อาการโควิดลงปอดเป็นอย่างไร ป่วยแล้วเป็นทุกคนไหม มาดูวิธีเช็กว่าเชื้อลงปอดหรือยังเบื้องต้น เพื่อตรวจสอบตัวเองก่อนปอดอักเสบลุกลาม
อาการโควิดที่พบส่วนใหญ่
คือ มีไข้ ไอ เจ็บคอ คล้ายกับไข้หวัดทั่วไป
ซึ่งหากภูมิคุ้มกันร่างกายแข็งแรงพอจะสามารถต่อสู้กับเชื้อไวรัส
และรักษาตัวให้หายได้เอง ทว่าความอันตรายของโรค COVID-19
อยู่ตรงที่เชื้อไวรัสนี้มีโอกาสลงปอดได้ง่าย โดยเฉพาะสายพันธุ์อังกฤษ
B.1.1.7 ที่แพร่ระบาดระลอกใหม่ นอกจากจะติดต่อง่ายกว่าเดิมแล้ว
กลับพบคนหนุ่มสาวมีอาการปอดอักเสบมากขึ้นด้วยทั้งที่บางคนไม่มีอาการป่วยใด ๆ
เลย
เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าโควิดลงปอดแล้วหรือยัง หากใครกำลังป่วยอยู่ รีบสังเกตตัวเองเพื่อเข้ารับการรักษาโดยเร็วค่ะ
คุณหมอจากเพจ Drama-addict ให้ข้อมูลไว้ว่า
ตามปกติเวลาที่มีการติดเชื้อทางเดินหายใจ ไม่ว่าจะเป็นหวัด ไข้หวัดใหญ่
หรือโควิด 19 จะแบ่งตำแหน่งที่ติดเชื้อเป็นการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน
กับ การติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง
- กรณีติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน คือ บริเวณปาก คอ จมูก อาการจะไม่รุนแรงมาก เช่น มีน้ำมูก เจ็บคอ ไอ
- กรณีติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนล่าง คือ ตั้งแต่หลอดลม ลงไปถึงปอด จะเรียกว่าโควิดลงปอด มีอาการรุนแรงกว่าการติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน เช่น เนื้อเซลล์ปอดและถุงลมบางส่วนได้รับความเสียหาย ทำให้หายใจลำบาก ถ้าเอกซเรย์หรือทำ CT Scan จะพบความเปลี่ยนแปลงในปอด และหากรุนแรงมากอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้
โควิดลงปอดทุกคนไหม ? ประเด็นนี้ต้องบอกว่า ข้อมูลในปี 2563 พบผู้ป่วยโควิดราว 80% มีอาการไม่หนัก กล่าวคือแทบไม่แสดงอาการ หรือบางคนอาจจะมีไข้ ไอ จามทั่วไป เชื้อไม่ค่อยลงปอด แต่ในบางคนอาจมีปอดอักเสบอ่อน ๆ ได้ ซึ่งไม่รุนแรง ขณะที่ผู้ป่วยอีก 20% เชื้อจะลงปอด และมีอาการรุนแรงขึ้น
อย่างไรก็ตาม สำหรับโควิดสายพันธุ์อังกฤษ B.1.1.7 ที่เพิ่งระบาดในไทยเมื่อปี 2564 นั้น เชื้อมีความรุนแรงกว่าเดิม อยู่ในร่างกายได้เป็นเวลานานขึ้น อีกทั้งจับกับผิวเซลล์มนุษย์ได้ดีกว่าสายพันธุ์ที่เคยระบาดในไทย ทำให้ผู้ป่วยมีปริมาณเชื้อในโพรงจมูกเยอะขึ้น
ดังนั้น เมื่อหายใจเข้าไป
โอกาสที่เชื้อจะเข้าปอดก็ง่ายกว่าเดิม
จึงพบผู้ติดเชื้อมีอาการปอดอักเสบเร็วขึ้นและมากขึ้นไปด้วย
แม้แต่วัยรุ่นที่สุขภาพแข็งแรงแทบไม่แสดงอาการป่วย
แต่เมื่อเอกซเรย์ปอดกลับเจอฝ้าที่แสดงถึงภาวะปอดอักเสบ
โดยการระบาดรอบนี้
พบคนที่มีรอยโรคปอดอักเสบ ร่วมกับไข้ ไอ หรือหอบเหนื่อย ได้ประมาณ 30-50%
ขึ้นกับระยะเวลาที่ผู้ป่วยมาพบแพทย์หลังได้รับเชื้อหรือเริ่มมีอาการ
