ลดน้ำหนักไม่สำเร็จ!? ลองทำตาม 3 ข้อนี้… ถ้าทำได้น้ำหนักลดแน่นอน!!

ออกกำลังกายก็แล้ว อดอาหารก็แล้ว ทำไมน้ำหนักยังไม่ลดลงเสียที หรือบางครั้งลดไปเพียง 1 – 2 กิโลกรัม แต่พอกินเข้าไปนิดเดียวน้ำหนักกลับพุ่งขึ้นมาเป็นเท่าตัว นั้นเป็นเพราะว่าสิ่งที่คุณทำมันเกินความจำเป็น เช่นว่า อดอาหารมากเกินไป ลองมาดูกันว่าวิธีที่ถูกต้องเพื่อการลดน้ำหนักที่ได้ผลยั่งยืนนั้นควรปฏิบัติตัวอย่างไร

3 ข้อผิดพลาดที่ทำให้ ลดน้ำหนักไม่สำเร็จ คุณหมอโภคิน ศักรินทร์กุล แพทย์ด้านเวชศาสตร์ครอบครัว ให้ความเห็นว่า การลดน้ำหนักไม่สำเร็จ เกิดจากสาเหตุ 3 ประการใหญ่ๆ คือ

ทำไมไม่ผอมเสียที!?

คุณหมอโภคิน ศักรินทร์กุล อธิบายปัญหา 3 ข้อ ที่ทำให้หลายคน ลดน้ำหนักไม่สำเร็จ ไว้ดังนี้

1. ควบคุมอาหารผิดวิธี บางคนต้องการควบคุมที่ “ปริมาณ” อาหารมากกว่า “พลังงาน” ที่ได้จากอาหาร เช่น การลดปริมาณข้าว แต่กลับไปรับประทานขนมปังโฮลวีตเพิ่ม ทั้งๆ ที่ขนมปังโฮลวีต 1 แผ่นให้พลังงาน 80 กิโลแคลอรี เท่าๆ กับข้าวสวย 5 ช้อนโต๊ะ เป็นต้น

ฉะนั้นการควบคุมอาหารที่เหมาะสมคือ การรับประทานอาหารให้น้อยลงวันละ 500-600 กิโลแคลอรี และในแต่ละวันไม่ควรได้รับพลังงานต่ำกว่า 1,200 กิโลคลอรี เพียงเท่านี้ก็จะลดน้ำหนักลงได้สัปดาห์ละ ประมาณ 0.45 กิโลกรัม

2. ออกกำลังกายไม่ได้ระดับความแรงที่เหมาะสม ทำให้ร่างกายเผาผลาญพลังงานได้น้อยกว่าการเดินเร็ว คุณหมอแนะนำให้ออกกำลังกายชนิดแรงปานกลาง เช่น การเดินเร็ว วิ่ง หรือขี่จักรยาน เป็นระยะเวลา 20-30 นาที อย่างน้อยสัปดาห์ละ 5 วัน รวมถึงเพิ่มกิจกรรมทางกายระหว่างชั่วโมงทำงาน เช่น การเดินขึ้นบันไดแทนการขึ้นลิฟต์ การเดิน 10-15 นาที หลังมื้ออาหาร แทนการนั่งเล่นอินเทอร์เน็ต

3. ควบคุมจิตใจ แต่ไม่ได้ปรับพฤติกรรม คือการข่มใจเมื่ออยากรับประทานเพียงอย่างเดียว แต่ไม่ได้ปรับพฤติกรรม หรือสิ่งแวดล้อมที่ทำให้เกิดภาวะอ้วน เช่น ขาดทักษะการคำนวณปริมาณแคลอรีในอาหาร ไม่ได้จดรายการอาหารที่รับประทาน รับประทานอาหารเร็วโดยไม่เคี้ยวให้ละเอียด

กำจัดจุดอ้วนด้วยชีวจิตสูตร 2

เมื่อรู้สาเหตุแล้ว เรามีเคล็ด(ไม่)ลับในการลดความอ้วนแบบฉบับชีวจิตนั้นเป็นวิธีการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง ที่ทำควบคู่กับการควบคุมน้ำหนักอย่างมีประสิทธิภาพ โดยการกินอาหารชีวจิตสูตร 2 ซึ่งมีสัดส่วนของอาหารดังนี้

-อาหารจำพวกแป้งไม่ขัดขาวและคาร์โบไฮเดรต มื้อละ 30 เปอร์เซ็นต์

-ผักสดหรือผักสุก มื้อละ 35 เปอร์เซ็นต์

-โปรตีนจากถั่วและผลผลิตจากพืช เช่น เต้าหู้ โปรตีนเกษตร มื้อละ 25 เปอร์เซ็นต์

-เบ็ดเตล็ด เช่น สาหร่ายทะเล เมล็ดธัญพืช หรือผลไม้ไม่หวาน มื้อละ 10 เปอร์เซ็นต์

ขอบคุณที่มา : goodlifeupdate.com