาณ 30 นาที จากนั้นคั้นเอาแต่น้ำ แล้วกรองกากออก ดื่มครั้งละ 1 แก้ว เช้า-เย็น ควรดื่มติดต่อกัน 4-5 วัน ความดันจะลดลง คอยวัดความดันและกินยาต่อเนื่อง แต่อาจลดปริมาณลงได้

ยาบำรุงโลหิตสตรี

          ใช้ไพล 2 บาท ขิง 5 บาท ข่า 3 บาท ขมิ้นอ้อย 2 หัว ผักกาด 2 บาท ชะลูด 2 บาท กระสำพัก 2 บาท ขอนดอก 2 บาท กะทือ 2 บท กระเทียม 3 บาท กระชาย 3 บาท ดอกคำฝอย 3 บาท ดีปลี 3 บาท พริกไทย 3 บาท เกลือ 3 บาท มะกรูด 33 ผล สารส้ม 5 บาท แล้วนำมาต้ม หลังจากนั้นนำมาตากแดดไว้ประมาณ 7 วัน รับประทานวันละ 3 ถ้วย ก่อนอาหาร และก่อนเข้านอน


          **ข้อควรระวัง ไม่ควรใช้กับสตรีมีครรภ์ ไม่ควรรับประทานติดต่อกันนานเกินไป เพราะอาจทำให้ผิวแห้งได้ การใช้คำฝอยในปริมาณสูงอาจมีผลเสียต่อเซลล์ จึงไม่ควรกินอย่างเข้มข้นเกินไป


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


โดย ภก.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร หัวหน้ากลุ่มงานเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระอภัยภูเบศร