เป็นโรคไต ห้ามกินอะไร นอกจากเลี่ยงกินเค็ม?

“อย่ากินเค็มมาก เดี๋ยวเป็นโรคไต” เป็นประโยคที่เราอาจได้ยินจากผู้หลักผู้ใหญ่ หรือคนใกล้ตัวบ่อยๆ เมื่อเรานั่งทานอาหารโต๊ะเดียวกัน แน่นอนว่าการทานรสเค็มมากๆ เป็นสาเหตุสำคัญของโรคไตอย่างที่ทุกคนเข้าใจกันนั่นแหละ หลายคนสาดน้ำปลาไม่ยั้ง ส้มตำลาบน้ำตก ยำรสจัดๆ ของชอบสุดๆ ไปๆ มาๆ ตรวจสุขภาพประจำปี รู้ตัวอีกทีก็เป็นโรคไต หรืมีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคไตเสียแล้ว
นอกจากต้องลดเค็มโดยด่วนแล้ว ยังต้องควบคุมอาหารที่มีโพแทสเซียมสูงด้วย เพราะอะไร และอหารอะไรบ้างที่มีโพแทสเซียมสูงที่คุณควรเลี่ยง มาดูกัน

ทำไมเป็นโรคไต แล้วต้องเลี่ยงอาหารที่มีโพแทสเซียม?
โพแทสเซียม เป็นเกลือแร่ชนิดหนึ่ง ที่ช่วยควบคุมการทำงานของระบบประสาท และกล้ามเนื้อในร่างกาย โดยเฉพาะกล้ามเนื้อหัวใจ
ส่วนไตมีหน้าที่กรองเอาสารอาหารที่ประโยชน์กลับขึ้นไปดูแลร่างกายผ่านกระแสเลือด และแยกเอาสารอาหารที่เกินความจำเป็นออกไป
หากไตเสื่อม ไตก็จะกรองเอาโพแทสเซียมออกจากร่างกายได้น้อยลง ดังนั้นผู้ป่วยโรคไตจึงควรจำกัดการทานอาหารที่มีโพแทสเซียมไม่ให้สูงเกินไปนั่นเอง

โพแทสเซียมสูง จะส่งผลต่อร่างกายอย่างไรบ้าง?
หากร่างกายมีปริมาณโพแทสเซียมสูงเกินไป อาจมีอาการเหนื่อยหอบ อ่อนเพลีย ใจสั่น คลื่นไส้ เป็นตะคริว ชีพจรเต้นช้าลง ไปจนถึงหัวใจหยุดเต้น

ผู้ป่วยโรคไต ห้ามทานอาหารที่มีโพแทสเซียม?
จะให้ไม่ทานเลยก็ไม่ได้ เพราะอย่างไรก็ตาม โพแทสเซียมยังพอมีประโยชน์กับผู้ป่วยโรคไตอยู่บ้าง เพราะโพแทสเซียมช่วยลดอาการบวมน้ำในร่างกายของผู้ป่วย ช่วยปรับสมดุลของน้ำในร่างกายให้เป็นปกติ และป้องกันไม่ให้ร่างกายเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวอีกด้วย
 

อาหารโพแทสเซียม ที่ผู้ป่วยโรคไตควรหลีกเลี่ยง
ผักสด โดยเฉพาะผักสีเข้มๆ นมไขมันต่ำ หรือไม่มีไขมัน ถั่วต่างๆ และธัญพืช

ตัวอย่างอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง
- ผงโกโก้
- ลูกพรุนอบแห้ง
- ลูกเกด
- เมล็ดทานตะวัน
- อินทผาลัม
- ปลาแซลมอน
- ผักโขมสด
- เห็ด
- กล้วย
- ส้ม

เพราะฉะนั้นอาหารที่ผู้ป่วยโรคไตสามารถทานได้ คืออาหารที่มีโพแทสเซียมต่ำ คือผักผลไม้ที่มีสีซีดๆ เช่น ชมพู่ องุ่นเขียว แตงโม บวบเหลี่ยม เห็ดหูหนูขาว ฟักเขียว ผักกาดขาว กะหล่ำปลี แตงกวา แต่ก็สามารถทานสลับระหว่างอาหารที่มีโพแทสเซียมสูง-ต่ำ เพื่อรักษาสมดุลของโพแทสเซียมในร่างกายได้เช่นเดียวกัน นอกจากนี้วิธีลดปริมาณโพแทสเซียมในผัก คือการลวกในน้ำร้อนก่อนทาน จะช่วยลดปริมาณโพแทสเซียมได้ถึง 30-40% ค่ะ
แต่หากพบปริมาณโพแทสเซียมในเลือดสูงผิดปกติ ควรงดผลไม้ทุกชนิด แล้วทานแต่ผักที่มีโพแทสเซียมต่ำ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับพิจารณญาณของแพทย์


ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก haamor.com, pharmacy.mahidol.ac.th, cmed.cmu.ac.th
ภาพประกอบจาก istockphoto