รวมทั้งโรคประจำตัวของผู้ป่วยด้วย
หลายคนสงสัยว่า โควิดลงปอดภายในกี่วัน ? จากข้อมูลพบว่า มีโอกาสที่เชื้อจะลงปอดและมีอาการปอดอักเสบระยะต้น ในช่วง 5 วันหลังได้รับเชื้อหรือเริ่มมีอาการ และปอดอักเสบระยะที่ 2 จะอยู่ในช่วง 10-15 วัน ซึ่งอาการแสดงที่เป็นสัญญาณว่าเชื้อไวรัสโคโรนาอาจเข้าสู่ปอดแล้วก็คือ
- ไอแห้ง ๆ มีอาการไอมากขึ้น
- เหนื่อยง่ายขึ้น สังเกตได้จากเวลาทำกิจกรรมอะไรก็ตามที่เคยทำได้ปกติ แต่ตอนนี้เมื่อทำแล้วจะรู้สึกเหนื่อยเร็วกว่าเดิม
- หอบเหนื่อย แน่นหน้าอก
- หายใจติดขัด หายใจลำบาก หายใจไม่อิ่ม เนื่องจากเชื้อที่ลงปอดจะทำให้เกิดการอุดกั้นบริเวณถุงลมปอด ส่งผลต่อการแลกเปลี่ยนและลำเลียงออกซิเจน
- พูดติดขัด ขาดห้วง
- ระดับออกซิเจนในเลือดลดต่ำลง เพราะเชื้อที่อุดกั้นถุงลมปอด ทำให้การลำเลียงออกซิเจนไม่ดี จึงส่งออกซิเจนไปยังกระแสเลือดน้อยกว่าปกติ
หากมีอาการที่กล่าวมานี้ควรรีบแจ้งแพทย์โดยเร็ว เนื่องจากการระบาดระลอกใหม่พบเชื้อลุกลามในปอดเร็วมาก โดยแพทย์จะเอกซเรย์ปอด หรือ CT Scan เพื่อวินิจฉัยภาวะปอดอักเสบก่อนทำการรักษา
ระวัง ! ภาวะ Happy Pneumonia
ปอดอักเสบไม่แสดงอาการ
แม้อาการที่กล่าวไปข้างต้นจะเป็นสัญญาณเตือนโควิดลงปอด แต่ทราบไหมว่า ยังมีผู้ติดเชื้อโควิดจำนวนไม่น้อยที่มีภาวะ Happy Pneumonia หรือเป็นปอดอักเสบแต่มีอาการน้อยหรือไม่มีอาการจำพวกหอบเหนื่อย
หรือหายใจติดขัดให้เห็นเลย
ต้องเอกซเรย์ปอดเท่านั้นจึงจะเห็นว่าปอดมีร่องรอยของโรคแล้ว
โดยแสดงร่วมกับภาวะ Silent Hypoxemia
คือค่าออกซิเจนในเลือดต่ำกว่าปกติ แต่ไม่มีอาการเหนื่อยหอบ
ทว่าเมื่อเป็นหลายวันเข้า จนอาการมาถึงจุดหนึ่ง จะเหนื่อยแบบรุนแรง
จนระบบหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตในเวลาไม่นาน
ภาวะเหล่านี้ทำให้ผู้ป่วยโควิด
19 มักไม่รู้ตัวว่าเป็นปอดอักเสบ เพราะไม่มีอาการใด ๆ แต่เมื่อแสดงอาการ
ผู้ป่วยจะทรุดหนักเฉียบพลันและมีโอกาสที่จะรักษาไม่ทัน
นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมผู้ป่วยควรอยู่ในโรงพยาบาล
หรือโรงพยาบาลสนาม เพื่อสังเกตอาการทุกวัน
รวมทั้งตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือด หากมีความผิดปกติ
แพทย์จะเข้ามาช่วยเหลือได้เร็ว
ด้วยการวัดค่าออกซิเจนในเลือด
สำหรับผู้ป่วยโควิดที่อยู่ในโรงพยาบาล
หรือโรงพยาบาลสนามแล้ว แม้จะไม่มีอาการเหนื่อยหอบ หายใจติดขัด
แต่แพทย์อาจให้ตรวจระดับออกซิเจนในเลือด
เพื่อเฝ้าระวังอาการปอดอักเสบด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น
- ใช้เครื่องตรวจวัดระดับออกซิเจนในเลือดที่ปลายนิ้ว (Pulse Oximeter) หากมีปริมาณออกซิเจนในเลือดต่ำกว่า 96% จะแสดงถึงความผิดปกติที่ปอด ซึ่งต้องรักษาทันที
- การให้เดิน 6 นาที (6-minute walk test) เป็นวิธีตรวจสอบสมรรถภาพทางกาย
