โพรไบโอติกยี่ห้อไหนดี ปี 2023 เสริมความปังสุขภาพด้วยจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกาย

 

   โพรไบโอติก ช่วยอะไรในเรื่องสุขภาพของเรานอกจากเสริมการขับถ่ายบ้าง แล้วถ้าจะกินทั้งที เลือกโพรไบโอติกยี่ห้อไหนดี

   Probiotic คือ จุลินทรีย์ชนิดที่ดีต่อร่างกาย โดยจะพบโพรไบโอติก ได้ในระบบทางเดินอาหาร ลำไส้ รวมไปถึงช่องคลอด แต่นอกจากในร่างกายเราแล้ว ก็ยังมีอาหารอย่างโยเกิร์ต นมเปรี้ยว กิมจิ หรือมิโสะ ที่มีโพรไบโอติกด้วยเช่นกัน ส่วนใครที่สงสัยว่าโพรไบโอติกช่วยอะไร ดียังไงต่อร่างกาย เรามีข้อมูลดี ๆ มาไขข้อข้องใจ พร้อมกับเช็กไปด้วยเลยว่าโพรไบโอติกยี่ห้อไหนดี

โพรไบโอติกช่วยอะไร
มีประโยชน์แค่ไหนต่อร่างกาย

โพรไบโอติก

          โพรไบโอติกหรือที่บางคนเรียกว่าโปรไบโอติก (Probiotic) มีประโยชน์ต่อร่างกายหลายด้านเลยทีเดียว เช่น

  • ดีต่อระบบขับถ่าย เพิ่มความคล่องตัวในการขับถ่าย
  • ช่วยลดอาการลำไส้แปรปรวน บรรเทาอาการท้องผูกและท้องเสีย
  • ช่วยปรับสมดุลการย่อยอาหารให้มีการทำงานดีขึ้น แก้ปัญหาท้องอืด
  • สร้างเกราะป้องกันบริเวณเยื่อบุลำไส้ ไม่ให้เชื้อโรคหลุดลอดออกจากทางเดินอาหารเข้าสู่ร่างกาย
  • สร้างค่า pH ให้ลำไส้เป็นกรด เพื่อไม่ให้แบคทีเรียก่อเกิดโรคเข้ามาเจริญเติบโตในร่างกาย
  • กระตุ้นให้ร่างกายสร้างสารต่อต้านหรือกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ไม่ดีออกไปผ่านการขับถ่าย
  • เติมจุลินทรีย์ชนิดดีเข้าสู่ร่างกาย ลดจำนวนจุลินทรีย์ชนิดไม่ดี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกันให้แข็งแรงขึ้นได้

          ดังนั้นถ้าขาดโพรไบโอติก ร่างกายจะอ่อนเพลียได้ง่าย ระบบย่อยอาหารแปรปรวน มีอาการท้องเสียหรือท้องผูกเรื้อรัง ภูมิคุ้มกันต่ำลง เสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะคนที่มีพฤติกรรมชอบรับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์กับร่างกายมากเกินไป เช่น อาหารที่มีน้ำตาลสูง แป้งที่ผ่านการขัดสี อาหารที่ตัดแต่งสารพันธุกรรม ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมทั้งพฤติกรรมสูบบุหรี่ นอนหลับไม่สนิท ไม่ออกกำลังกาย มีภาวะเครียด และกินยาปฏิชีวนะมากเกินไป ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้โพรไบโอติกในร่างกายลดลงได้นะคะ

โพรไบโอติก
ต่างกับพรีไบโอติกยังไง

         พรีไบโอติก คืออาหารของโพรไบโอติก โดยโพรไบโอจะย่อยพรีไบโอติกในลำไส้ใหญ่ ดังนั้นหากเรากินอาหารที่มีพรีไบโอติกเยอะก็จะช่วยทำให้จุลินทรีย์โพรไบโอติกเจริญเติบโตแข็งแรง และมีปริมาณมากพอที่จะส่งผลดีต่อสุขภาพ ซึ่งอาหารที่มีพรีไบโอติกก็ได้แก่ หอมแดง กระเทียม หน่อไม้ฝรั่ง ถั่วเหลือง ถั่วแดง เห็ดหอม ฝรั่ง ส้ม แอปเปิล เป็นต้น

