9 สิ่งสำคัญที่คนขับรถควรรู้ และคนใช้รถส่วนใหญ่เข้าใจผิดมาตลอด

9 สิ่งสำคัญที่คนขับรถควรรู้ และคนใช้รถส่วนใหญ่เข้าใจผิดมาตลอด 

ทุกวันนี้อันตรายที่เกิดขึ้นบนท้องถนน เราจะเห็นว่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทุกวัน สาเหตุมาจากการใช้รถใช้ถนนอย่างประมาท และที่สำคัญคนขับรถบางคนยังไม่รู้จักการใช้รถที่ถูกวิธี จึงทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมา ทำลายถึงชีวิต วันนี้เราจะนำพาทุกท่านมาดูหลักในการใช้รถที่ถูกต้องเพราะ คนใช้รถส่วนใหญ่เข้าใจผิด

1. รถใหญ่ผิดเสมอ
ถ้าหากรถมอเตอร์ไซค์ชนกับรถเก๋ง หลายคนยังคงมีความคิดว่า รถเก๋งเป็นฝ่ายผิดเสมอ แต่แท้จริงแล้วนั้นไม่มีกฎหมายใดๆ บัญญัติไว้แบบนั้นว่า รถใหญ่ผิดเสมอ การตัดสินว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายผิดนั้น จะต้องอยู่บนพื้นฐานว่า ฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาท ดังนั้น สิ่งสำคัญคือการพิสูจน์ทราบให้ได้ว่าแท้จริงแล้วฝ่ายใดเป็นฝ่ายประมาท เช่น การติดตั้งกล้องหน้ารถ หรือเรียกดูภาพจากกล้องวงจรปิด เป็นต้น

2. จอดรถหันหน้าออกดีที่สุด
การจอดรถหันหน้าออกกลายเป็นเรื่องที่นิยมกระทำกันมากในยามจอดรถตามห้างสรรพสินค้า โดยเฉพาะคนที่เดินทางคนเดียว การหันหน้ารถออกช่วยให้ปลอดภัย ป้องกันโจรที่อาจจะมาดักจี้ปล้นคุณได้ แต่ในบางครั้งการจอดหันหน้ารถออก อาจจะไม่เหมาะกับที่จอดบางจุด เช่นที่จอดที่อยู่ตรงทางขึ้น-ลง เนื่องจากที่จอดตรงจุดนี้ จะเป็นที่จอดที่ต้องใช้มุมเลี้ยวเยอะมาก และไม่อำนวยในการจอดรถแบบหันหน้าออก บางทีเจอที่จอดแบบนี้ไม่ต้องเสียเวลาเขยื้อนรถทิ่มหน้าออก แต่ให้เสียบหัวไปเลยจะดีกว่า มันง่ายกว่า และก็ไม่ใช่ไม่ปลอดภัย เพราะเป็นจุดที่คนพลุกพล่าน ไม่ต้องกังวล

