เป็นสิวหายยาก อาจเป็นสัญญาณของ 5 โรคนี้

  เป็นสิวที่คาง ที่แก้ม ที่หน้าผากบ่อย ๆ และค่อนข้างจะรักษายาก ทั้งที่เราก็ล่วงเลยวัยรุ่นช่วงที่ฮอร์โมนพุ่งพล่านมานานแล้ว สิวเหล่านี้ทำไมยังขึ้นบนใบหน้าอยู่อีก เชื่อไหมคะว่าเรื่องนี้มีเงื่อนงำ

          สิวเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องเจอค่ะ โดยเฉพาะช่วงวัยรุ่นที่ฮอร์โมนในร่างกายจะเกิดการเปลี่ยนแปลง สิววัยรุ่นจึงมักจะขึ้นบริเวณทีโซน (T Zone) และมีอาการหน้ามันมากกว่าเดิมด้วย ทว่าหากโตจนทำงานแล้ว อายุ 25 ปีขึ้นไป สิวก็ยังมาทักทายไม่ยอมหายหน้าไปไหน นี่อาจเป็นสัญญาณบอกว่าร่างกายเรามีความผิดปกติเกิดขึ้นก็เป็นได้ โดยเฉพาะการที่มีสิวขึ้นร่วมกับอาการผิดปกติอื่น ๆ ดังนั้นลองมาเช็กกันค่ะว่าสิวบนใบหน้าของเรา จะบอกใบ้ปัญหาสุขภาพใดได้บ้าง

สิวบอกโรค

1. อาการ PMS

          สาว ๆ วัยที่ยังมีประจำเดือน มักจะต้องหงุดหงิดกับสิวที่ขึ้นบริเวณปลายคาง ซึ่งการเป็นสิวที่คางสามารถบ่งบอกถึงสภาวะฮอร์โมนร่างกายเราได้ว่า กำลังมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนอยู่นะ และอีกไม่ช้าไม่นานประจำเดือนก็จะมาค่ะ แถมบางคนยังหงุดหงิดกับสิวไม่พอ แต่มีอาการหงุดหงิดกับทุกสิ่งที่ขวางหน้า ซึ่งก็เป็นหนึ่งในอาการ PMS นั่นเอง

สิวบอกโรค

2. โรคถุงน้ำในรังไข่ (ซีสต์ในรังไข่)


          โรคถุงน้ำในรังไข่ เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของฮอร์โมนในร่างกาย และค่อนข้างน่ากังวลเพราะอาการของโรคถุงน้ำในรังไข่ไม่ค่อยจะชัดเจนสักเท่าไรค่ะ หลายคนเลยคิดว่าเป็นอาการป่วยทั่วไป เลยไม่เอะใจว่ามีโรคถุงน้ำในรังไข่ซ่อนอยู่ในร่างกาย แต่หากสาวคนไหนเป็นสิวหายยาก โดยสิวมักจะขึ้นบริเวณขากรรไกร มีผิวมัน ประจำเดือนมาไม่ปกติ อ้วนขึ้น กินจุขึ้น ขนดกขึ้น แถมรูขุมขนก็กว้าง และยังมีอาการผมร่วง นอนไม่หลับ ซึมเศร้าก็บ่อย ให้สงสัยไว้ก่อนเลยว่า อาการผิดปกติเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคถุงน้ำในรังไข่หรือโรคซีสต์ในรังไข่
สิวบอกโรค

3. โรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา (Malassezia folliculitis)


          โรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา หรือที่เข้าใจกันว่าสิวเชื้อรา ส่วนใหญ่มักจะเกิดผื่นเล็ก ๆ บริเวณหน้าอก แผ่นหลัง คอ ไหล่ หรือใบหน้า โดยอาการจะมีผื่นเล็ก ๆ คล้ายสิวผดขึ้นก่อน ต่อมาเมื่อมีเชื้อรามาลาสซีเซียเติบโตมากผิดปกติบริเวณรูขุมขน เชื้อราเหล่านี้จะกระตุ้นให้เกิดอาการอักเสบเป็นตุ่มแดง มีอาการคัน หรือมีตุ่มหนองร่วมด้วย ซึ่งต่างจากสิวทั่วไปที่มักจะไม่มีอาการคัน