โพรไบโอติกในรูปอาหารเสริม
มีกี่แบบ

          อาหารเสริมโพรไบโอติกต่าง ๆ ตามท้องตลาดมีสายพันธุ์จุลินทรีย์โพรไบโอติกเป็นส่วนผสมทั้งรูปแบบผงแป้ง แคปซูล หรือยาเม็ดเคี้ยว เช่น 
  • แล็กโทบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส (Lactobacillus Acidophilus) จุลินทรีย์ที่มีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร แก้ปัญหาท้องอืด จุกเสียด ลดอาการลำไส้แปรปรวน ดีต่อระบบขับถ่ายและระบบทางเดินปัสสาวะ 

  • แล็กโทบาซิลลัส เคซิไอ (Lactobacillus Casei) จุลินทรีย์ที่ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้ร่างกาย รวมทั้งมีสรรพคุณช่วยย่อยอาหาร รักษาสมดุลลำไส้ รักษาอาการท้องร่วง และลดอาการท้องผูก 

  • บิฟิโดแบคทีเรีย (Bifidobacteria) จุลินทรีย์ที่มีสรรพคุณช่วยควบคุมน้ำตาลและไขมันในเลือด กระตุ้นการดูดซึมอาหารและระบบขับถ่าย เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดน้ำหนัก อีกทั้งยังช่วยเพิ่มเซลล์เม็ดเลือดขาว รักษาอาการผิดปกติของทางเดินอาหาร ช่วยป้องกันมะเร็งลำไส้ 

  • บาซิลลัส (Bacillus) จุลินทรีย์ที่มีสรรพคุณช่วยเสริมภูมิคุ้มกันร่างกาย ลดการติดเชื้อทางเดินอาหาร ช่วยให้การย่อยอาหารมีประสิทธิภาพ ลดอาการลำไส้แปรปรวน

โพรไบโอติกกินตอนไหน
ควรกินปริมาณเท่าไรดี

โพรไบโอติก

          เราควรกินโพรไบโอติกก่อนมื้ออาหาร หรือระหว่างมื้ออาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกทำลายโดยน้ำย่อยหรือยาบางชนิด เนื่องจากช่วงก่อนอาหาร กระเพาะจะมีความเป็นกรดต่ำ โอกาสที่โพรไบโอติกจะถูกทำลายจากน้ำย่อยจึงลดลง และควรกินโพรไบโอติกกับน้ำอุณหภูมิห้องหรือน้ำเย็น เพื่อช่วยดึงประสิทธิภาพโพรไบโอติกได้มากขึ้น

          นอกจากนี้ก็ควรรับประทานโพรไบโอติกในปริมาณที่เหมาะสม คือ ประมาณ 10-20 พันล้านตัวต่อวัน หรืออย่างต่ำควรได้รับ 10,000 ล้าน CFU ต่อวัน โดยสามารถเช็กจำนวนโพรไบโอติกได้จากฉลากสินค้า เช่น ฉลากนมเปรี้ยว ฉลากโยเกิร์ต หรือฉลากอาหารเสริมโพรไบโอติกเลยค่ะ

โพรไบโอติกมีผลข้างเคียงไหม

           โพรไบโอติกเป็นจุลินทรีย์ที่ดีต่อร่างกาย การรับประทานอาหารที่มีโพรไบโอติกหรืออาหารเสริมโพรไบโอติกจึงค่อนข้างปลอดภัย แต่หากเพิ่งเริ่มเสริมโพรไบโอติกให้ร่างกายในช่วงแรก ๆ อาจมีอาการปวดท้อง ถ่ายเหลว ท้องอืด ได้บ้าง แต่พอเริ่มปรับตัวได้อาการก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นได้เอง