3. วอร์มเครื่องก่อนเดินทาง จะช่วยประหยัดน้ำมัน
เคยได้ยินมานานกันใช่ไหม กับคำว่า “วอร์มเครื่องยนต์” อันที่จริงสิ่งที่หลายคนไม่ทราบมาก่อน คือเครื่องยนต์ที่เราใช้งานในปัจจุบัน มีอุณหภูมิทำงานอยู่ในช่วงระหว่าง 85-92 องศาเซลเซียส โดยช่วงอุณหภูมิที่ว่านี้ถูกกำหนดโดยน้ำในหม้อน้ำ ซึ่งนำพาความร้อนจากห้องเผาไหม้ออกมา จุดเริ่มต้นของความคิดว่าวอร์มเครื่อง มาจากทางด้านการวิศวกรรมและมอเตอร์สปอร์ต ซึ่งจะต้องมีการติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้ก่อนการแข่งขัน หรือเบิ้ลเครื่องเพื่อให้เกิดความร้อนที่เหมาะสมก่อนการลงแข่งขัน สำหรับรถบ้าน เราไม่มีความจำเป็นต้องทำแบบนั้น เพราะการติดเครื่องยนต์ทิ้งไว้หรือเบิ้ลเครื่องอยู่กับที่ทำให้มีการสิ้นเปลืองน้ำมันโดยใช่เหตุ และการวอร์มเครื่องยนต์ที่ดีที่สุดในแบบหนึ่งคือให้เครื่องยนต์ทำงาน ซึ่งเวลาคุณขับออกจากบ้านหรือปากซอย จะมีการทำงานในรอบต่ำอยู่แล้ว มันเป็นการวอร์มเครื่องยนต์ไปในตัว ส่วนเรื่องประหยัดน้ำมันเข้ามาเกี่ยวข้องกับการวอร์มเครื่อง เนื่องจากเมื่อเครื่องยนต์ทำงานในอุณหภูมิที่ไม่ถูกต้อง จะมีการสั่งจ่ายน้ำมันเข้าสู่ห้องเผาไหม้มากกว่า เพื่อให้เกิดระดับความร้อนในการทำงานที่ถูกต้องนั่นเอง

4. เลี้ยวซ้ายผ่านตลอดทุกสี่แยก
หลายคนเข้าใจผิดว่าการเลี้ยวซ้ายบริเวณสี่แยกสามารถทำได้ตลอดทุกแยก แต่ตามกฎหมายแล้วสามารถเลี้ยวซ้ายผ่านตลอดได้ก็ต่อเมื่อมีป้ายระบุไว้เท่านั้น หากมีป้ายให้หยุดรอสัญญาณไฟ หรือสัญญาณไฟจราจรเลี้ยวซ้ายโดยเฉพาะ หรือแม้กระทั่งไม่มีป้ายใดๆติดตั้งไว้อยู่เลย ก็จำเป็นต้องรอสัญญาณไฟเขียวพร้อมกับทางตรงด้วยเช่นกัน

5. ควรใช้แตรน้อยเพื่อบ่งบอกถึงความมีมารยาททางสังคม
แตรเป็นส่วนประกอบหนึ่งของรถยนต์ ซึ่งมีไว้เพื่อใช้ส่งเสียงเตือนต่อเพื่อนร่วมทางหรือให้สัญญาณในกรณีต่างๆ การใช้แตรน้อยไม่ได้ช่วยให้คุณดูดีขึ้นในสายตาเพื่อนร่วมทางคนอื่น แต่มันสามารถช่วยคุณป้องกันเหตุได้มากกว่าที่คุณคิด แตรไม่ได้มีไว้ใช้ด่าอย่างที่คนไทยหลายคนเข้าใจ หากยังสามารถใช้ เพื่อเตือน และขอบคุณได้ด้วย ซึ่งทั้งหมด ขึ้นอยู่กับวิธีทีที่คุณกดแตรใช้มีจังหวะแบบไหน เสียงดังเท่าไร

6. ขับเร็ววิ่งขวาได้
หลายคนมีพฤติกรรมขับรถแช่ขวาเนื่องจากเห็นว่าขับรถด้วยความเร็วสูงสุดตามกฎหมายกำหนดแล้ว ไม่จำเป็นต้องหลบซ้ายเพื่อให้รถที่เร็วกว่าแซงไป ซึ่งตามหลักกฎหมายนั้น ช่องทางด้านขวาบนถนนที่มีตั้งแต่ 2 เลนขึ้นไป มีไว้สำหรับแซงเท่านั้น แม้ว่าจะใช้ความเร็วสูงสุดตามกำหนดแล้ว ก็มีความจำเป็นต้องหลบให้รถที่เร็วกว่าแซงไปอยู่ดี

