สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงขอบใจทุกฝ่ายที่ร่วมปฏิบัติการช่วยทีมหมูป่าฯ ออกจากถ้ำหลวง จนสำเร็จ (ชมคลิป)
เมื่อวันที่ (13 กรกฎาคม 2561) มีรายงานว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยผ่านทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชกระแสชื่นชม โดยทรงขอบใจทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วมในปฏิบัติการช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชนและผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมี ออกจากพื้นที่ถ้ำหลวง จ.เชียงราย จนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ทรงแนะนำให้นำประสบการณ์ที่ได้มาเป็นเครื่องเตือนใจ
โดยมีใจความ ดังนี้… “น่าชื่นชมยินดียิ่งนัก ที่ปฏิบัติการช่วยเหลือนักฟุตบอลเยาวชนและผู้ฝึกสอนทีมหมูป่าอะคาเดมีออกจากถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน จังหวัดเชียงราย ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2561
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นครั้งนี้เป็นเรื่องสุดวิสัย และไม่มีผู้ใดคาดคิด ปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือจึงต้องกระทำอย่างปัจจุบันและเร่งด่วน แต่ทุกคนทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็สามารถบริหารจัดการสถานการณ์ได้อย่างดีเยี่ยม และทุกภาคส่วนก็ระดมสรรพกำลังกันมาช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน ทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ ต่างยอมเสียสละกำลังกาย กำลังปัญญา กำลังทรัพย์ และยอมสละแม้ชีวิตของตน
ส่วนผู้ประสบภัยเองนั้น ต่างก็ดูแลช่วยเหลือซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี ตลอดระยะเวลาที่เกิดเหตุ ประกอบกับการที่ประชาชนทั่วโลกก็ส่งกำลังใจมายังผู้ประสบภัยและผู้ปฏิบัติการช่วยเหลืออย่างท่วมท้น จึงกล่าวได้ว่า ปฏิบัติการครั้งนี้แม้จะมีความยากลำบาก แต่ก็มีสิ่งที่ดีและมีคุณค่าบังเกิดขึ้นอย่างไม่อาจประมาณได้
ข้าพเจ้าขอขอบใจทุกคนทุกฝ่ายเป็นอย่างยิ่ง และหวังว่าเหตุการณ์ครั้งนี้จะเป็นเครื่องเตือนใจที่จะทำให้ทุกคนได้เรียนรู้จากประสบการณ์ว่า การบริหารจัดการที่ดี การใช้ความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญ ให้พอเหมาะพอดีกับสถานการณ์ การปฏิบัติตนและปฏิบัติการอย่างรอบคอบ มีวินัย มีสติ ตลอดจนการรู้หน้าที่ของตน
และปฏิบัติหน้าที่ให้ประสานส่งเสริมกับทุกคนทุกฝ่ายโดยเต็มกำลังเป็นเครื่องมืออย่างสำคัญ ที่จะสามารถนำไปใช้แก้ไขอุปสรรคปัญหา รวมทั้งพัฒนาบ้านเมืองของเราได้ และการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้วยความรักความปรารถนาดีต่อกันนั้น เป็นพลังอันยิ่งใหญ่ ที่จะทำให้มวลมนุษยชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างผาสุกยั่งยืนตลอดไป”