           แต่อย่างไรก็ตาม ในบางคนอาจพบอาการปวดหัว มีผื่นคันตามผิวหนัง ซึ่งมักพบได้ในคนที่รับประทานโพรไบโอติกเกิดขนาดที่แนะนำ และหากพบอาการผิดปกติดังกล่าว ให้หยุดรับประทานทันทีและรีบไปพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุของอาการนะคะ

โพรไบโอติก
ไม่เหมาะกับคนกลุ่มไหนบ้าง

          แม้ว่าร่างกายมนุษย์จะมีโพรไบโอติกกันอยู่แล้ว ทว่าในบางคนก็ไม่ควรรับโพรไบโอติกเสริมจากที่มีอยู่นะคะ โดยเฉพาะคนในกลุ่ม ดังนี้

  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เช่น ผู้ป่วยมะเร็งที่กำลังรับยาเคมีบำบัด เป็นต้น
  • ผู้ที่อยู่ในภาวะเจ็บป่วยวิกฤต
  • ผู้ที่เพิ่งผ่านการผ่าตัดใด ๆ มา

วิธีเลือกซื้อโพรไบโอติก

           1. เลือกจากวิธีรับประทาน เช่น แบบผงแป้ง หรือแบบเม็ด

  • แบบผงแป้ง จะต้องนำไปชงกับน้ำแล้วดื่ม บางยี่ห้ออาจจะมีกลิ่นหรือรสชาติบางอย่างที่ไม่ถูกใจนัก แต่ก็เหมาะกับคนที่กลืนยาเม็ดไม่สะดวก
  • แบบผงแป้งชนิดกรอกปาก สามารถรับประทานเปล่า ๆ ได้เลย ไม่ต้องละลายน้ำก่อน ค่อนข้างสะดวก แต่มีแค่เฉพาะบางยี่ห้อเท่านั้น
  • แบบเจลลี่ เคี้ยวง่าย เหมาะกับคนที่ชอบกินขนมหรือกินจุบจิบ แต่โพรไบโอติกชนิดเจลลี่อาจยังมีไม่มากในบ้านเรา
  • แบบเม็ดหรือแคปซูล มีทั้งแบบเคี้ยวและแบบกลืน รับประทานได้สะดวกกว่าแบบผงแป้ง แต่ขนาดบรรจุจะน้อยกว่า จึงอาจได้รับจุลินทรีย์จำนวนน้อยกว่า

          2. เลือกตัวเชื้อจุลินทรีย์ที่เราต้องการมาเป็นส่วนประกอบ เช่น แล็กโทบาซิลลัส เหมาะสำหรับกระตุ้นระบบขับถ่าย ส่วนบิฟิโดแบคทีเรีย เหมาะสำหรับกระตุ้นภูมิคุ้มกัน บรรเทาอาการลำไส้แปรปรวน เป็นต้น

          3. เลือกจากปริมาณเชื้อจุลินทรีย์ โดยปริมาณเชื้อแบคทีเรียต่อซองไม่ควรต่ำกว่า 1,000 ล้าน CFU (Colony Forming Unit) โดยเฉพาะเชื้อกลุ่มที่ไม่มีเกราะหุ้มที่จะตายจากกรดในกระเพาะอาหารก่อนถึงลำไส้ เช่น แล็กโทบาซิลลัสและบิฟิโดแบคทีเรีย จึงต้องรับประทานในปริมาณสูงต่อวัน แต่ถ้าเป็นเชื้อแบคทีเรียที่มีเกราะหุ้มพิเศษ เช่น บาซิลลัส โคแอกกูแลน มีความหนาแน่นของเชื้อแบคทีเรีย 1,000-2,000 ล้าน CFU ก็เพียงพอ

