สอนลูกจับปลา ไม่ใช่จับปลาให้ลูก”

ข้อคิดดีๆ “สอนลูกจับปลา ไม่ใช่จับปลาให้ลูก” เพื่อให้เขามีกินมีใช้ไปตลอดชีวิต อ่านกี่ครั้งก็ไม่เบื่อ



วัยรุ่นคนหนึ่งขอเงินแม่ไปเที่ยว แม่บอกว่า “ลูกรู้ไหมว่าสมัยแม่อายุเท่าลูก ไม่เคยเที่ยวที่ไหน ต้องทำงานทุกอย่าง พับถุงกระดาษขาย ตัดใบตองให้แม่ค้า เงินทองหายาก แต่ละบาทแต่ละสตางค์ต้องอาบเหงื่อต่างน้ำ จะไปเที่ยวอย่างนี้ไม่ได้…”

เด็กฟังแม่เงียบๆ

“ลูกต้องรู้จักความลำบาก ไม่งั้นอีกหน่อยเกิดตกยากแล้วจะทำยังไง ขึ้นรถเมล์ก็ไม่เป็น ใช้เงินอย่างนี้ จะเอาตัวรอดได้ยังไง…” เมื่อแม่เทศน์จบ ก็ควักเงินยื่นให้ลูก

นี่ไม่ใช่เรื่องแต่ง พ่อแม่จำนวนมากทำอย่างนี้ เมื่อลูกขอเงินไปเที่ยว จะเทศน์ลูกหลายกัณฑ์ เล่าย้อนไปถึงชีวิตลำบากของตนในวัยเท่ากัน แล้วลงท้ายให้เงินลูกไป!

คนหาเช้ากินค่ำ สมัยก่อนไม่มีคำว่า “มรดก” ในพจนานุกรมชีวิต ทุกอย่างในชีวิตต้องหามาเองด้วยสองมือ ทว่าคนรุ่นนี้เมื่อลืมตาอ้าปากได้และเป็นพ่อแม่ มักจะทำให้ลูกเสียคนโดยไม่ตั้งใจ พ่อแม่จำนวนมากเก็บเงินเก็บทองไว้โดยไม่ยอมใช้ บอกว่า “เก็บไว้ให้ลูก”



เหตุผลอาจเพราะ พ่อแม่ไม่อยากให้ลูกผ่านความลำบากเหมือนตัวเอง การให้ทุกอย่างแก่ลูกเหมือนสะท้อนสิ่งที่ตัวเองอยากได้ในวัยเด็ก แต่มันกลับสร้างนิสัยที่ไม่สู้งานหนักไปโดยปริยาย ไม่มีเงินเป็นปัญหา มีเงินก็เป็นปัญหา!

บางครั้งและบ่อยครั้งการมีเงินมากอาจทำให้เลี้ยงลูกยากขึ้น เงินก็เหมือนคอเลสเตอรอล น้อยไปก็ไม่ดี มากไปก็อันตราย

ในสังคมบูชาคนรวยและการรวยทางลัด การอบรมสั่งสอนเด็ก เดี๋ยวนี้ยากขึ้นเรื่อยๆ เพราะสิ่งเร้ารอบตัว ทางเดียวที่จะให้เด็กโตขึ้นแล้วยืนด้วยตัวเองได้ คือต้องสอนเรื่องวินัยการใช้เงิน ไม่พอกพูนด้วยคอเลสเตอรอลแห่งวัตถุนิยมมากเกินไปจนเด็กอ่อนแอ

พ่อแม่ต้องมองภาพกว้างและมองให้ออกว่า หากให้มากเกินไปจะทำให้ลูกอ่อนแอหรือไม่ ทำอะไรไม่เป็นเลยหรือเปล่า ความรักย่อมเป็นเรื่องดี แต่ต้องรักให้ถูกวิธีด้วย

คนรวยที่ฉลาด รู้ว่าการได้เงินเป็นเรื่องง่ายกว่าการสูญเสียเงิน และคนที่ไม่รู้จักหาเงินมักเสียเงินได้ง่ายกว่า

คนที่รวยจากสมบัติที่ได้มาง่ายๆ จากมรดกอาจจะขาดความรู้สึกดีๆ ของการสร้างตัวด้วยมือตัวเอง

มีตัวอย่างจริงไม่น้อย ที่คนรวยแบ่งสมบัติครึ่งหนึ่งให้องค์กรการกุศลและที่เหลือให้ลูกหลาน เพื่อให้เด็กเรียนรู้ที่จะยืนด้วยตัวเอง มหาเศรษฐีลำดับต้นๆ ของโลก วอร์เรน บัฟเฟตต์ บอกว่า ลูกๆ ของเขาจะต้องแผ้วถางทางของพวกเขาเอง แน่นอนลูกๆ ของเขาก็รู้ว่าเขารอช่วยทุกอย่าง แต่ก็ต้องลงแรงทำงาน

บัฟเฟตต์เชื่อว่า การให้เงินทองแก่ลูกหลานด้วยจำนวนที่มากพอสบายทั้งชีวิต “เพียงเพราะพวกเขาออกมาจากมดลูกที่ถูกต้อง” เป็นเรื่องอันตราย เพราะการให้อาจทำร้ายลูก

บัฟเฟตต์จึงให้มรดกแก่ลูกหลาน “มากพอที่พวกเขารู้สึกว่าสามารถทำอะไรก็ได้ แต่ไม่มากพอที่พวกเขาไม่ต้องทำอะไรเลย”

เราต้องสอนเด็กค่านิยมชื่นชมบุคคลที่สร้างตนเองจากศูนย์ หาเงินอย่างสุจริต รู้คุณค่าของการทำงาน การสร้างตัว ไม่กลัวงานหนัก สิ่งที่ควรให้ลูกมากกว่าเงินก็คือความเอาใจใส่ รับรู้กิจกรรมที่ลูกทำ เป็นเพื่อนกับลูก นี่อาจเป็นสิ่งที่มีค่ากว่าการให้เงินอย่างเดียว



และตามสุภาษิตจีนที่ว่า “สอนลูกจับปลา ไม่ใช่จับปลาให้ลูก”

– วินทร์ เลียววาริณ –

ที่มา : https://www.facebook.com/sawarosk