เพื่อเช็กอาการของคนที่เป็นปอดอักเสบระยะแรก
วิธีการก็คือจะให้ผู้ป่วยเดินเร็ว ๆ เป็นเวลา 6 นาที หากมีภาวะปอดอักเสบ
ก็จะรู้สึกเหนื่อยง่าย เหนื่อยเร็วกว่าปกติ หัวใจเต้นเร็วขึ้น
ความดันโลหิตสูงขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงเวลาปกติ
รวมทั้งระดับออกซิเจนในเลือดอาจลดต่ำลงเหลือน้อยกว่า 96%
- การปั่นจักรยานอากาศนาน 3 นาที
หรือเดินไป-มาข้างเตียง 3 นาทีขึ้นไป
แล้วเปรียบเทียบระดับออกซิเจนในเลือดก่อน-หลังทดสอบ หากค่าออกซิเจนลดลง 3%
ขึ้นไป จะถือว่ามีภาวะออกซิเจนในเลือดลดลงหลังออกแรง (Exercise-induced
Hypoxia)
- การออกกำลังกายด้วยการลุก-นั่ง (Sit-to-Stand Tests) เพื่อเป็นการตรวจสอบเบื้องต้นว่าอาการปอดอยู่ในสภาวะไหนแล้ว
ซึ่งจะช่วยคัดกรองผู้ป่วยโควิดที่ยังไม่พบปอดอักเสบในช่วงแรกได้ โดย รศ.
นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล แนะนำวิธีทดสอบไว้ดังนี้
อุปกรณ์ที่ต้องมี
- เก้าอี้ที่แข็งแรงชนิดมีพนักพิงหลัง แต่ไม่มีที่เท้าแขน ความสูงจากที่นั่งถึงพื้น 40-50 เซนติเมตร
- เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว
หรือหากไม่มีเครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้วสามารถใช้นาฬิกา Smart Watch
ที่มีการวัดค่าออกซิเจนในเลือด (SpO2)
ขั้นตอนการทดสอบ
1. วัดออกซิเจนปลายนิ้ว ถ้าไม่มีเครื่องมือ ให้จับชีพจร 1 นาที ว่าได้กี่ครั้ง
2. ลุก-นั่งกับเก้าอี้ โดยห้ามเอามือจับตัวเก้าอี้ ควรมีคนคอยดูอยู่ด้านหน้าเพื่อป้องกันการล้มหัวฟาด
3. ลุก-นั่งไปเรื่อย ๆ ภายใน 1 นาที เอาเท่าที่เร็วที่สุดที่พอไหว
4. เมื่อครบ 1 นาที ให้ลองวัดออกซิเจน ถ้าตกลงเกิน 3%
หรือถ้าวัดชีพจรแล้วเกิน 120 ครั้ง/นาที หรือคนไข้หายใจหอบเหนื่อยมาก
พูดเป็นคำไม่ได้ แสดงว่าน่าจะมีปัญหาในปอด ทำให้ออกซิเจนไม่พอ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตัวเลขตกลงไม่เกิน 3% ที่แสดงว่าปอดน่าจะยังดี แต่ก็ไม่ได้การันตีว่าไม่เป็นโควิดเช่นกัน ดังนั้น ควรทดสอบด้วยตัวเองอยู่บ่อย ๆ โดยเฉพาะคนเป็นโควิดที่ยังมีอาการน้อย ๆ ก็สามารถเช็กได้ด้วยตัวเอง ส่วนคนที่ยังไม่เป็นโควิดก็ทำได้ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานของตัวเองก่อนเป็นปอดบวม
1. ปริมาณเชื้อที่ได้รับ
- ผู้ที่ได้รับเชื้อแต่ไม่มีอาการ อาจพบการอักเสบของปอดได้เมื่อเอกซเรย์
- ผู้ที่ได้รับเชื้อปริมาณน้อย อาจมีอาการคล้ายไข้หวัด ปวดเมื่อยตามตัว มีไข้ หายเองได้ บางรายอาจพบการอักเสบในปอด
- ผู้ที่ได้รับเชื้อปริมาณมาก เชื้อจะลงไปอยู่ในถุงลม ทำให้เกิดอาการปอดอักเสบติดเชื้อ มีอาการเหนื่อย หายใจไม่ทัน ต้องได้รับเครื่องช่วยหายใจ
2. ภูมิต้านทานของผู้ติดเชื้อ