          4. ตรวจสอบว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีการเสริมใยอาหาร พรีไบโอติกหรืออาหารของแบคทีเรียโพรไบโอติกรวมอยู่ด้วยเสมอ หรือเรียกว่าซินไบโอติก (Synbiotic) ซึ่งจะช่วยให้โพรไบโอติกทำงานได้ดีขึ้น

          5. ตรวจสอบข้อมูลบนกล่องของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ดังนี้

  • อ่านฉลากหลังกล่องว่ามีเลข อย. หรือไม่เพื่อความปลอดภัย
  • มีการระบุชื่อสายพันธุ์โพรไบโอติกหรือไม่ เพื่อกันการแอบอ้างหรือโดนหลอก
  • ระบุวิธีการใช้และวิธีเก็บรักษา
  • ตรวจสอบวันหมดอายุ และบรรจุภัณฑ์ไม่มีรอยฉีกขาดหรือรอยรั่วเพื่อป้องกันสิ่งสกปรก

โพรไบโอติกยี่ห้อไหนดี ปี 2023

          อาหารเสริมโพรไบโอติกยี่ห้อไหนดี เรารวมมาให้ตรงนี้แล้ว

1. Lacto-Fit Probiotic

โพรไบโอติก

ภาพจาก : JD CENTRAL

          โพรไบโอติกเกาหลีตัวดังในโซเชียล เพราะมีทั้งโพรไบโอติกชนิดแลคโตบาซิลลัส 5 สายพันธุ์ มีจุลินทรีย์กว่า 1,000 ล้านตัว พร้อมด้วยพรีไบโอติก ที่เคลมว่าเป็นสูตรเฉพาะของแล็กโตฟิตเท่านั้น ไม่มีส่วนผสมของน้ำตาล โดยโพรไบโอติกยี่ห้อนี้เน้นในเรื่องขับถ่ายคล่องตัว ดูแลลำไส้ เสริมภูมิคุ้มกัน พร้อมกับช่วยดูแลผิวพรรณ

  • รูปแบบ : โพรไบโอติกชนิดผง รับประทานได้ทันที ไม่ต้องชงกับน้ำ
  • ขนาด : 1 กล่อง บรรจุ 10 ซอง
  • วิธีรับประทาน : ฉีกซองรับประทานได้ทันที วันละ 3-4 ซอง
  • ราคาปกติ : กล่องละ 129 บาท (บรรจุ 10 ซอง)

2. Probalance Probiotic Jelly

โพรไบโอติก

ภาพจาก : probalancethai.com

         โพรไบโอติกญี่ปุ่นที่ดังพอ ๆ กับโพรไบโอติกเกาหลีตัวข้างบน โดยยี่ห้อนี้จะมีจุลินทรีย์ 10,000 ล้าน CFU ซึ่งทางแบรนด์เคลมว่าเป็นโพรไบโอติกสายพันธุ์ Super Probiotic จากประเทศญี่ปุ่นที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพสูง เน้นประโยชน์ในด้านช่วยดูแลการขับถ่าย ช่วยย่อยอาหาร ลดอาการท้องผูก อาการลำไส้แปรปรวน สร้างเสริมภูมิคุ้มกัน อ้อ ! ยี่ห้อนี้ก็ไม่ผสมน้ำตาลนะคะ

  • รูปแบบ : โพรไบโอติกชนิดเจลลี่
  • ขนาด : 1 กล่อง บรรจุ 20 ซอง
  • วิธีรับประทาน : รับประทาน 1 ซอง หลังตื่นนอน ตอนท้องว่าง โดยสามารถฉีกซองรับประทานได้เลย
  • ราคาปกติ : 889 บาท