อีกทั้งก่อนหน้านี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ พล.อ.ท.ภักดี แสงชูโต ผู้ช่วยราชการเลขานุการในพระองค์ เชิญแจกันดอกไม้พร้อมด้วยถุงพระราชทาน จำนวน 17 ชุด ไปมอบให้กับครอบครัวนักฟุตบอลเยาวชนทีมหมูป่าอคาเดมีและผู้ฝึกสอน
รวมทั้งผู้แทนหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ และแพทย์เพื่อสร้างขวัญกำลังใจให้ผู้ประสบภัย ครอบครัว และเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน สร้างความปลื้มปีติและซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเมื่อวานที่ผ่านมาเวลา 18.00 น. ที่ อบต.โป่งผา อ.แม่สาย
นายณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร ผบ.ศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหาย พร้อมด้วยผู้เกี่ยวข้องจากฝ่ายต่างๆ ร่วมแถลงปิดศูนย์อำนวยการร่วมค้นหาผู้สูญหาย โดยนายณรงค์ศักดิ์กล่าวในช่วงหนึ่งว่า หลังจากเปิดศูนย์ปฏิบัติการ 17 วัน
จากปฏิบัติการอิมพอสซิเบิ้ล กลายเป็นปฏิบัติการพอสซิเบิ้ลไปแล้ว การปฏิบัติการครั้งนี้เป็นของทุกภาคส่วน เช่น ทีมดำน้ำมาจากต่างประเทศ 1 ใน 4 จะรวบรวมฐานข้อมูลว่าเป็นใครอยู่ที่ไหนบ้าง หากมีเหตุการณ์เช่นนี้อีก
จะได้ทราบว่ามีบุคลากรทรงคุณค่าของโลกนี้อยู่ตรงไหนบ้าง ส่วนเครื่องมืออุปกรณ์ จะรวบรวมไว้ โดยพื้นที่ตรงถ้ำหลวง จะรวบ รวมภาพและเรื่องราวเอาไว้ ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต ให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยียน ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในระหว่างการแถลง
เจ้าหน้าที่เปิดคลิปวิดีโอทีมหมูป่าขณะพักรักษาตัวอยู่ที่ ร.พ.เชียงรายประชานุเคราะห์ แต่ละคนมีอาการดีขึ้น นอนอยู่บนเตียงโบกมือทักทาย มีสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส และมีบรรดาพ่อแม่ ผู้ปกครองไปเยี่ยมผ่านห้องกระจกกั้น
ขณะเดียวกัน เฟซบุ๊กเพจของหน่วยซีล กองทัพเรือ โพสต์คลิปวิดีโอ ระบุว่าปฏิบัติการที่โลกต้องจดจำ เป็นภาพภายในถ้ำหลวง นาทีนักดำน้ำกู้ภัยนานาชาติ กับหน่วยซีลช่วยกันลำเลียงนำสมาชิกทีมหมูป่าออกจากถ้ำ
โดยเด็กๆ นอนอยู่ในเปลกู้ภัย และสวมหน้ากากดำน้ำ ผบ.ซีลเผยเด็กๆ แค่นอนหายใจ โดย พล.ร.ต.อาภากร อยู่คงแก้ว ผบ.หน่วยบัญชาการสงครามพิเศษทางเรือ แถลงถึงประเด็นและวิธีการนำตัวออกจากถ้ำว่า เมื่อเด็กออกจากเนินนมสาว
จะใส่หน้ากากและต่อกับขวดออกซิเจน โดยมีนักดำน้ำประกบเป็นคู่ออกมา ตอนนั้นต้องใช้วิธีการไม่ให้เด็กตื่นตระหนก ก่อนนำพามาเรื่อยๆ แต่ที่เห็นในเปล เมื่อมาถึงโถง 3 และปากถ้ำต้องใช้แรงพอสมควร ไม่อยากให้น้องๆ เดิน บางคนก็มีสติ
บางคนก็นอนหลับไป อย่างนักดำน้ำบางคนก็ยังหนาวมาก น้องๆ แค่นอนหายใจมาเท่านั้น และมีคนพามา น้องๆ อยู่เฉยๆ เท่านั้น ทำตัวนิ่งๆ และลอยมาเฉยๆ และนำพามา โดยโค้ชเอกไม่ได้ออกมาเป็นคนสุดท้าย และจำไม่ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่าใช้ยาประเภทไหน พล.ร.ต.อาภากรกล่าวว่าทีมงานเป็นมืออาชีพ ไม่ได้ถามรายละเอียด เจ้าหน้าที่มีวิธีการดำน้ำในถ้ำ ต่อข้อถามว่าคุณหมอริชาร์ด แฮร์ริส เป็นผู้ตัดสินใจใช้ยาใช่หรือไม่ ผบ.หน่วยซีลกล่าวว่าทีมงานเป็นคนคุย