7. เปิดไฟฉุกเฉิน ตอนข้ามแยกที่ไม่มีสัญญาณไฟ เพื่อบอกว่าจะตรงไป
การเปิดไฟฉุกเฉินหรือที่ชาวบ้านเรียกว่า ไฟผ่าหมากนั้น จะก่อให้เกิดความสับสนแก่เพื่อนร่วมทางทั้งด้านซ้ายและด้านขวาว่า คุณ อาจจะเลี้ยวซ้ายหรือเลี้ยวขวา ทำให้พวกเขาอาจจะขับรถออกไปยังทิศทางที่ต้องการ อย่างเช่นขับตรง หรือ ขับเลี้ยวขวา ซึ่งอาจจะก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้

8. ถุงลมนิรภัยไม่ทำงานถ้าไม่คาดเข็มขัด
มีความเป็นไปได้ 50/50 ที่เรื่องนี้จะเป็นจริงในรถยนต์บางผู้ผลิต เนื่องการใช้งานถุงลมนิรภัยให้มีประสิทธิภาพนั้น จะต้องอยู่ในจุดที่ผู้ขับขี่ได้รับการซับแรงกระแทกจากถุงลมถูกจุด ไม่เยือง ซ้ายหรือขวา ซึ่งอาจจะทำให้ถุงลมไม่สามารถสนับสนุนความช่วยเหลือได้เต็มที่ ด้วยเหตุดังกล่าวทางผู้ผลิตรถยนต์จึงวางแนวคิดในการเตือนผู้ขับขี่คาดเข็มขัดนิรภัย และจะดังต่อเนื่องจนกว่าคุณจะคาดเข็มขัดจนครบ ซึ่งในแง่ความจริงแล้วถึงลมนิรภัยทำงานคนละระบบกับตัวเตือนคาดเข็มขัด แต่หากคุณไม่คาดเข็มขัดแล้วถุงลมไม่ทำงาน อาจจะมาจากแรงชนกระทกยังไม่ถึงระดับที่ถุงลมนิรภัยจะต้องเข้ามาช่วยเหลือ

9. เข้าเกียร์อัตโนมัติตำแหน่ง P เมื่อติดไฟแดง
ในการใช้งานเกียร์อัตโนมัติ หรือเกียร์ ออโต้ ตำแหน่งเกียร์ P หรือ Park มีไว้ใช้เมื่อคุณจอดรถโดยสนิท และคิดจะไม่ขยับรถอีกเป็นระยะเวลานาน การเข้า P เมื่อติดไฟแดง ทราบมาว่า มาจากโรงเรียนสอนขับรถอิสระบางแห่งที่เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญของผู้ฝึกสอน ทั้งที่ความจริงการเข้าเกียร์ P ในกรณีที่รถติดไฟแดงนั้น นอกจากจะทำให้ใช้เวลาในการเลือกตำแหน่งเกียร์แล้ว หากเกิดเหตุสุดวิสัย เช่นรถเกิดโดนชนท้าย ระบบส่งกำลังจะได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง เนื่องจาก P จะมีการล็อคเฟืองขับเคลื่อนในเกียร์ไม่ทำงาน ทำให้เมื่อได้รับการขับเคลื่อนโดยมิได้ตั้งใจอย่างรุนแรงเกียร์จะได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ซึ่งผิดกับการเข้า D เหยียบเบรก หรือ ผลักไปที่ตำแหน่ง N รถแทบจะไม่ได้รับความเสียหายเลย หากเกิดเหตุการณ์ชนท้าย

ทั้งนี้ ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เคยเข้าใจผิดในเรื่องที่กล่าวมา ก็ควรที่จะทำความเข้าใจใหม่ได้แล้ว และก็ควรเคารพกฎจราจร มีน้ำใจบนท้องถนน เพื่อให้การใช้รถใช้ถนนปลอดภัยตลอดการเดินทาง

ขอบคุณข้อมูล : samunpraibann
เรียบเรียงโดย : อำมฤทธิ์ สุระสังข์
และ https://www.khwamjing.com/contents/4779