กระดูกพรุน แก้ง่ายเพียงเติมแคลเซียมจริงหรือ?

อ.นพ.พัชรพล  อุดมเกียรติ
ภาควิชาศัลยศาสตร์ออร์โธปิดิคส์และกายภาพบำบัด
Faculty of Medicine Siriraj Hospital
คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

ยังมีหลายคนเชื่อว่าเมื่อกระดูกพรุนมีวิธีแก้ง่าย ๆ คือ รับประทานอาหารที่มีแคลเซียมเพื่อไปซ่อมแซมกระดูก ดังนั้นประโยคยอดฮิตที่เคยได้ยิน คือ "ดื่มนม และรับประทานอาหารที่มีแคลเซียมให้มากเข้าไว้" แต่ความจริงแล้วร่างกายต้องการแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสม มากไปก็ไม่ดี น้อยไปก็ไม่ดี ดังนั้นการคิดเพียงว่าเติมแคลเซียมเข้าร่างกายมาก ๆ เมื่อกระดูกพรุนจึงไม่ใช่วิธีที่ถูกนัก โดยเฉพาะในผู้ป่วยโรคไต ซึ่งไม่สามารถขับแคลเซียมส่วนเกินออกได้ ก่อนอื่นเราควรทราบถึงปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกพรุนเสียก่อน ซึ่งปัจจัยบางอย่างก็เป็นสิ่งที่คาดไม่ถึง ได้แก่
  1. การสูบบุหรี่ เพราะแคลเซียมมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสมดุลระหว่างค่าความเป็นกรด - ด่างของเลือด หากสูบบุหรี่ร่างกายจะมีภาวะเป็นกรด แคลเซียมจะเข้ามามีบทบาทในการสะเทินฤทธิ์กรดจากบุหรี่ ดังนั้นบุหรี่ทุก ๆ มวนจึงเป็นตัวที่ทำให้แคลเซียมละลายจากกระดูก
  2. แอลกอฮอล์ จะขัดขวางการดูดซึมแคลเซียมในระบบทางเดินอาหาร ส่งผลกระทบต่อตับในการกระตุ้นวิตามินดีที่มีบทบาทสำคัญในดูดซึมแคลเซียมหย่อนสมรรถภาพ
  3. เครื่องดื่มที่มีสารคาเฟอีน อาทิ ชา กาแฟ ช็อกโกแลต ทำให้ร่างกายขับแคลเซียมออกมากเกินไป
  4. น้ำอัดลม แม้จะรสชาติน่าดื่มแต่ทราบหรือไม่ส่วนผสมที่ชื่อ "กรดฟอสฟอริก" เพื่อให้เกิดฟองฟู่ในเครื่องดื่มประเภทนี้เกิดจากการผสมระหว่าง กรดฟอสฟอรัสและกำมะถัน (โดยปกติแคลเซียมในร่างกายจะต้องทำงานร่วมกับเกลือแร่อื่นโดยเฉพาะฟอสฟอรัส ในภาวะปกติ ร่างกายจะต้องพยายามรักษาสัดส่วนของแคลเซียมและฟอสฟอรัส 2:1 หากฟอสฟอรัสมากเกินไป ร่างกายก็จำเป็นต้องสลายแคลเซียมออกจากคลังกระดูกมาทำสะเทินฟอสฟอรัสในเลือด เพื่อป้องกันไม่ให้ฟอสฟอรัสสูงเกินไปจนส่งผลอันตรายต่อชีวิต) นอกจากนี้ยังพบฟอสฟอรัสมากในเนื้อสัตว์ นมและเนย
  5. เกลือ ต้องบริโภคในปริมาณที่เหมาะสม หากมากเกินไปจะทำให้แคลเซียมสลายตัว
  6. ยาเคลือบกระเพาะ โดยทั่วไปยาชนิดนี้มีส่วนผสมของอะลูมิเนียม ซึ่งเร่งให้ร่างกายขับแคลเซียม ดังนั้นหากจำเป็นต้องรับประทานเป็นเวลานานควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ
  7. ไม่ออกกำลังกาย ท่านคงทราบถึงข้อดีนานับประการของการออกกำลังกาย แต่ทราบหรือไม่ หากออกกำลังกายที่มีแรงโน้มถ่วงของโลกมามีส่วนด้วย เช่น วิ่งอย่างสม่ำเสมอ จะส่งผลให้มวลของกระดูกเพิ่มปริมาณขึ้นได้
  8. ขาดวิตามินดีจากแสงอาทิตย์ วิตามินดี ช่วยระบบในการดูดซึมของแคลเซียมจากทางเดินอาหาร กระดูกจึงไม่พรุนก่อนวัยอันควร
  9. รับประทานโปรตีนมากเกินไป

หากร่างกายได้รับโปรตีนมากเกินไปก็จำเป็นต้องขับออกโดยสลายกรดอะมิโนในตับให้กลายเป็นสารยูเรียแล้วออกมาพร้อมปัสสาวะ และการขับยูเรียทางปัสสาวะร่างกายต้องสูญเสียเกลือแร่ไปมาก (รวมทั้งแคลเซียมด้วย) จึงเป็นอีกสาเหตุที่กระดูกพรุนได้
โดยทั่วไปคนเราต้องการแคลเซียมประมาณ 1,000 - 1,500 มิลลิกรัม / วัน ดังนั้น การป้องกันการเกิดกระดูกพรุนที่ถูกต้องจึงควรประกอบด้วย การรับประทานแคลเซียมในปริมาณที่เหมาะสม ร่วมกับ การงดเว้นปัจจัยเสี่ยงที่กล่าวไว้ข้างต้น และหากมีข้อสงสัย ควรปรึกษาแพทย์กระดูกเพื่อการป้องกันและรักษาที่ถูกต้องต่อไป

อ่านบทความเพิ่มเติม >>>>>  SIRIRAJ  E-PUBLIC  LIBRARY
ขอบคุณเนื้อหาจาก คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพประกอบจาก istockphoto