3. นิวทริไลท์ โพรไบโอติก

โพรไบโอติก

ภาพจาก : Amway

          โพรไบโอติกแอมเวย์ ที่เป็นแบรนด์อาหารเสริมในยุคแรก ๆ ของไทย ตัวนี้มีจุลินทรีย์ชนิดดีหลากชนิด ได้แก่ บิฟิโดแบคทีเรียม แล็กทิส, แล็กโทบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส และแล็กโทบาซิลลัส พาราคาเซอิ เน้นปรับสมดุลร่างกายให้ลำไส้ทำงานปกติ แก้ปัญหาท้องอืดท้องเฟ้อ และช่วยในการขับถ่าย

  • รูปแบบ : โพรไบโอติกชนิดผง เทผสมน้ำ
  • ขนาด : 1 กล่อง (บรรจุ 30 ซอง)
  • วิธีรับประทาน : เทโพรไบโอติก 1 ซอง ลงในน้ำอุณหภูมิห้องปริมาณ 150 มิลลิลิตร ชงให้เข้ากันแล้วดื่มภายใน 5 นาที
  • ราคาปกติ : 1,815 บาท

4. Blackmores Probiotics+Daily Balance

โพรไบโอติก

ภาพจาก : blackmores.co.th

           แบลคมอร์ส โพรไบโอติก + เดลี่ บาลานซ์ แบรนด์อาหารเสริมอีกยี่ห้อที่คนไทยคุ้นเคยกันดี โดยโพรไบโอติกยี่ห้อนี้เป็นชนิดบิฟิโดแบคทีเรียม แล็กทิส, แล็กโทบาซิลลัส แอซิโดฟิลัส และแล็กโทบาซิลลัส พาราคาเซอิ และอินูลิน นอกจากนี้ยังมีพรีไบโอติก ทั้งหมด 71.85 พันล้าน CFU ต่อกรัม เน้นในเรื่องช่วยฟื้นฟูและปรับสมดุลของระบบย่อยอาหาร กระตุ้นระบบขับถ่าย

  • รูปแบบ : โพรไบโอติกชนิดแคปซูล
  • ขนาด : 1 ขวด บรรจุ 30 แคปซูล
  • วิธีรับประทาน : รับประทานพร้อมอาหาร วันละ 1 แคปซูล
  • ราคาปกติ : 1,650 บาท

5. MeridLife TOTAL : flora Probiotic Mango

โพรไบโอติก

ภาพจาก : เฟซบุ๊ก MeridLife TOTAL : flora Probiotic

          โพรไบโอติกยี่ห้อเมอริดไลฟ์ รสชาติมะม่วงเม็กซิโก กล่องสีเหลืองสูตรมาตรฐาน กล่องนี้จะมีโพรไบโอติก 20 พันล้านเซลล์ และแลคติกแอซิดแบคทีเรีย 22 พันล้านเซลล์ เน้นช่วยสนับสนุนการทำงานของระบบย่อยอาหารและระบบภูมิคุ้มกัน และยังมีรีวิวที่ช่วยเรื่องผิวพรรณ กินแล้วความสิวความหน้ามันก็ลดลง แถมยังดังมาก ๆ ในประเทศไต้หวัน ซึ่งเป็นต้นทางของแบรนด์นี้ด้วย

  • รูปแบบ : โพรไบโอติกชนิดผง รับประทานได้ทันที ไม่ต้องชงกับน้ำ
  • ขนาด : 1 กล่อง บรรจุ 15 ซอง
  • วิธีรับประทาน : รับประทานได้ทันทีก่อนอาหารเช้า และควรดื่มน้ำตามมาก ๆ
  • ราคาปกติ : 885 บาท