          ทั้งนี้โรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรา มักจะมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน หรือการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคนี้ก็ได้แก่ เชื้อราประเภทยีสต์ในกลุ่มมาลาสซีเซียนั่นเอง ซึ่งจริง ๆ แล้วเชื้อราชนิดนี้พบได้บนผิวหนังของทุกคน ทว่าในบางคนอาจมีการเจริญเติบโตของเชื้อนี้มากผิดปกติ จนเป็นเหตุให้เกิดโรคผิวหนังหลายชนิด เช่น โรคเกลื้อน โรครังแคอักเสบ รวมทั้งโรครูขุมขนอักเสบจากเชื้อรานี้ด้วย

สิวบอกโรค

4. โรคแพ้เหงื่อตัวเอง

          ในกรณีที่เป็นสิวผดแบบเป็น ๆ หาย ๆ และมักจะเป็นสิวผดหรือผื่นขึ้นตอนที่เหงื่อออก เคสนี้อาจสันนิษฐานคร่าว ๆ ได้ถึงโรคแพ้เหงื่อตัวเอง ที่จัดเป็นโรคภูมิแพ้ชนิดหนึ่ง ที่มักจะเกิดกับผู้ที่มีความไวต่อสิ่งเร้ามาก โดยเฉพาะความไวอย่างผิดปกติต่อผิวหนัง ซึ่งสามารถก่อให้เกิดอาการแพ้ได้

          อย่างไรก็ดี อาการของโรคแพ้เหงื่อตัวเองอาจคล้ายมีสิวผดขึ้นตามร่างกาย หรือบริเวณที่เหงื่อออกเยอะ ทว่าผื่นที่ขึ้นบนผิวหนังนั้นเป็นผื่นจากอาการแพ้ และจะมีอาการคันมาก ร่วมกับมีผิวเป็นปื้นแดง แต่หากพบว่าผื่นคันขึ้นเป็นตุ่มใส ลักษณะคล้ายสิวอักเสบ ให้รีบปรึกษาแพทย์ผิวหนังเพื่อหาสาเหตุของโรคและวิธีรักษาที่ถูกต้องต่อไปค่ะ

สิวบอกโรค

5. อาการติดคาเฟอีนหนักมาก


          เครื่องดื่มคาเฟอีนเป็นเครื่องดื่มที่วัยทำงานอย่างเรา ๆ ขาดไม่ได้เลยทีเดียว บางคนเลยเกิดอาการติดคาเฟอีนหนักมาก ดื่มกาแฟหรือชาวันละหลายแก้ว และวันไหนไม่ดื่มก็จะมีอาการปวดหัวอึน ๆ ทำงานทำการกันไม่ได้เลยทีเดียว ทว่าเจ้าเครื่องดื่มกระตุ้นร่างกายเหล่านี้ล่ะค่ะ ที่ทำให้สิวมาเยือนใบหน้าเรา เพราะคาเฟอีนจะไปกระตุ้นให้ไตทำงานหนัก ส่งผลกระทบต่อฮอร์โมนในร่างกาย แถมยังกระตุ้นการทำงานของเอสโตรเจน ฮอร์โมนที่ทำให้เกิดสิวอีกด้วย ฉะนั้นหากไม่อยากเป็นสิว และไม่อยากให้คาเฟอีนมีผลต่อกระทบต่อสุขภาพเราอีกต่อไป พยายามลดปริมาณการบริโภคคาเฟอีนลงดีกว่านะคะ


          อย่างไรก็ดี สิวที่ขึ้นบนใบหน้า สิวที่คาง สิวที่แก้ม หรือสิวที่หลัง ซึ่งไม่มีอาการป่วยอื่น ๆ ร่วมด้วย กรณีนี้อาจเป็นเพราะเรารักษาความสะอาดได้ไม่ดีพอ หรืออาจเป็นเพราะการใช้เครื่องสำอางแล้วล้างออกไม่สะอาด รวมไปถึงการใช้ยาบางชนิด เช่น ยาฮอร์โมนเพศชาย ยาสเตียรอยด์ ยากันชัก เป็นต้น แต่ไม่ได้บ่งบอกถึงโรคใด ๆ ได้นะคะ ฉะนั้นหากไม่มีความผิดปกติในร่างกายอื่น ๆ ร่วมด้วย วิธีรักษาสิวในเบื้องต้นก็แค่รักษาสุขอนามัยของตัวเองให้ดี ดื่มน้ำเยอะ ๆ พักผ่อนให้เพียงพอ และหมั่นออกกำลังกายเท่านั้นเอง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
สำนักข่าวไทย
webmd
womenshealthmag