ทำความรู้จัก เขื่อนไซยะบุรีผลิตกระแสไฟแบบน้ำไหล

เขื่อนไซยะบุรี เป็นเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ สร้างกั้นแม่น้ำโขงตอนล่าง ตั้งอยู่ประมาณ 30 กิโลเมตรทางทิศตะวันออกของเมืองไชยบุรี ทางตอนเหนือของประเทศลาว ก่อสร้างโดยบริษัท ช. การช่าง จากประเทศไทย เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาจัดซื้อกระแสไฟฟ้าระหว่างการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยกับรัฐบาลลาว วันนี้เราจะพาไปทำความรู้จักเขื่อนแห่งนี้ โดยทสงด้านเฟสบุ๊ก Pai Deetes ได้โพสต์ระบุว่า...

       ไซยะบุรี = run-of-river "เขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน" ? วันนี้ บริษัทไซยะบุรีพาวเวอร์ /เครือ ช.การช่าง กำหนดไว้ว่าจะพาสื่อมวลชนไทย ไปชมเขื่อนไซยะบุรี ที่กั้นแม่น้ำโขงในลาว ในเนื้อหาจดหมายเชิญ ระบุว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ทราบถึงกระบวนการผลิตไฟฟ้าที่ปราศจากการกักเก็บน้ำ และการดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างสมดุลระหว่างธุรกิจและการผลิตไฟฟ้าสะอาดเพื่อเป็นมาตรฐานในการพัฒนาประเทศแถบลุ่มน้ำโขงอย่างยั่งยืน

       อยากชวนพวกเรา คิดถึง กรณีเขื่อนปากมูล ซึ่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) สร้างกั้นแม่น้ำมูน ลำน้ำสาขาของแม่น้ำโขง นี่ถือเป็นต้นแบบของเขื่อนแบบน้ำไหลผ่าน คือเป็นเขื่อนที่ไม่สูงนัก มีประตูระบายน้ำ และไม่ได้กักเก็บน้ำมากมายมหาศาลแบบเขื่อนศรีนครินทร์ หรือ storage dam แต่ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีผลกระทบ

       แม้จะมีชื่อเรียกยังไง เขื่อนแบบ "น้ำไหลผ่าน" ก็ต้องมีการกักเก็บน้ำ โดยมีระยะเวลากักเก็บน้ำหลายสัปดาห์ หรือหลายเดือน แล้วแต่วัตถุประสงค์ของเขื่อน คำว่า “น้ำไหลผ่าน” (run-of-river) เป็นคำที่ทำให้เกิดความเข้าใจผิด เพราะเหมือนจะบอกว่าเป็นเพียงการใช้ประโยชน์จากกระแสน้ำตามธรรมชาติของแม่น้ำ และการผลิตพลังงานขณะที่น้ำไหลผ่าน

       แต่นั่นไม่ใช่ความจริงของโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไหลผ่านตลอดปี เพราะโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำทุกโครงการ จะมีการควบคุมบังคับน้ำและสร้างผลกระทบต่อแม่น้ำ โครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไหลผ่านตลอดปีส่วนใหญ่จะกักน้ำเอาไว้ทั้งด้านหลังเขื่อน หรือผ่านช่องผันน้ำของเขื่อน

       ไม่มีนิยามที่เป็นกลางเกี่ยวกับโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไหลผ่านตลอดปี โดยทั่วไปแล้ว “น้ำไหลผ่าน” หมายถึงโครงการไฟฟ้าพลังน้ำที่มีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กหรือไม่มีอ่างเก็บน้ำเลย มีความแตกต่างจากเขื่อนที่มีอ่างเก็บน้ำแบบเดิม ซึ่งต้องกักน้ำไว้เป็นจำนวนมากในช่วงหน้าฝน เพื่อให้มีน้ำมากพอสำหรับการผลิตไฟฟ้าตลอดทั้งปี แต่เพราะโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไหลผ่านตลอดปีมีขนาดอ่างเก็บน้ำที่ค่อนข้างเล็ก จึงมักต้องสร้างอยู่ในแม่น้ำที่มีอัตราการไหลประจำปีค่อนข้างสม่ำเสมอ โดยอาจเป็นการไหลตามธรรมชาติ หรือเป็นการไหลที่ผ่านการควบคุมของเขื่อนที่มีอ่างเก็บน้ำตอนเหนือน้ำ เขื่อน run-of river แบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ แต่ที่น่ารู้จักคือ