หากเป็นคนที่มีภูมิต้านทานแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ถ้าเชื้อลงปอดก็มีโอกาสที่จะรักษาหายได้ในเวลาไม่นาน แต่สำหรับคนที่มีภูมิต้านทานไม่แข็งแรง ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีแนวโน้มที่จะมีอาการรุนแรงกว่าคนกลุ่มอื่นจนถึงขั้นเสียชีวิตได้ เช่น
- ผู้สูงอายุ เนื่องจากความเสื่อมของร่างกายและระบบภูมิคุ้มกันลดลง
- คนอ้วน มีไขมันใต้ผิวหนังหรือใต้ช่องท้องมาก คนกลุ่มนี้ปอดจะทำงานลดลง เสี่ยงต่อการหายใจลำบาก จึงมีโอกาสที่จะมีอาการรุนแรงจากโรคโควิด 19 สูงถึง 7 เท่า
- ผู้มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคไต โรคตับ โรคหัวใจ โรคมะเร็ง ฯลฯ
- ผู้ป่วยโรคปอด เนื่องจากปอดทำงานน้อยกว่าปกติอยู่แล้ว เมื่อถูกเชื้อไวรัสทำลายอีก ระบบร่างกายจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว
- คนที่สูบบุหรี่ เพราะปอดถูกทำลายอย่างหนัก
มีโอกาสที่จะมีอาการแทรกซ้อนรุนแรงจากโควิด 19 มากกว่าคนทั่วไปถึง 1.5 เท่า
และมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงกว่าด้วย
เช็ก...13 กลุ่มเสี่ยงอาการหนักหากติดโควิด 19 รักษาช้าอาจถึงตาย !
3. ระยะเวลาที่ได้รับการรักษา
การใช้ยา
สำหรับมาตรฐานการรักษาในประเทศไทย
จะให้ยาฟาวิลาเวียร์ (Favilavir) เพื่อต้านไวรัสเป็นเวลา 5-10 วัน
ขึ้นอยู่กับการตอบสนองของร่างกายและปัจจัยเสี่ยง กรณีมีอาการรุนแรงขึ้น
แพทย์จะพิจารณาให้ยาอื่นร่วมด้วย คือ
- ให้ยาลดการอักเสบคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids) ร่วมกับยาฟาวิลาเวียร์
- หากมีอาการปอดบวม หายใจเร็วเกินอัตราการหายใจตามกำหนดอายุ
แพทย์อาจพิจารณาให้ยาโลปินาเวียร์/ริโตนาเวียร์ (Lopinavir/ritonavir,
LPV/r) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสเอดส์และยาต้านไข้หวัดใหญ่
ร่วมกับยาฟาวิลาเวียร์ และยาลดการอักเสบคอร์ติโคสเตียรอยด์
- กรณีผู้ป่วยตั้งครรภ์ แพทย์อาจพิจารณาใช้ยาเรมเดซิเวียร์
(Remdesivir) แทนฟาวิลาเวียร์
เนื่องจากมีข้อมูลความปลอดภัยของยาเรมเดซิเวียร์ในหญิงตั้งครรภ์
และไม่มีรายงานผลร้ายในทารก
ให้นอนคว่ำ
เมื่อผู้ป่วยมีอาการรุนแรง และมีปอดอักเสบทั้ง 2 ข้าง
ระดับออกซิเจนต่ำ แพทย์จะให้นอนคว่ำ เพื่อให้ถุงลมปอดขึ้นมาอยู่ด้านบน
จึงช่วยให้ปอดแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้ดีขึ้น ปริมาณออกซิเจนในเลือดเพิ่มขึ้น
เป็นวิธีหนึ่งที่ช่วยบรรเทาความรุนแรงของอาการปอดอักเสบ
ซึ่งถ้าผู้ป่วยนอนคว่ำไประยะหนึ่งแล้วมีอาการดีขึ้น
ก็ไม่จำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจ
อย่างไรก็ตาม กรณีผู้ป่วยมีปอดอักเสบข้างเดียว หรือมีระดับออกซิเจนปกติ การนอนคว่ำจะไม่ได้ช่วยในการรักษาเท่าใดนัก
ให้ออกซิเจน
รักษาตามภาวะแทรกซ้อน
กรณีที่ผู้ป่วยมีอาการปอดอักเสบเพียงเล็กน้อย
และร่างกายแข็งแรงดี เมื่อไวรัสเข้าไปจู่โจมระบบทางเดินหายใจ
อาจทำลายปอดได้ไม่มาก เมื่อหายจากการติดเชื้อ ปอดจะกลับมาทำงานได้ตามปกติ