6. MEDIRA Probiotic+

โพรไบโอติก

ภาพจาก : 4care.co.th

          โพรไบโอติกยี่ห้อเมดิร่า โพรไบโอติกพลัส เป็นอาหารเสริมที่รวมโพรไบโอติกและพรีไบโอติกไว้ในเม็ดเดียว เหมาะกับคนที่ต้องการโพรไบโอติกสายสตรอง เพราะประกอบด้วยโพรไบโอติกบาซิลลัส โคแอกกูแลน จุลินทรีย์ดีสายสตรอง 500 ล้านตัว/เม็ด และพรีไบโอติกอินนูลิน 556 มิลลิกรัม/เม็ด ซึ่งจัดเป็นโพรไบโอติกที่มีความแข็งแกร่งในตัวเอง ทนต่ออุณหภูมิ และทนต่อกรดในกระเพาะอาหาร ใครที่ธาตุหนัก ขับถ่ายไม่คล่อง หรือมีอาการลำไส้แปรปรวนก็ลองเสริมโพรไบโอติกชนิดนี้เข้าไปได้

  • รูปแบบ : โพรไบโอติกชนิดเม็ด สำหรับเคี้ยว (รสชาติโยเกิร์ต)
  • ขนาด : 1 หลอด บรรจุ 15 เม็ด
  • วิธีรับประทาน : รับประทานวันละ 1-2 เม็ด โดยเคี้ยวให้ละเอียดก่อนกลืน
  • ราคาปกติ : 210 บาท

7. Bomi Probiotics

โพรไบโอติก

ภาพจาก : bomiprobiotics.com

           โพรไบโอติกเกาหลีอีกยี่ห้อที่กำลังมาแรงมาก ๆ มาในรูปแบบเทคโนโลยีเคลือบแบคทีเรีย 4 ชั้น เพื่อป้องกันแบคทีเรียถูกทำลายโดยกรดในกระเพาะอาหาร โดยแบรนด์นี้เขามีโพรไบโอติก 16,000 ล้านตัว 8 สายพันธุ์ นอกจากนี้ยังมีพรีไบโอติก Zinc และวิตามินซีแถมมาด้วย เน้นช่วยทั้งเรื่องการขับถ่าย การปรับสมดุลลำไส้ ต้านอนุมูลอิสระ เสริมภูมิคุ้มกันและดูแลผิวพรรณ

  • รูปแบบ : โพรไบโอติกชนิดผง รับประทานได้ทันที ไม่ต้องชงกับน้ำ
  • ขนาด : 1 กล่อง บรรจุ 14 ซอง
  • วิธีรับประทาน : รับประทานวันละ 1 ซอง หลังอาหาร
  • ราคาปกติ : 790 บาท

8. California Gold Nutrition, LactoBif 30 Probiotics

โพรไบโอติก

ภาพจาก : californiagoldnutrition.com

         โพรไบโอติกจากสหรัฐอเมริกาตัวนี้มีแลคโตบาซิลลัส 5 สายพันธุ์และบิฟิโดแบคทีเรียม 3 สายพันธุ์ รวมโพรไบโอติก 30 พันล้านตัว บรรจุมาในแคปซูลผักที่ไม่มีส่วนผสมของผลิตภัณฑ์จากนมวัว กลูเตน สิ่งมีชีวิตที่ดัดแปลงพันธุกรรม (GMOs) ถั่วเหลือง จึงเป็นโพรไบโอติกที่คนกินมังสวิรัติและวีแกนสามารถรับประทานได้  

  • รูปแบบ : โพรไบโอติกชนิดเม็ด
  • ขนาด : 1 กล่อง บรรจุ 60 แคปซูล
  • วิธีรับประทาน : รับประทานวันละ 1 แคปซูล ก่อนหรือพร้อมอาหาร
  • ราคาประมาณ : 459 บาท
           ใครกำลังมองหาโพรโบโอติกกินเพื่อเสริมภูมิคุ้มกันหรือเพื่อช่วยปรับสมดุลลำไส้ ลองเลือกดูจากข้อมูลที่เรานำเสนอได้เลยนะคะ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อย่าลืมปรึกษาเภสัชกรหรือแพทย์ก่อนรับประทานอาหารเสริมโพรไบโอติก รวมไปถึงอาหารเสริมทุกชนิดด้วย