       1. เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไหลผ่านตามนิยาม (Strict run-of-river) จะไม่ควบคุมกระแสการไหลของน้ำ โดยจะมีการผลิตไฟฟ้าเมื่อน้ำไหลผ่านกังหันภายในเขื่อน เนื่องจากไม่มีการกักเก็บน้ำ โครงการเหล่านี้จึงมักมีผลกระทบน้อยกว่า เมื่อเทียบกับโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไหลผ่านตลอดปีอื่น ๆ แต่ก็ยังส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพของแม่น้ำและการทำหน้าที่อย่างอื่นของแม่น้ำอยู่ดี

       2. เขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำไหลผ่านแบบมีอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก (Pondage run-of-river) มีการควบคุมกระแสการไหลของน้ำทุกวันหรือทุกสัปดาห์ โดยการเก็บกักน้ำที่ด้านหลังของเขื่อน เราเรียกอ่างเก็บน้ำขนาดเล็กแบบนี้ว่า “pondage” โดยมักนำมาใช้กับ “การผลิตไฟฟ้าช่วงที่มีความต้องการสูงสุด” (“peaking plants”) โดยน้ำจะถูกปล่อยให้ไหลผ่านกังหันของเขื่อนเพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตไฟฟ้า เพื่อตอบสนองช่วงที่มีความต้องการไฟฟ้าสูงสุด ส่งผลให้เกิดความต่างระดับอย่างมากของการไหลของแม่น้ำ โดยอาจมีการผันผวนเป็นรายชั่วโมง โครงการแบบนี้ยังอาจนำมาใช้เพื่อการผลิตไฟฟ้าสำหรับช่วงไฟฟ้าฐาน (baseload power) ได้

       โครงการ run-of-river มักก่อสร้างเป็นกลุ่มของเขื่อนหรือเขื่อนชั้นตามแม่น้ำ (เช่นเดียวกับที่น้ำโขง ที่เสนอสร้าง 11 โครงกร) แม้ว่าแนวทางสร้างเขื่อนแบบนี้อาจทำให้สามารถผลิตไฟฟ้าพลังน้ำได้สูงสุดต่อแม่น้ำในช่วงหนึ่ง แต่ผลกระทบสะสมของโครงการแบบนี้ถือว่ารุนแรงมาก โดยเราไม่สามารถตรวจวัดผลกระทบสะสมของเขื่อนชั้นที่มีต่อคุณภาพของแม่น้ำได้ โดยการตรวจสอบผลกระทบของแต่ละเขื่อนแยกกัน ด้วยเหตุดังกล่าว โครงการแบบนี้อาจเป็นการประหารชีวิตแม่น้ำโดย “ตัดแม่น้ำออกเป็นพันชิ้น”

       เขื่อนมักสร้างผลกระทบต่อคุณภาพของแม่น้ำโดยการแบ่งแม่น้ำออกเป็นส่วน ๆ ความเชื่อมโยงของแม่น้ำต้องหายไป เนื่องจากมีการสร้างเขื่อนหลายๆ เขื่อนติดต่อกันซึ่งขวางกั้นกระแสการไหลของแม่น้ำ เขื่อนแบบนี้เป็นอุปสรรคอย่างสำคัญต่อการอพยพของพันธุ์ปลา และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อนิเวศวิทยาของแม่น้ำ

       แม้จะมีความเสี่ยงจากเขื่อนจำนวนหลายโครงการที่จะสร้างกั้นแม่น้ำ แต่รัฐบาลมักไม่มีข้อกำหนดให้ต้องประเมินผลกระทบในระดับลุ่มน้ำ ที่รวมเป็นผลกระทบสะสมของหลายๆ โครงการเขื่อนรวมกัน หรือมีการประเมินผลกระทบช้าเกินไป

       โครงการเขื่อน run-of-river มักเป็นการสร้างและเดินเครื่องโดยบริษัทเอกชนที่แตกต่างกัน ซึ่งมักมีข้อกำหนดให้บริษัทแต่ละแห่งต้องประเมินและจัดการผลกระทบโดยตรงเฉพาะเขื่อนที่ตนเองรับผิดชอบเท่านั้น ส่งผลให้ผู้สร้างเขื่อนและรัฐบาลมักประเมินผลกระทบสะสมต่ำกว่าความเป็นจริง ทำให้ความอุดมสมบูรณ์ในพื้นที่น้ำท่วมถึงลดลงอย่างมาก ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำอย่างฟื้นกลับคืนได้ยาก

       เป็นอีกหนึ่งเขื่อนขนาดใหญ่ในประเทศลาวที่เราควรรู้จักเอาไว้ กั้นแม่น้ำโขงเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าที่สำคัญเลยทีเดียว ใช้กระบวนการผลิตไฟฟ้าที่ปราศจากการกักเก็บน้ำไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก  

เรียบเรียงโดย : thaihitz.com ขอขอบคุณข้อมูลจาก Pai Deetes