ว่าตัดสินใจอย่างไร ขณะที่นายณรงค์ศักดิ์ ผบ.ศูนย์อำนวยการร่วม กล่าวว่าส่วนที่ห่อไว้เป็นผ้าห่มฟอยล์ เพราะอุณหภูมิในน้ำต่ำมาก กระบวนการบางเรื่องต้องให้เกียรติกัน เราปฏิบัติตามหลักสากล และทั้ง 13 ชีวิตอยู่รอดและปลอดภัย
ซึ่งก่อนหน้านี้มท.1เผยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรับสั่งถอดบทเรียนกู้ภัยทำบันทึกเขียนแผนไว้ ยกเป็นตัวแบบนำไปใช้กันได้ทั้งในถ้ำ-บนบก เมื่อเวลา 09.15 น. วันที่ 10 ก.ค. ที่ทำเนียบรัฐบาล พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย
กล่าวถึงการถอดบทเรียนจากเรื่องนี้ ว่า ทีมดำน้ำในวันที่ตัดสินใจทำเขาประชุมกันก่อนโดยบรีฟเรื่องสถานการณ์ จากนั้นเป็นการเตรียมการทั้งซีลไทย ซีลฝรั่ง หมอ ซึ่งเขาพูดว่ายังไม่เคยมีใครทำสถานการณ์เช่นนี้มาก่อน
ถือเป็นประสบการณ์ของเขาเช่นกัน ที่เขาสนใจคือเรื่องพร่องน้ำ สูบน้ำ ลดน้ำ เราเองก็อยากได้ความรู้เรื่องการดำน้ำในถ้ำจากเขา หมอเองก็บอกว่ายังไม่เคยทำ ดังนั้นต้องประเมินความเสี่ยง เป็นการพูดคุยกันเพื่อการตัดสินใจทำในวันนั้น
“ที่ขอย้ำอีกครั้งหนึ่งตัวที่เป็นปัจจัยในการตัดสินใจทำคือระดับออกซิเจนในถ้ำ เรื่องระดับน้ำ เรื่องความแข็งแรงของเด็ก และเด็กดำน้ำได้หรือไม่ ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยทั้งหมด ประกอบกับสถานะการณ์ที่เหมาะสมด้วย ตอนนี้ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่น่าจะตัดสินใจทำ ออกซิเจนยังไม่ลดไปมากกว่านี้
และถ้าตัดสินใจช้าไปก็จะเป็นวิกฤต แล้วถ้าเด็กป่วยก็จะทำไม่ได้ ดังนั้นจึงมองว่าเป็นโอกาสที่ดีที่สุด จึงตัดสินใจทำ” มท.1 กล่าว ผู้สื่อข่าวถามถึงกรณีที่กระทรวงมหาดไทยอาจยกระดับแผนกู้ภัยขึ้นเป็นสถาบัน มท.1 กล่าวว่า
“เรื่องนี้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับสั่งมาในเรื่องการบริหารจัดการ ให้ถอดบทเรียนและจัดทำบันทึกเขียนแผนไว้ ผมเข้าใจว่าน่าจะเป็นโมเดล เป็นตัวแบบ ที่จะต้องนำไปใช้กันได้ทั้งในถ้ำและบนบก เตรียมแผนในการฝึก ซึ่งผมก็คุยกับทางกองทัพเรือว่าอาจจะส่งคนไปเรียนเรื่องดำน้ำในถ้ำ
เพราะตอนนี้มีเพียงการดำน้ำในทะเลหรือน้ำจืด แต่ในถ้ำยังมีประสบการณ์น้อย เพราะมันจะมีเทคนิคและเครื่องมือที่แตกต่างกัน เชื่อว่าคงได้ประโยชน์จากการนี้ ส่วนการประกาศพื้นที่สาธารณภัย ก็เป็นไปตามขอบเขตคือทั้งประเทศมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน
จากนั้นลดหลั่นไปตามจังหวัด อำเภอ เทศบาล ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายบรรเทาสาธารณภัย อย่างไรก็ตาม สำหรับแผนหรือการบรรเทาสาธารณภัยในเหตุต่างๆนั้นมีอยู่แล้ว อาทิ ไฟไหม้ สึนามิ แผ่นดินไหว แต่ติดถ้ำนี้จะเป็นอีกเคสหนึ่งที่ต้องทำขึ้นใหม่