หรือประสิทธิภาพลดลงไม่มาก
ทว่าสำหรับคนที่ปอดได้รับความเสียหายรุนแรง เกิดรอยแผลจำนวนมาก
เซลล์ของเนื้อปอดแทบจะฟื้นฟูไม่ได้เลย ดังนั้น แม้จะรักษาโควิดจนหาย
แต่สมรรถภาพการทำงานของปอดย่อมลดลงแน่นอน จึงส่งผลต่อการใช้ชีวิตประจำวัน
เช่น
- ออกกำลังกายได้ไม่เต็มที่ เพราะจะรู้สึกเหนื่อยเร็วขึ้น
- ถูกจำกัดการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ใช้แรงเยอะ หรือทำกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ไม่เท่าเดิม
- หายใจไม่สะดวก หรือรู้สึกหายใจไม่อิ่ม ไม่เต็มปอด เพราะปอดรับออกซิเจนได้ไม่เท่าเดิม
ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล แนะนำให้ผู้ป่วยโควิด ฟื้นฟูสมรรถภาพปอดด้วยการฝึกหายใจ เนื่องจากเชื้อไวรัสที่ลงปอดส่งผลให้ผู้ป่วยหายใจลำบาก และมีเสมหะมากขึ้น แต่การฟื้นฟูสมรรถภาพปอดด้วยตัวเองจะมีประโยชน์ต่อผู้ป่วย อาทิ
- ลดอาการเหนื่อยและการหายใจลำบาก
- เพิ่มความสามารถในการหายใจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
- ช่วยขับเสมหะ
- ป้องกันการเกิดภาวะปอดแฟบ
สำหรับผู้ป่วยที่สามารถออกกำลังกายฟื้นฟูปอดได้ คือ
- ผู้ป่วยติดเชื้อแบบไม่มีอาการ
- ผู้ป่วยติดเชื้อแต่อาการไม่รุนแรง
- ผู้ป่วยติดเชื้อ อาการไม่รุนแรง แต่มีโรคประจำตัว
- ผู้ป่วยติดเชื้อ มีอาการปอดอักเสบไม่รุนแรง
กรณีผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบรุนแรง หรือมีความเสี่ยงอื่น ๆ
เช่น อายุมากกว่า 60 ปี, มีโรคประจำตัว เช่น โรคอ้วน โรคปอด ไต
หรือหัวใจเรื้อรัง, โรคหลอดเลือดสมอง โรคความดันโลหิตสูง, เบาหวาน,
โรคตับแข็ง หรือมีภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
ต้องคำนึงถึงความเสี่ยงจากการออกกำลังกายตามโรคประจำตัวที่เป็นอยู่เดิม
ทั้งนี้ หากมีอาการมึนศีรษะหรือเหนื่อยมากขึ้นขณะทำ ให้หยุดพักช่วงเวลาหนึ่ง แต่ถ้าหยุดพักแล้วยังไม่ดีขึ้น ควรงดเว้นการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดไปก่อน
ดังนั้น
ผู้ติดเชื้อทุกคนจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล
แม้จะมีอาการหรือไม่ก็ตาม เพราะอย่างที่แพทย์ให้ข้อมูลว่า
บางคนแทบไม่มีอาการใด ๆ เลย แต่วันรุ่งขึ้นกลับมีอาการทรุดลง
และเอกซเรย์พบปอดอักเสบ จึงควรอยู่ในความดูแลของแพทย์
เพราะหากพบปอดอักเสบขึ้นมาจะได้รักษาทันเวลา
ขอบคุณข้อมูลจาก
กรมการแพทย์
สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
เฟซบุ๊ก รศ. นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทยฯ
เฟซบุ๊ก นพ.อนุชิต นิยมปัทมะ
เฟซบุ๊ก Drama-addict
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์
ชัวร์ก่อนแชร์ (1), (2)
องค์การอนามัยโลก
เฟซบุ๊ก 1412 Cardiology
สำนักข่าว NHK
โรงพยาบาลเพชรเวช
RAMA Channel